PASAYA สิ่งทอสีเขียวแบรนด์ไทย ใส่นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดี แนวคิดเปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน

SME in Focus
16/09/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 101 คน
PASAYA สิ่งทอสีเขียวแบรนด์ไทย ใส่นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดี แนวคิดเปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน
banner
ในโลกยุคก่อน ถ้าบอกว่าสินค้าดีมีคุณภาพ มีดีไซน์พรีเมียม ถือเป็นองค์ประกอบที่เพียงพอแล้ว ในศตวรรษที่ 21 ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือความยั่งยืน รวมทั้งคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่คนทำธุรกิจต้องหันมาใส่ใจในกระบวนการผลิตสินค้าด้วย
 
วันนี้ Bangkok Bank SME จะชวนไปพูดคุยถึงกระบวนการผลิตสินค้าอย่างไร ให้ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยลง ใส่ใจโลกและความยั่งยืนมากขึ้น กับเจ้าของแบรนด์ที่หลายคนรู้จักกันดี นั่นคือ “PASAYA” โดยคุณชเล วุทธานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด ที่จะมาบอกเล่าเบื้องหลังธุรกิจผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย Net Zero ในปี 2593 ไปติดตามกัน 
 

จุดกำเนิด PASAYA สิ่งทอสีเขียวแบรนด์ไทย

คุณชเล เล่าถึงที่มาของธุรกิจว่า เริ่มต้นจากโรงงานทอผ้าเล็ก ๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ มีพนักงาน 50 คน โดยหลังเรียนจบสายวิศวกรด้านสิ่งทอ (Textiles Engineer) จากอเมริกา ได้เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว

 ผมมองว่าเมืองไทยเรา ถ้าจะทำสิ่งทอ สามารถทำได้แต่ต้องส่งออก (Export) ควบคู่ไปด้วย ไม่อย่างนั้นตลาดจะเล็กเกินไป ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2529 เราจึงเน้นส่งออกเป็นหลัก ช่วง 2 ปีแรก คือการปูทางทุกอย่างให้เรียบร้อย และเริ่มส่งออกไปออสเตรเลียเป็นประเทศแรก จากนั้นส่งไปบรูไน อังกฤษ อเมริกา ประเทศกลุ่มยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเราส่งออกสินค้าจำนวนมากในช่วงนั้น ทั้งแบบ ODM (รับจ้างออกแบบและ ผลิตสินค้าให้กับบริษัทเพื่อนำไปขายในแบรนด์ตัวเอง) และ OEM (รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง) ด้วย 
 

PASAYA ไม่ได้มีดีแค่ “นุ่ม ลื่น เย็น”

คุณชเล กล่าวว่า เราสร้างโรงงานใหม่ที่ราชบุรี เมื่อปี 2538 จนกระทั่งปี 2543 ผมรู้สึกว่าอนาคตน่าจะไม่ยั่งยืนแล้ว เพราะจีนกำลังจะเปิดประเทศเปิดการค้าเสรี ทำให้เขาโตวันโตคืน จึงเริ่มคิดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอคงจะไปไม่รอด ถ้าไม่สร้างแบรนด์ของตัวเอง บวกกับธุรกิจของเราผลิตสิ่งทอที่ได้รางวัลมากมาย แต่คนไทยกลับไม่มีโอกาสได้เห็นหรือได้ใช้สินค้าของเราเลย

สุดท้ายจึงตัดสินใจสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นเมื่อปี 2545 ภายใต้ชื่อ “PASAYA” ผลิตสินค้า และนำสินค้าที่เคยขายดีในยุโรป แต่ก็ขายได้ไม่มากนักในเมืองไทย เพราะสินค้าอาจยังไม่ตรงกับความต้องการของคนไทย

สุดท้าย ผมมองว่า วิธีที่จะทำให้คนไทยรู้จักแบรนด์ PASAYA มากขึ้น คือต้องขายผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย จึงเล็งเห็นว่า ผ้าปูที่นอน น่าจะเหมาะที่สุด จึงทำสินค้ากลุ่มนี้เต็มรูปแบบ สินค้าตัวแรก เป็นผ้าปูที่นอน “นุ่ม ลื่น เย็น” การตอบรับดีมาก ทำให้แบรนด์ PASAYA เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่การทำผลิตภัณฑ์นี้ ความท้าทายคือเราต้องคิดนอกกรอบใหม่หมดเลย 

 

 “สมัยนั้นผ้าปูที่นอน ถ้าจะทำเกรดพรีเมียมต้องทำจากคอตตอนอย่างเดียวเท่านั้น และต้องเป็นคอตตอนเนื้อละเอียดด้วย นอกจากนี้ เมืองไทยอากาศร้อน ถ้าใช้คอตตอน แม้จะมีคุณสมบัติช่วยให้เย็น แต่คงไม่เย็นไปกว่าที่เราคุ้นเคยกัน เราจึงต้องหาสิ่งที่เย็นกว่าคอตตอนมาทอ เพื่อให้ลูกค้านอนหลับสบายยิ่งขึ้น” 

