PM 2.5 ภัยร้ายตัวปัญหาที่ไม่ใช่แค่เรื่องมลพิษ

SME in Focus
23/12/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 1365 คน
PM 2.5 ภัยร้ายตัวปัญหาที่ไม่ใช่แค่เรื่องมลพิษ
banner

โหมกระหน่ำส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่คนไทย ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำกระหน่ำซ้ำโรคโควิด 19 กลับมาระลอกใหม่ไม่ใช่ระลอก 2 แถมสำลักฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เกินมาตรฐานทนทุกข์ทรมานมานานหลายปี ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนยังโยงไปถึง “เศรษฐกิจ” และ “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” มหาศาล

จากข้อมูล Open-Source ขององค์การไม่แสวงหากำไร OpenAQ ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 นี้ เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกปีละกว่า 7 ล้านคน และประชากรทั่วโลกอย่างน้อย 380 ล้านคน ต้องทนทุกข์อาศัยอยู่ร่วมกับคุณภาพอากาศที่เลวร้ายเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก (World Organization: WHO) กำหนดไม่เกิน PM 2.5

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 แพร่กระจายรุนแรง มีสาเหตุหลักๆ คือ เขม่ายานพาหนะ, ควันและขี้เถ้าจากไฟป่าที่โหมรุนแรงเป็นวงกว้าง, มลพิษชีวมวลจากเตาไฟทำอาหาร หรือมาจากการทำกับข้าวในครัวนั่นเอง แต่หากมองภาพกว้างกว่านั้น ยังมีละอองเกลือซัลเฟตจากการผลิตไฟฟ้าอยู่รอบๆ ตัวทั้งในบ้าน นอกบ้าน ล้วนเป็นบ่อเกิด PM 2.5 ทั้งสิ้น ซึ่งไม่มีที่ไหนปลอดภัย 100 % โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และนั่นรวมถึงชาวไทยอีกด้วย

อันตรายของฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 กำลังสร้างความกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลของ OpenAQ พบว่า ความไวต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular) และอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ (Respiratory) เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงระยะยาวจาก "อากาศที่เลวร้าย" ที่กำลังคุกคามโลก โดยฝุ่นพิษดังกล่าวไม่มีที่ไหนหนักหนาไปกว่าประเทศอินเดีย ซึ่งผลกระทบจากมลพิษฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 คือ การทำลายการทำหน้าที่ของ "สมอง" มนุษย์

 

มลพิษเรื้อรังทำ "ฟังก์ชันสมอง" รวน

มลพิษที่เลวร้ายเรื้อรังนับเป็นหนึ่งในความเสี่ยงระยะยาวทำลายการทำหน้าที่ของ "สมอง" โดยกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคงหนีไม่พ้น ผู้สูงอายุและเด็ก หากสูดมลพิษเข้าร่างกายเป็นจำนวนมาก ในระยะยาวจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรัง อีกทั้งยังทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ลดลงในกลุ่มผู้สูงอายุ มีอัตราการเกิดเร็วขึ้น อาทิ สมองเสื่อม (Dementia), อัลไซเมอร์ (Alzheimer), พาร์กินสัน (Parkinson) และหลอดเลือดสมอง (Stroke) ส่วนกลุ่มเด็กมีความเสี่ยงว่าจะได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงมากที่สุด เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตอย่างถาวร

จีนเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้าย ได้มีการศึกษาพบว่ามลพิษทางอากาศมีผลต่อการเกิดและมีความเชื่อมโยงกับทักษะทางปัญญา (Cognitive Skill) ที่ลดลง ขณะที่ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนียของประเทศสหรัฐอเมริกา เด็กๆ ที่สูดมลพิษเข้าสู่ร่างกายปริมาณมาก เห็นได้ชัดว่ามีปัญหาในด้านการคำนวณทางคณิตศาสตร์และการอ่าน โดยหนึ่งในการศึกษามีการประมาณการว่า ความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อาจส่งผลให้คะแนนไอคิว (IQ) ลดลง 2 คะแนน

ไม่เพียงเท่านั้น ในรายงานของธนาคารโลก (World Bank) มีการทดสอบคะแนนของนักเรียนในแต่ละประเทศ พบว่าปัญหามลพิษทางอากาศที่มี PM 2.5 มาเอี่ยวด้วยนี้ มีผลเสียต่อสมองของเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะ "จีน" และ "อินเดีย" ที่ต่างเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และหลายเมืองถูกปกคลุมด้วย "หมอกพิษ" ซึ่งระดับ PM 2.5 ในปักกิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 10 เท่าของนิวยอร์ก และเกินกว่าปกติถึง 2 เท่าของจำนวนรวม

