ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ประชาชนไม่เข้าใจในกระบวนการจัดการแก้ไขวิกฤติฝุ่นละอองพิษ เนื่องมาจากการไม่ทราบข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ว่าจริงๆ แล้วฝุ่นพิษมันเกิดมาจากอะไรบ้างและควรจัดการปัญหานี้อย่างไร ?
ทั้งนี้จากข้อเสนอแนะจากนักวิชากรกับกรณีการจัดการปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างยั่งยืน โดยศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ที่ระบุถึงข้อเท็จจริงและแนวทางการจัดการปัญหาฝุ่นพิษ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับทราบข้อเท็จจริงและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ดังนี้ :
8 ข้อเท็จจริงของปัญหาฝุ่นละอองพิษขนาดเล็ก PM 2.5
1.ขาดระบบการแจ้งเตือนมลพิษในเมือง จากวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งสัญญาณเป็นปัญหามากว่า 4 ปีแล้ว อันเกิดจากการพัฒนาเมืองอย่างก้าวกระโดด การก่อสร้างระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค การก่อตัวของอสังหาริมทรัพย์ การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การใช้รถสาธารณะเครื่องยนต์ดีเซลเก่า ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และการเพิ่มขึ้นของประชากรในเมือง ซึ่งปัญหาดังกล่าวข้างต้น กทม. รับทราบข้อมูลมาตลอด แต่กลับไม่แจ้งให้ประชาชนทราบถึงปัญหาที่กำลังจะก่อตัวเป็นวิกฤติมลพิษทางอากาศขึ้น และจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีในอนาคตข้างหน้า
2.แนวคิดการพัฒนาภาษีฝุ่น ที่ผ่านมาให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และภาคส่วนอื่นๆ ทราบ จึงทำให้ทุกคนไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลจำนวนมากในเขตเมือง ล้วนก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นสะสมและปะทุเป็นวิกฤติฝุ่นพิษเมื่อสภาพอากาศปิด กระแสลมสงบ และไม่มีฝน ผนวกกับภูมิประเทศที่เป็นแอ่งของกทม. จึงทำให้เมืองจมอยู่ใต้ฝุ่นพิษ
3.รถยนต์คือต้นเหตุหลัก สมาร์ททรานสปอเทชั่นคือทางออก ซึ่งต้นเหตุของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่สำคัญมาจากการใช้ยานพาหนะสาธารณะเครื่องยนต์ดีเซลเก่า ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของกทม. ทำให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทวีความรุนแรง จากจำนวนยานพาหนะที่มากกว่า 7,000 คันของกทม.
4.ระบุจุดเสี่ยงฝุ่นได้ไม่ยาก การจัดการที่ผ่านมามีการละเลยการแจ้งพื้นที่เสี่ยงปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน เช่น บริเวณป้ายรถสาธารณะ บริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น จุดอับบริเวณใต้สะพาน ทางด่วน หรือสถานีรถไฟฟ้า และจุดศูนย์รวมรถบริการสาธารณะ เป็นต้น
5.สปิงเกอร์ไม่ช่วยอะไร จากมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ของกทม. คือ การฉีดน้ำล้างถนนและการติดสปิงเกอร์บนตึกสูงเพื่อพ่นละอองน้ำ ไม่เกิดประสิทธิภาพเนื่องจากวิธีการนี้จะมีส่วนช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 10 มากกว่า PM 2.5 ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด โดยการพ่นละอองน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจำเป็นจะต้องเลือกใช้กับพื้นที่ที่เป็นต้นเหตุในการก่อปัญหาฝุ่นละออง เช่น พื้นที่ก่อสร้าง ถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ป้ายรถเมล์ ใต้สถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงปัญหาการสื่อสารไปยังภาคประชาชนให้ทราบถึงสาเหตุปัญหาฝุ่นและมาตรการการแก้ปัญหาระยะยาว จึงทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาของกทม.
6.บิ๊กดาต้าช่วยได้แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน จากการแสดงค่าฝุ่นละอองภาพรวมของกทม. นั้นทำให้หลายฝ่ายตระหนกกับค่าฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐานสูงมากและเป็นอันตรายถึงชีวิต ผนวกกับการขาดความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาของกทม. ต่อกรณีวิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลให้หลายภาคส่วนทั้งเอกชนและสถาบันการศึกษา ต่างจำเป็นต้องหาเครื่องมือวัดปริมาณฝุ่นและมาตรการป้องกันเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่น การหยุดการเรียนการสอน การประกาศหยุดงาน การแจกหน้ากากอนามัย N95 สำหรับป้องกันฝุ่นเบื้องต้น
7.ภัยเงียบทำลายทรัพยากรมนุษย์ โดยกลุ่มคนที่ต้องเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และอาจมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว คือ กลุ่มทารก เด็ก และเยาวชน ที่มีกว่า 1,700,000 คน ทั้งที่อาศัยหรือเรียนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร อีกทั้ง เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยรถสาธารณะเป็นส่วนใหญ่และหน้ากากอนามัย N95 ที่ใช้ป้องกันฝุ่นนั้นไม่ได้ออกแบบให้รับกับสรีระใบหน้าของเด็กส่งผลให้ป้องกันได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคทางสมอง และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต
8.นโยบายแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือ การแจ้งข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับต้นเหตุปัญหาให้ประชาชนรับรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม พร้อมออกมาตรการที่เข้มงดกับผู้ประกอบการที่ดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคและอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมือง การแก้ปัญหายานพาหนะในกลุ่มรถสาธารณะและยานพาหนะของกทม. สนับสนุนการใช้ขนส่งมวลชนระบบรางในราคาสมเหตุสมผล การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการจูงใจทางภาษี รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมเมือง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาวิกฤติมลพิษทางอากาศ และมลพิษอื่นๆ อย่างยั่งยืน
หลักการโดยสรุปนอกเหนือจาก 8 ข้อเท็จจริงในข้างต้น นักวิชาการ สจล.ยังแนะอีกว่าให้ยึดหลักการ “รัฐรู้อย่างไร ประชาชนรู้อย่างนั้น” ในการแจ้งข้อเท็จจริงกับประชาชนเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพราะต้องยอมรับกันก่อนว่าเราในฐานะที่เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้น จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเราเอง และถึงเวลาที่เราต้องร่วมมือกัน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ตัวเราเองและลูกหลายของเราในอนาคต