เราเริ่มค้นคว้า ทดลอง และทำการทดสอบ สุดท้าย เราสามารถทำผ้าให้เย็นได้ ทั้งยังดูแลรักษาง่ายด้วย ไม่ต้องซักบ่อย ไม่เก็บกลิ่น เป็นวิธีการผลิตที่ใช้องค์ความรู้ด้าน Tech-Science  คือใส่สารเคมีเฉพาะ ที่ป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ดี ป้องกันการเกิดเชื้อรา เมื่อไม่มีเชื้อรา ก็จะไม่มีกลิ่น โดยผลิตภัณฑ์ PASAYA สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้ 96% และแบคทีเรียและเชื้อราได้ถึง 99% 

PASAYA แบรนด์สิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คุณชเล กล่าวว่า PASAYA มีสินค้ากลุ่ม Bedding ชุดผ้าปูที่นอนดีต่อสุขภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยคุณสมบัติปราศจากสารพิษก่อมะเร็งฟอร์มาลดีไฮด์ตามมาตรฐานยุโรป ในขั้นที่ใช้ได้กับเด็กทารกแรกเกิด 

 

ขณะที่สินค้ากลุ่ม Lifestyle ที่โดดเด่นคือเสื้อสูทเนื้อผ้า Upcycling ซึ่งนำขวดพลาสติก PET มาถักทอเป็นเส้นใยเนื้อผ้า โดยสูท 1 ตัวมาจากขวดพลาสติก 18 ใบ ผ่านกระบวนการ Recycle ถักทอเป็นเส้นใยผ้า ซึ่งเป็นอีกนวัตกรรมที่ช่วยลดปริมาณขวดพลาสติกใช้แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเสื้อสูทรุ่น Zero Sweat Suit ยังได้รับรางวัล DEmark 2020 ทำจากเนื้อผ้าที่ตอบโจทย์เรื่องความเย็นสบาย ใส่แล้วไม่ร้อน ดูแลง่าย ซักได้ด้วยเครื่องซักผ้า และไม่จำเป็นต้องรีดอีกด้วย  


นอกจากนี้ PASAYA ยังคิดค้นนวัตกรรมผ้าม่านประหยัดพลังงาน Energy-Saving ที่สามารถสะท้อนความร้อน ช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านได้ 2-4 องศาเซลเซียส ด้วยเทคโนโลยีการทอด้วยเส้นใยเมทัลลิก สะท้อนความร้อน ป้องรังสี UVA / UVB ได้ระดับ UPF50+ โดยได้รับการจดอนุสิทธิบัตรและได้รับรางวัล Best Innovation Prime Minister’s Export Award ในปี 2564 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ผ้าม่านเส้นใยรีไซเคิล (Upcycling) เป็นการนำเส้นใยจากขวดน้ำพลาสติกมาทอผ้า เป็นต้น


เคล็ดลับสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ

สำหรับเคล็ดลับที่ทำให้ PASAYA เป็นสิ่งทอที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น คุณชเล กล่าวว่า จากโรงงานที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลักถึง 90% จากนั้นเปลี่ยนมาทำแบรนด์ของตัวเอง ถึงวันนี้เกือบ 30 ปีแล้ว การจะทำให้แบรนด์เติบโตได้ ต้องตามเทรนด์ให้ทัน ซึ่งเทรนด์การค้ายุคใหม่ที่กำลังมาแรง คือเรื่อง Sustainability หรือความยั่งยืน 

เมื่อก่อนเราคิดว่าทำสินค้าให้ดูสวยและคุณภาพดีก็เพียงพอแล้ว แต่ทุกวันนี้การตลาด (Marketing) อย่างเดียวไม่พอ ต้องทำเรื่องความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย ซึ่งโรงงานเราให้ความสำคัญตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะต้องการส่งออกเป็นหลัก จึงสร้างโรงงานแห่งใหม่บนพื้นที่ 400 ไร่  ที่จังหวัดราชบุรี โดยตั้งใจผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานระดับโลกเป็นโรงงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พนักงานของเรา

“เคยมีลูกค้าต่างชาติถามว่า คุณใช้แรงงานเด็กหรือเปล่า เราก็เปิดโรงงานให้เขาดูเลย รวมถึงการออกแบบโรงงาน ที่ไม่สร้างมลภาวะ ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ทำให้วันนี้ เราสามารถต่อยอดเรื่อง Sustainability ได้ทันที” 
 