 

ต้นทุนค่าเสียโอกาสจีนที่ต้องจ่ายมูลค่ามหาศาล

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับมลพิษรุนแรงก็มีราคาที่ต้องจ่ายในเรื่อง PM 2.5 ไม่ต่างจากจีนและอินเดีย ซึ่งในกรณีจีนนั้นมีการศึกษาผลกระทบ PM 2.5 ต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและจังหวัด โดยพบว่า PM 2.5 ที่เกิดจากการคมนาคมทางถนน นำไปสู่การสูญเสียชีวิตกว่า 160,000 คนต่อปี อัตราการเกิดโรคต่อประชากรเพิ่มขึ้น 0.37% และค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพรวมกว่า 1,400 ล้านหยวน หรือประมาณ 6,500 ล้านบาท

หากรัฐบาลจีนไม่ได้มีมาตรการควบคุมที่ดีขึ้น คาดการณ์ว่าในปี 2573 มลพิษทางอากาศจากการคมนาคมทางถนนจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 170,000 คน อัตราการเกิดโรคต่อประชากรเพิ่มขึ้น 0.40% และค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพรวมแล้วจะสูงถึง 4,100 ล้านหยวน หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้นจากการคำนวณทางสถิติของการเสียชีวิต พบว่ามูลค่าการสูญเสียอยู่ที่ 730,000 ล้านหยวน หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท และยังสูญเสียเวลาการทำงานต่อประชากรอีก 2 ชั่วโมง 23 นาทีด้วย นอกจากนี้ มลพิษ PM 2.5 จากการคมนาคมทางถนน อาจเป็นเหตุให้จีนสูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2573 สูงถึง 0.68%

ประเมิน 1 เดือนไทยกระทบทางเศรษฐกิจสูญเสีย 6 พันล้าน

เมื่อช่วงต้นปี 2563 บรรดานักวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ประเมินถึง "ต้นทุน" ที่ไทยต้องจ่ายจากการปล่อยให้ PM 2.5 ปกคลุมทั่วทั้งน่านฟ้า โดย "ต้นทุน" ที่ว่านั้นก็คือ "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" (Opportunity Cost) ประเมินภาพง่ายๆ ภายในช่วงเวลา 1 เดือน มีการประมาณการว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะสูงถึง 3,200-6,000 ล้านบาท แยกออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

1. ต้นทุนที่เกี่ยวกับสุขภาพ คือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย และเครื่องฟอกอากาศ ก็มีมูลค่าสูงถึง 2,000-3,000 ล้านบาท

2. ต้นทุนค่าเสียโอกาสเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อยู่ที่ 1,000-2,400 ล้านบาท

3. ต้นทุนค่าเสียโอกาสอื่นๆ เช่น สตรีตฟู้ด (Street Food), ร้านอาหารหรูแบบ Outdoor รวมถึงตลาดนัด ก็มีมูลค่ากว่า 200-600 ล้านบาท

การประเมินภาพผลกระทบจากมลพิษดังกล่าวเพียงแค่ 1 เดือน ในห้วงเวลาที่ยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาเกี่ยวข้อง แต่ปัจจุบันโรคโควิดยังระบาดเป็นอยู่แบบนี้ แถมยังมีปัญหา PM 2.5 เข้ามาเป็นโรคแทรกซ้อนอีก ยิ่งทำให้ "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" ที่ไทยต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีก จากที่ราคาประเมิน 6,000 ล้านบาทนั้นอาจไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง  https://www.OpenAQ.com 

                                https://www.WorldOrganization.com   

                                https://www.WorldBank.com   

 


สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<< 


ส่องเทรนด์อาหารและพฤติกรรมของผู้บริโภคปี 2021

ตั้งเป้าหมายชีวิตเริ่มต้นใหม่ที่ดีขึ้นในปี 2021

 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
219 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
404 | 10/04/2024
‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

ถนนลาดยาง คืออะไร?ยางมะตอย By-Product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ลักษณะสีดำ ข้น หนืด ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ทนน้ำ ยึดเกาะกับวัสดุหินได้ดี…
pin
1360 | 01/04/2024
PM 2.5 ภัยร้ายตัวปัญหาที่ไม่ใช่แค่เรื่องมลพิษ