ภาคการเงินไทย มุ่งหน้าสู่ “โลกการเงินสีเขียว” หนุน SME เร่ง Transition​ ไทยสู่ Net Zero เพื่อความยั่งยืน

ESG
18/10/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 112 คน
ภาคการเงินไทย มุ่งหน้าสู่ “โลกการเงินสีเขียว” หนุน SME เร่ง Transition​ ไทยสู่ Net Zero เพื่อความยั่งยืน
banner
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ “ภาวะโลกร้อน” จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ถูกพบเห็นบ่อยครั้งขึ้น และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะเห็นได้จากสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือของไทยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี สร้างความเสียหายต่อประชาชนและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

โดยวิกฤตโลกร้อน กำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อเราทุกคน ภาครัฐจึงได้พยายามลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยการออกมาตรการ กฎเกณฑ์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ ปัจจุบันกรมสรรพสามิตก็กำลังศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ดังนั้น วันนี้ภาคธุรกิจ SME จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและหาแหล่งเงินทุนให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงและโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธนาคารและสถาบันการเงิน จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว และการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Finance) มากขึ้น

 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับประเทศไทย ผ่าน โครงการ Financing the Transition โดยมีธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทย บทบาทธนาคารบนเส้นทางสู่ความยั่งยืน และแนวทางกลยุทธ์ในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ไว้อย่างน่าสนใจ ไปดูกันว่าธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศมีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจ SME อย่างไรกันบ้าง

 

ส่อง “การเงินสีเขียว” ทั่วโลก ไปถึงไหนแล้ว ทั่วโลกกำลังเร่งปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


 เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการปล่อยกับการดูดซับก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ หรือสภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) โดยบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศสต่างกำหนดเป้าหมาย Net zero ในปี 2050 ขณะที่ไทยได้ประกาศเจตนารมณ์เข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และ “Net Zero Emission” หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ก่อนปี 2065
 


โดย ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกา ถือเป็นผู้ริเริ่มนำร่อง เรื่อง ‘การเงินสีเขียว’ (Green Finance) ขณะที่ประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มมีการพัฒนาที่ดีขึ้นมาก ในเอกสารการศึกษา Global Green Finance Index (GGFI) ที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นการจัดทำครั้งที่ 10 โดยได้ประเมิน 126 เมืองที่เป็นศูนย์กลางด้านการเงินต่าง ๆ ทั่วโลก ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านการเงินสีเขียว โดยวิเคราะห์จากความพร้อมปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ด้านของแต่ละเมือง อันได้แก่ (1) ด้านความยั่งยืน (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (3) ด้านทรัพยากรมนุษย์ และ (4) ด้านการดำเนินธุรกิจ เพื่อทำการประเมินศักยภาพทางการแข่งขัน (Competitiveness) ของแต่ละเมืองเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการเงินสีเขียว โดยแต่ละด้านจะพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ประกอบด้วยกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินสีเขียว ความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพการใช้ชีวิตของประชาชน

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ประกอบด้วยด้านโทรคมนาคม (ICT) ด้านขนส่ง ด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนควบคู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิล

ด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ประกอบด้วยบุคลากรที่มีทักษะ ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น

ด้านการดำเนินธุรกิจ (Business) ประกอบด้วยความมั่นคงด้านการเมือง การบังคับใช้กฎหมาย การกำกับดูแล ด้านภาษี สภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ

จากผลการวิเคราะห์ประเมินปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ด้านดังกล่าวข้างต้นพบว่า London ได้อันดับ 1 ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความยั่งยืน ด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ Amsterdam ได้อันดับ 1 ในด้านการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ New York ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ติดอยู่ใน 3 ลำดับแรกในการประเมินทุกด้าน

จากการประเมินศักยภาพด้านการแข่งขันในภาพรวมในการศึกษา GGFI ครั้งที่ 10 พบว่า London ยังคงครองตำแหน่งอันดับหนึ่ง ในขณะที่ Amsterdam ได้อันดับสองในการศึกษาครั้งนี้ โดยทั้งสองเมืองมีลำดับไม่เปลี่ยนแปลงจากศึกษาครั้งที่ผ่านมา ตามด้วย New York ซึ่งขยับจากอันดับ 5 ในการศึกษาครั้งก่อน มาที่อันดับ 3 ในครั้งนี้

ใน 10 ลำดับแรก (Top 10) มีเมืองที่อยู่ในทวีปยุโรปติดอันดับมากถึง 6 เมือง ได้แก่ London, Amsterdam, Luxembourg, Geneva, Stockholm และ Copenhagen ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 3 เมือง ได้แก่ New York, San Francisco และ Los Angeles โดยออสเตรเลียติดอันดับ 1 เมือง คือ Sydney

นอกจากนั้นจากผลการศึกษา GGFI ครั้งที่ 10 พบว่ามาตรฐานการเงินสีเขียวทั่วโลกปรับดีขึ้น โดยใน 20 ลำดับแรก (Top 20) ประกอบด้วย 4 เมืองในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ Seoul (ลำดับที่ 12), Singapore (ลำดับที่ 16), Shanghai (ลำดับที่ 17) และ Shenzhen (ลำดับที่ 20) ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า 2 เมืองในจีนมีการปรับตัวดีขึ้นมาก จากการที่รัฐบาลจีนได้ยกระดับปัญหามลพิษทางอากาศมาเป็นวาระแห่งชาติ และลงมือแก้ไขตามแผนอย่างเข้มงวดจนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่การออก ESG bond ทั่วโลก Climate Bonds Initiative ระบุว่า มีมูลค่าสูงถึง 870,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 32,000,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง 300% โดยตราสารหนี้สีเขียว (Green bond) มีมูลค่าการออกสูงที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า ทั่วโลกกำลังเร่งระดมทุนเพื่อไปดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

 

แล้ว “การเงินสีเขียว” ในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นอย่างบ้าง

หันมามองทางฝั่ง ประเทศสมาชิกอาเซียนกันบ้าง จากรายงาน The ASEAN Climate and Energy Paradox ระบุว่า ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเมียนมา เป็น 4 ประเทศจาก 10 ประเทศทั่วโลก ที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุด เพื่อหยุดยั้งผลกระทบดังกล่าว ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ การเงินสีเขียวหรือ Green Finance คือหนึ่งกลไกสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรม เปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่การลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิต

ทั้งนี้ จากรายงาน ASEAN Sustainable Debt Market 2021 โดย Climate Bonds ระบุว่า 6 ประเทศสมาชิกสำคัญของอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย มีการปล่อยสินเชื่อสีเขียวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2559 - 2566 มีการสินเชื่อสีเขียวมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 58.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 
 


โดยสินเชื่อสีเขียวดังกล่าว มุ่งเน้นการลงทุนอาคารสีเขียวและพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 52.8% และ 26.6% ของมูลค่าสะสมของสินเชื่อสีเขียวทั้งหมด ทั้งนี้อีก 7.5% เป็นการขอรับสินเชื่อสีเขียวเพื่อพัฒนาการคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนอีก 13% ที่เหลือเป็นการขอรับสินเชื่อเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคอื่น ๆ เช่น น้ำ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่สอดคล้องกับความยั่งยืน (Sustainability)
ทั้งนี้ จากการพิจาราณาการใช้กลไกการเงินสีเขียว ของทั้ง 6 ประเทศสมาชิกอาเซียน พอสรุปได้ ดังนี้  

สิงคโปร์ ถือเป็นผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการปล่อยสินเชื่อสีเขียวสูงที่สุดในภูมิภาค มูลค่าประมาณ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 รัฐบาลสิงคโปร์มีส่วนช่วยสำคัญต่อการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวนี้

อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีจุดเด่นด้านการปล่อยสินเชื่อสีเขียวและสินเชื่อยั่งยืนในหลายขนาดวงเงิน ตั้งแต่ระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐจนถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการหลายขนาดได้เข้าถึงเงินทุนเพื่อการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม

เวียดนามและมาเลเซียมีจุดเด่นคล้ายกันคือ สินเชื่อสีเขียวมีมูลค่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน และรัฐบาลมาเลเซียยังเป็นรัฐบาลแรกในโลกที่ออกตราสารเพื่อความยั่งยืนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ นามว่า “ศุกูก” (Sukuk)

ขณะที่ ประเทศไทย ถือเป็นผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Debt) ซึ่งต่างจากสินเชื่อสีเขียว โดยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจะครอบคลุมประเด็นทางสังคมและแรงงาน ประเทศไทยได้ปล่อยสินเชื่อยั่งยืนประมาณ 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021

แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อสีเขียวในภูมิภาคอาเซียนแสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคอาเซียนได้ตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และพร้อมจะใช้เครื่องมือหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงกลไกทางการเงินในการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความยั่งยืนยิ่งขึ้น

 

โอกาสเติบโตของการเงินสีเขียวในภาคธนาคารของอาเซียน

สำหรับแนวโน้มภาคการเงินสีเขียวในอาเซียนนั้น มีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยองค์การสหประชาชาติได้ประเมินขนาดตลาดในอาเซียนระหว่างปี 2559-2573 ไว้ที่ 2.3-3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับตัวเลขจริง สิ้นปี 2566 พบว่า ส่วนต่างหรือช่องว่างของการระดมทุนสีเขียว (Green Financing Gap) นี้ มีมูลค่าถึงกว่า 2.25-2.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นทั้งโอกาสและความจำเป็นของสถาบันการเงินอย่างธนาคารที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการเป็นตัวกลางทางการเงินในการระดมทุนและจัดสรรเงินทุนเพื่อให้ SME ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว

ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition) นี้ แทบทุกอุตสาหกรรมมีการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่สำคัญของภาคธนาคารที่จะสามารถนำเสนอเครื่องมือทางการเงินสีเขียวที่มีนวัตกรรมใหม่ ที่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของนักลงทุน และมีความเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ให้แก่ภาคธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่และ SME ที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเช่นกัน

 

ESG bond ไทยโต 800% ในช่วง 5 ปี

กลับมามองการขับเคลื่อน “การเงินสีเขียว” ในบ้านเรากันบ้าง สำหรับประเทศไทย มีการออก ESG bond เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2566 มูลค่าการออก ESG bond ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 23,000 ล้านบาท เป็น 179,866 ล้านบาท หรือเติบโต 800% ในช่วงเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability bond) เป็น ESG bond ที่มีมูลค่าการออกสูงที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกำลังเร่งระดมทุนเพื่อไปดำเนินโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

 

“การเงินสีเขียว” ตัวแปรเปลี่ยนโลกธุรกิจยุคใหม่

สำหรับแผนงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังให้ความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน คือการช่วยให้สถาบันการเงินในไทยสนับสนุนภาคธุรกิจ SME ไทยสามารถปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่าน (Transition) อย่างเห็นผลได้จริง โดยคาดหวังต้องการเห็นธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่กำหนดแผน และเป้าหมายการช่วยภาคธุรกิจปรับตัว โดยมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนเป็นอันดับต้น ๆ 

คุณรณดล นุ่มนนท์  รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สะท้อนความท้าทายของธุรกิจไทยว่า แม้ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ใน Top 20 ของโลก แต่เราก็ติดอันดับ Top 10 ที่รับผลกระทบจาก Climate Change รุนแรงที่สุดด้วย โดยเผชิญอากาศร้อนยาวนานขึ้น และจะเผชิญภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันบ่อยครั้งขึ้น 

ขณะที่ธุรกิจไทยต้องเผชิญแรงกดดันจากนโยบายการค้าในต่างประเทศที่เข้มงวดกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่ และ SME ใน Supply Chain โดยในบางอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ Supply Chain สูงกว่าตัวบริษัทแม่กว่า 11 เท่า และอุตสาหกรรมไทยกว่า 30% ของ GDP ยังอยู่ในกลุ่มสีน้ำตาลและยังใช้เทคโนโลยีแบบเก่า พึ่งพาพลังงานจากถ่านหินและน้ำมันสูง ซึ่งหากปรับตัวไม่ทันอาจเสี่ยงที่จะเสียโอกาสทางธุรกิจสูง

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนกลุ่มสีน้ำตาลให้เริ่มปรับตัว โดยเปลี่ยนไป “Less Brown” มากขึ้นเรื่อย ๆ จน กลายเป็น “Green” ได้ในที่สุด เมื่อเทคโนโลยีมีความพร้อมในต้นทุนที่เหมาะสม

ทั้งนี้ จะเห็นได้จากตัวอย่าง หลายธุรกิจที่เริ่มปรับตัวแล้วและได้ผลลัพธ์ที่ดี เช่น ธุรกิจโรงแรมที่ต้นทุนค่าไฟสูงถึง 6-8% ของรายได้ โดยจากการสำรวจธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัว เช่น หันมาใช้หลอดไฟ LED ติด solar rooftop หรือเปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่ประหยัดไฟ สามารถลดต้นทุนค่าไฟเกือบ 30% และยังช่วยเพิ่มจุดขายให้แก่โรงแรมอีกด้วย

 

ดังนั้น ภาคการเงินจึงมีบทบาทในการสนับสนุนเงินทุน เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันการณ์ โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารขนาดใหญ่ให้สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเกือบ 2 แสนล้านบาท หรือ 1.4% ของยอดคงค้างสินเชื่อรวม ส่วนภาคธุรกิจไทยมีการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG Bond) ประมาณ 882 พันล้านบาท หรือ 5% ของยอดคงค้างตราสารหนี้ไทย ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับความจำเป็น และยังเน้นสนับสนุนกลุ่มสีเขียว

ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ที่สนใจ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Financing Product for Transition to Environmental Sustainability) สำหรับกลุ่มลูกค้าที่จะสามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านจาก “red หรือ brown” ให้เป็น “less brown หรือ greener” ควบคู่กับการให้ความรู้ที่จำเป็น เช่น การประเมิน Carbon Footprint โดยคาดว่าธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ จะประกาศรายละเอียดได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

โดยในปี 2567 คาดหวังให้สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตรงความต้องการ และเพียงพอสำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับตัว และการที่สถาบันการเงินเริ่มมีแผนการปรับตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และนำไปปฏิบัติได้จริง

โดย ธปท. อยู่ระหว่างร่วมกันกับธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อให้ธนาคารแต่ละแห่งพัฒนา Transition Plan สำหรับภาคธุรกิจที่เป็น Priority Sector ของตนเองอย่างน้อย 1 Sector ภายในสิ้นปี 2567 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเคลื่อนไหว และความพยายาม เพื่อให้สอดรับกับ ความยั่งยืน(Sustainability) ของโลก โดยมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนอนาคต และหลีกหนีระเบียบการค้าของโลกยุคใหม่ อย่างการเตรียมเก็บภาษีคาร์บอนของประเทศต่าง ๆ ที่เริ่มมีความเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนี้

ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ทุกองค์กร ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต หันมาให้ความสำคัญกับภาวะ “โลกร้อน” มากขึ้นของธุรกิจไทยนั้น ใจความสำคัญที่ถือเป็นตัวแปรของเกมมากที่สุด ยังต้องมาจากการปรับตัวของ “แหล่งเงินทุน” อย่างภาคการเงิน และธนาคารไทยร่วมด้วย ปลุกปั้น “โลกการเงินสีเขียว” จุดเริ่มต้นสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจในวงกว้างเกิดการปรับตัว

ซึ่งนับเป็นเรื่องดี เพราะปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ และธนาคารพาณิชย์อื่นที่สนใจ ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ สนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ หลังพบว่าธุรกิจไทยยังพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในสัดส่วนสูง และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน ในการเปลี่ยนผ่าน (Transition) จำเป็นต้องอาศัย “เงินทุน” โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) ที่มีเงินทุนจำกัด ธปท. ก็มีนโยบายและสนับสนุนให้แต่ละธนาคาร ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยลดภาระ/ค่าใช้จ่ายของธุรกิจ, การผลักดัน Green Finance ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อสีเขียว (Green Loan/Green Credit) ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) หรือกองทุนสีเขียว (Green Funding) ขึ้น เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญ ระหว่างอุตสาหกรรมการเงินการลงทุน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกระดับในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

เช่นเดียวกับการหารือขอความร่วมมือแต่ละธนาคารจัดทำ Climate Transition Plan เพื่อให้มองเห็นเป้าหมาย การลดก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินธุรกิจของตนเอง ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ระดับประเทศ และทิศทางระดับสากลด้วย
 
 

กลยุทธ์ และเป้าหมายของธนาคารไทย ในการมุ่งสู่ “โลกการเงินสีเขียว”

สำหรับความเคลื่อนไหว กลยุทธ์ และเป้าหมายของธนาคารไทย ในการมุ่งสู่ “โลกการเงินสีเขียว” ที่ประกาศออกมาล่าสุด ในช่วงปี 2567 
 


ธนาคารกรุงเทพ ประกาศอุ้ม SME ไทย ยุค Transition

ยกตัวอย่าง ธนาคารกรุงเทพ เดินหน้าช่วยเหลือภาคธุรกิจไทยในการปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” (Bualuang Green Financing for Transition to Environmental Sustainability) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ต้องการเงินทุนสำหรับการปรับตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ใน 3 ด้าน ได้แก่ 


 
1. การลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การลงทุนปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน การลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ปั๊มความร้อน (Heat Pump) เป็นต้น

2. การลงทุนเพื่อปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (Precision Farming Technology) ที่ช่วยลดการใช้น้ำ ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง การทำโรงเรือนระบบ EVAP (Evaporative Cooling System) ที่ช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือน รวมถึงช่วยป้องกันโรคติดต่อจากภายนอก ลดการสูญเสียของผลผลิต และการลงทุนในเทคโนโลยีและกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น

3. การลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการสร้างมลพิษ เช่น การลงทุนระบบบำบัดน้ำเสีย และการลงทุนระบบบำบัดมลพิษทางอากาศรวมถึงการลด PM 2.5 เป็นต้น

สำหรับทุกโครงการที่ได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมต้องสามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยธนาคารจะติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ตามที่ตั้งใจไว้ นอกจากนี้ การลงทุนที่ธนาคารสนับสนุนนี้จะส่งผลดีต่อธุรกิจในด้านการลดต้นทุน ลดความเสี่ยง เพิ่มผลกำไร สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และก้าวทันกับเทรนด์โลก

ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้สนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงานและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดหรือใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งช่วยให้ลูกค้าในหลายอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้น้ำปริมาณมาก ธนาคารช่วยสนับสนุนโครงการลงทุนให้ลูกค้านำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 70% หรือในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน มีโครงการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วย Co-generation โดยใช้ก๊าซร้อนจากเครื่องจักรไปผลิตไอน้ำในกระบวนการผลิต แทนที่จะระบายความร้อนทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ในกลุ่มธุรกิจ SME และธุรกิจบริการ มีหลายรายที่ลงทุนปรับเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมใหม่หรือใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นในระบบงานที่ใช้พลังงานมาก เช่น ระบบความร้อน/ความเย็น ระบบอัดอากาศ การให้บริษัทจัดการพลังงานเข้ามาช่วยวางแผน รวมถึงปรับปรุงสำนักงานให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน แม้แต่ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร มีลูกค้าลงทุนติดตั้งระบบน้ำหยดในไร่อ้อย ปรับปรุงการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเปลี่ยนเครื่องยนต์สูบน้ำเป็นมอเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

 

โดยเชื่อมั่นว่า ผลลัพธ์ที่ได้ จะดีต่อธุรกิจไม่น้อย ทั้งช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนผ่าน (Transition) ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการนี้ถึง 2,000 ล้านบาท จนถึงสิ้นปี 2567 



 
ทั้งนี้ อาจกล่าวสรุปได้ว่า ภาคการธนาคารของไทย มุ่งสนับสนุนภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจไทย ให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนของโลกที่มองข้ามไม่ได้อีกต่อไป.

อ้างอิง

ธนาคารแห่งประเทศไทย


กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน


สมาคมธนาคารไทย

UNDP Thailand


ความสำเร็จแห่งยุค AI เปิดใจ 2 ธุรกิจผู้พลิกโฉมวงการด้วยโซลูชันอัจฉริยะ

ทางรอดจาก Digital Transformation ‘Upskill & Reskill’ การปรับตัวของคนทำงาน ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงลักษณะงานยุคเทคครองเมือง

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

แก้ปัญหา ‘โลกร้อน’ จากก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน เปิดเหตุผลที่ SME ต้องปรับตัวรับมาตรการลดคาร์บอน

นวัตกรรมใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย โอกาสทอง SME ยุค Silver Economy

รู้จัก ‘ESG & SDGs’ 2 แนวคิดสร้างโอกาสและความท้าทายธุรกิจสู่ความยั่งยืน

ติดปีกธุรกิจ ด้วย Business Transformation

รู้จัก ‘ESG & SDGs’ 2 แนวคิดสร้างโอกาสและความท้าทายธุรกิจสู่ความยั่งยืน


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Supply Chain ปรับตัวอย่างไร? กับนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) สู่ Net Zero (Part 2)

Supply Chain ปรับตัวอย่างไร? กับนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) สู่ Net Zero (Part 2)

บทความก่อนหน้านี้ เราได้กล่าวถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำทั่วโลกและในประเทศ มีการกำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว หรือ Green Procurement…
pin
53 | 27/12/2024
ส่อง! บริษัทใหญ่ ใช้ 4 แนวทาง สร้าง Green Supply Chain ชวนคู่ค้า สร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน (Part 1)

ส่อง! บริษัทใหญ่ ใช้ 4 แนวทาง สร้าง Green Supply Chain ชวนคู่ค้า สร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน (Part 1)

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ธุรกิจจะยั่งยืนไม่ได้ หากขาดการจัดหาวัตถุดิบ สินค้า บริการ และกระบวนการผลิตที่ดี ดังนั้นการผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับแนวโน้ม…
pin
59 | 21/12/2024
โลกร้อนรุนแรงขึ้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จะเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

โลกร้อนรุนแรงขึ้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จะเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากภาษีคาร์บอนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้น ๆ นั่นคือ อุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง…
pin
66 | 11/12/2024
ภาคการเงินไทย มุ่งหน้าสู่ “โลกการเงินสีเขียว” หนุน SME เร่ง Transition​ ไทยสู่ Net Zero เพื่อความยั่งยืน