เรามีคำขวัญว่า “คุณภาพสินค้าที่ดี ต้องมาจากคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน” ดังนั้น การสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี ต้องทำให้ชุมชนยอมรับ และยินดีให้ความร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการร้องเรียนได้ เช่น เรื่องการปล่อยน้ำเสีย โดยรอบโรงงานเรา มีแต่ไร่นา และสวน จึงต้องรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีด้วย 

“อุตสาหกรรมสีเขียว” คือสิ่งจำเป็นที่ธุรกิจต้องทำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน การยกระดับโรงงานสู่ Net Zero Carbon ต้องยอมรับว่า มาตรฐานด้านความยั่งยืน นับวัน ยิ่งเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อก่อนเราอาจไม่เคยได้ยินคำว่า Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) หรือคำว่า Net Zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) และมองว่า ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่วันนี้ PASAYA มีเป้าหมายยกระดับมาตรฐานให้สูงไปถึงตรงนั้น เพราะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ใช้พลังงาน ทรัพยากรน้ำ และสารเคมีเยอะมาก 
 


คุณชเล กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เป็นปัญหากับโลก คือเรื่อง Climate Change ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ซึ่งวิธีแก้ปัญหาคือ การแก้โจทย์ว่า ภาคธุรกิจจะลดการปลดปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้มากที่สุดได้ไอย่างไร เพราะการผลิตสินค้าต้องใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าเรา แต่ผู้ประกอบการต้องหาวิธีการผลิต ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง 
 


หลายคนมองว่า การดำเนินการเรื่อง Sustainability หรือความยั่งยืน ต้องลงทุนสูงมาก แต่ในมุมมองของคุณชเล มองว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะจากการศึกษาอย่างจริงจัง พบว่าเราสามารถทำให้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ลดลงได้ เช่น เปลี่ยนจากการใช้สารฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เป็นแบบปลอดสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde Free) ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อคนและสิ่งแวดล้อมที่ขจัดไม่ได้ ไม่ใช้สีและสารเคมีที่มีโลหะหนักเป็นส่วนผสม เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ใช้และพนักงาน ผ้าทุกผืนของ PASAYA ได้รับการรับรองระดับสากลว่าปราศจากสารฟอร์มาลดีไฮด์ระดับที่ใช้ได้กับเด็กทารกแรกเกิด
 

หรืออย่างเรื่อง Water Footprint เราไม่ได้ปล่อยน้ำเสียอยู่แล้ว แต่ปัญหา คือเรื่องการใช้พลังงาน กระบวนการผลิตสิ่งทอจะใช้พลังงานเยอะมาก เพราะต้องต้มน้ำให้เดือดเพื่อย้อมผ้า เสร็จแล้วนำไปอบให้แห้ง โดยใช้เครื่องเป่าลมร้อน ทั้งหมดนี้ คือการใช้พลังงานไฟฟ้ากับพลังงานฟอสซิลอย่างมหาศาล

 

ใช้แนวคิด ESG ลดพลังงานฟอสซิล สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ

ทุกวันนี้ พลังงานฟอสซิลถูกนำมาใช้ในเรื่องความร้อน ส่วนพลังงานไฟฟ้าจะใช้ในการเดินเครื่องจักร แต่เดิมเราซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐอย่างเดียว ทำให้ต้นทุนสูงมาก แต่ละเดือนเราใช้ไฟฟ้าประมาณ 1 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยซื้อไฟฟ้าใช้ 4 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่พอมีพลังงานโซลาร์เซลล์เข้ามาช่วย ทำให้มีต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ถึง 2 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ส่งผลให้เราประหยัดค่าไฟฟ้าได้กว่า 1 ล้านบาท ที่สำคัญ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้าลงได้ 25% ต่อปี 

คุณชเล ได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้แก๊ส LPG 1 กิโลกรัม จะสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ 14 กิโลวัตต์ชั่วโมง เฉลี่ย 2 บาท ดังนั้น การใช้แก๊ส LPG ในการทำความร้อนกับใช้พลังงานไฟฟ้าไม่ต่างกันมากนัก ในอนาคตอาจเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจะใช้พลังงานไฟฟ้าต้มน้ำแทนแก๊ส LPG ช่วยให้ PASAYA เป็นสิ่งทอสีเขียวได้ 100%  เพราะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย จึงทำให้เราสามารถตั้งเป้าเป็นโรงงาน Net Zero Emissions Factory ได้ ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) 
 

ก้าวต่อไปของ PASAYA 

คุณชเล เผยวิสัยทัศน์ว่า ก้าวต่อไปของ PASAYA จะนำแนวคิด ESG มาใช้ดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยจะปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามีโครงการ Mission for the World ใช้ที่ดินโรงงานราว 100 ไร่ เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก ตัวการทำให้โลกสะสมความร้อน ซึ่ง 10,000 ตัน เท่ากับปลูกป่าบนที่ดินเพียง 3,300 ไร่ 

คุณชเล กล่าวด้วยว่า คำว่า ESG คงไม่ได้มีความหมายเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีมิติด้านสังคม และหลักธรรมาภิบาลด้วย เช่นโรงเย็บผ้า เราสร้างสวนป่าสีเขียวภายในอาคาร เพื่อเพิ่มพื้นที่ผ่อนคลายให้พนักงานที่ต้องใช้สายตาในการทำงานมาก รวมถึงลดการทำงานกะดึกที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพให้น้อยที่สุด ขณะที่ด้านสังคม เช่น การลดการทิ้งขยะ หรือลดปริมาณขยะในการผลิต ไม่ปล่อยน้ำเสีย ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 
 

ความยั่งยืน คือ กติกาสำคัญของโลกการค้ายุคปัจจุบันและอนาคต

คุณชเล สะท้อนภาพว่า วันนี้ ความยั่งยืน หรือ Sustainability คือ กติกาสำคัญของโลกการค้า ทั้งปัจจุบันและอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการหลายราย เวลามองบริษัทที่เป็น Green หรือมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อย อาจยังไม่เห็นคุณค่า แต่หากไม่เริ่มทำ จะถูกแบน และในที่สุดธุรกิจจะไปต่อไม่ได้ 

ขณะที่ผู้บริโภครุ่นใหม่ ใส่ใจเรื่องโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเลือกสินค้าที่ไม่ได้มองเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว แต่จะพิจารณาถึงสินค้าที่ช่วยลดโลกร้อนด้วย โดยดูว่าสินค้าชิ้นนี้ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่าไหร่ ยิ่งสินค้าที่ราคาเท่ากัน ใครปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยกว่า จะเป็นข้อได้เปรียบในอนาคตอย่างแน่นอน 

คุณชเล ให้แง่คิดว่า อยากเชิญชวนให้ภาคธุรกิจ ใช้แนวคิด ESG มากขึ้น มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่อยากปรับตัว แต่ยังลังเล เพราะความกังวลเรื่องต้นทุน แต่การใช้พลังงานสะอาด ไม่ได้แพงอย่างที่คิด รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารไทย พร้อมจะสนับสนุนการลงทุน สินเชื่อความยั่งยืน เกี่ยวกับเรื่องพลังงานสะอาด ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าให้แก่ผู้ประกอบการด้วย 

อนาคต เชื่อว่าภาครัฐและธนาคาร จะเข้ามากระตุ้นและส่งเสริมด้านนี้มากขึ้น ใครทำได้ควรรีบทำก่อน เพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น


สามารถดูรายละเอียดของ PASAYA ได้ที่ 
Facebook : PASAYA.shop

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

“บริษัท เท็บโต จำกัด” ผู้นำตลาดซอฟต์แวร์ Oracle NetSuite อันดับหนึ่งในประเทศไทย  กับแนวคิดการลงทุนนวัตกรรมเพื่อพิชิตตลาดโลก

“บริษัท เท็บโต จำกัด” ผู้นำตลาดซอฟต์แวร์ Oracle NetSuite อันดับหนึ่งในประเทศไทย กับแนวคิดการลงทุนนวัตกรรมเพื่อพิชิตตลาดโลก

ในโลกของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ หนึ่งในเทรนด์ที่มาแรง คือ โซลูชัน ERP บนคลาวด์ ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ…
pin
3 | 16/05/2025
“เทวาศรม เขาหลัก” มอบสุนทรียะแห่งการพักผ่อน  ด้วยกลยุทธ์ Experience-Driven Hospitality ที่สร้างเอกลักษณ์เหนือระดับ

“เทวาศรม เขาหลัก” มอบสุนทรียะแห่งการพักผ่อน ด้วยกลยุทธ์ Experience-Driven Hospitality ที่สร้างเอกลักษณ์เหนือระดับ

เป็นที่รู้กันว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมในประเทศไทยมีการแข่งขันสูงเพียงใด ทว่า “เทวาศรม เขาหลัก” ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในรีสอร์ตหรูที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล…
pin
9 | 09/05/2025
“บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)”  เปลี่ยนอนาคตอุตสาหกรรมอาหารด้วยกลยุทธ์ ESG

“บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)” เปลี่ยนอนาคตอุตสาหกรรมอาหารด้วยกลยุทธ์ ESG

ในโลกของอุตสาหกรรมอาหาร การจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ต้องอาศัยวัตถุดิบคุณภาพสูงเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งบริษัทที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็วและพร้อมที่จะปรับตัวสู่แนวทางที่ยั่งยืน…
pin
14 | 29/04/2025
PASAYA สิ่งทอสีเขียวแบรนด์ไทย ใส่นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดี แนวคิดเปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน