แชร์ประสบการณ์ เจ้าของแบรนด์ดัง ปูไข่ดอง by ‘ปองไคดู’ สร้างโอกาสจากวิกฤตได้อย่างไร? ให้สามารถสร้างยอดขายสู่ หลักล้าน

SME in Focus
18/06/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 805 คน
แชร์ประสบการณ์ เจ้าของแบรนด์ดัง ปูไข่ดอง by ‘ปองไคดู’ สร้างโอกาสจากวิกฤตได้อย่างไร? ให้สามารถสร้างยอดขายสู่ หลักล้าน
banner

หากใครกำลังสนใจอยากเริ่มธุรกิจอาหารทะเลสด ห้ามพลาดกับการแชร์เรื่องราวจากประสบการณ์จริง ของแบรนด์ปูไข่ดอง ยอดขายหลักล้าน โดย คุณตรีชาวัชร์ รุ่งตวันธนาวัฒน์ หรือ คุณเช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปองไคดู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และเจ้าของเพจ ปูไข่ดอง by ‘ปองไคดู’ ผู้ Transform ตัวเองจากวิศวกรสู่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทะเลสด มาแชร์เทคนิคการทำธุรกิจ กว่าจะประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง? พร้อมเผยเคล็ดลับการเปลี่ยนวิกฤตมาเป็นโอกาสได้อย่างไร? จนนำไปสู่ธุรกิจอาหารทะเลสดยอดขายหลักล้าน! เรามาติดตามเรื่องราวของ ‘ปองไคดู’ ไปพร้อม ๆ กันเลย




ก่อนจะมาเป็น ปูไข่ดอง by ปองไคดู

คุณเช เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจว่า เดิมทีเป็นวิศวกรที่ทำงานในบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง ไม่เคยคิดจะทำธุรกิจเลย โดยเฉพาะอาหารทะเล จนวันหนึ่งประสบอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บหนักต้องพักรักษาตัวนานหลายเดือน จึงต้องออกจากงาน ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต

หลังออกจากงาน เพื่อนชวนทำธุรกิจเครือข่าย ก็ศึกษาและตัดสินใจทำอยู่ 2 ปี ทำให้ได้เรียนรู้โมเดลการทำธุรกิจ ได้ Mindset ในการทำธุรกิจให้ Success แต่ทำแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเราคิดแค่ว่าอยากทำเพื่อให้ได้เงินเท่านั้น พอเราประสบปัญหาหนี้บัตรเครดิต มีหนี้มาก้อนหนึ่ง จึงเริ่มคิดอยากทำธุรกิจเพื่อมาชำระหนี้


จนมาวันหนึ่ง ได้มีโอกาสไปเที่ยว เจอรูปภาพพระพิฆเนศปิดทองในร้านสปาแห่งหนึ่ง จึงถามเจ้าของร้านว่า “ขอถ่ายรูปภาพในร้านไปลงขายในออนไลน์ได้มั๊ย” 

พอเขาอนุญาตจึงนำไปลงขายผ่านเฟซบุ๊ก ในรูปแบบ Dropship เพราะไม่ต้องลงทุนมาก แต่เป็นการนำสินค้าของคนอื่นมาขาย เมื่อขายได้ก็แบ่งกำไรกัน ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด คือขายไป 20 ภาพ ได้กำไรมา 40,000 บาท ตอนนั้นรู้สึกดีใจว่าเรารอดแล้ว



จุดเปลี่ยนชีวิต

เมื่อขายภาพจนสามารถเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง คุณเช ก็มีเป้าหมายใหม่ โดยมองว่า ภาพพระพิฆเนศ คนอินเดียน่าจะสนใจมากกว่า ถ้าหาคนอินเดียมาเป็นตัวแทนขายที่บ้านเขาน่าจะขายได้กำไรดีกว่า จึงไปลองโพสต์ขายใน Amazon ปรากฏว่า มีคนอินเดียติดต่อเข้ามาจริง ๆ แต่สุดท้ายเขาไม่ได้ต้องการซื้อของเรา แค่มาตีสนิทเพื่อต้องการขายของให้เรา คือ ‘กุ้งแม่น้ำ’ แต่เราไม่มีความรู้เรื่องกุ้งแม่น้ำมาก่อนเลย 

“ตอนนั้นผมไม่รู้จักกุ้งแม่น้ำ ยังแยกไม่ออกด้วยซ้ำ ว่ากุ้งแต่ละชนิดเขาเรียกว่าอะไร” 

ชายอินเดียคนนั้นบอกให้ลองไปเสิร์ชในเฟซบุ๊กดู จึงรู้ว่า ที่เมืองไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ กุ้งแม่น้ำขายดีมาก ๆ ถ้าเราสนใจต้องซื้อกุ้งยกตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 10 กว่าตัน ซึ่งเราไม่มีเงินทุนเยอะขนาดนั้น แต่การเจอคนอินเดียคนนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เราหันมาสนใจอยากรู้จักกุ้งแม่น้ำมากขึ้น ผมกับน้องชายจึงเริ่มศึกษา และพากันขี่มอเตอร์ไซค์ไปดูว่ากุ้งแม่น้ำหน้าตาว่าเป็นยังไง วันนั้นทำให้ผมได้รู้จักกุ้งแม่น้ำ ถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต และเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจอาหารทะเลของเรา สองพี่น้องเลยก็ว่าได้ 

“วันนั้น ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองศึกษา เพื่อลงมือทำจริง วันนี้ ปองไคดู ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้”


เจอวิกฤต 3 รอบ แต่ไม่เคยท้อถอย

ปี 2014 คุณเช ตัดสินใจลองขายกุ้งแม่น้ำ ด้วยเงินเก็บที่ขายภาพได้ 40,000 บาท แล้วตระเวนขี่มอเตอร์ไซค์กับน้องชายไปดูกุ้ง สุดท้ายไปซื้อกุ้งจากชาวเรือมา ตอนนั้น ต้องยอมรับว่าเราอ่อนประสบการณ์ ไม่ได้ศึกษาในสิ่งที่จะทำอย่างแท้จริง จึงโดนแม่ค้าหลอกขาย ยำไซส์มา กุ้งตกไซส์ เอาไปขายก็ขาดทุน

แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น ไม่ได้ทำให้ คุณเช ท้อถอยหรือยอมแพ้แต่อย่างใด มองดูเงินในกระเป๋าเหลือเงินทุนอีกนิดหน่อย ก็หันมาเริ่มต้นใหม่ จากกุ้งแม่น้ำเปลี่ยนมาเป็นปูม้า กั้งแก้ว ตอนนั้นรถตัวเองก็ไม่มี ต้องยืมรถญาติไปหาลูกค้า อาศัยขยันเดินเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าแทบทุกร้าน ตื๊อจนเขาช่วยซื้อ เราเริ่มเก็บหอมรอมริบจนมีเงินเก็บหลักแสน แต่ก็ต้องหมดไปเพราะอุบัติเหตุจากรถส่งสินค้า 

คุณเช เล่าต่อว่า หลังจากนั้น ปี 2016 เรากลับมาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่ เฟซบุ๊กเริ่มเป็นที่รู้จัก จึงศึกษาจนมีความรู้เรื่องเฟซบุ๊กมากขึ้น คิดแค่อยากซื้อของถูก ๆ จากอินโดนีเซียเข้ามาขายแบบซื้อมาขายไป ครั้งนี้ เราสองคนมีความคิดว่า ‘ถ้าอยากโตไว ต้องคิดการใหญ่’ เลยตัดสินใจบินไปอินโดนีเซียกับน้องชาย แล้วไปเช่ามอเตอร์ไซค์ ใช้ GPS ตะลุยอินโดนีเซีย 

“ตอนนั้นคิดแค่ว่าจะนำเข้ากุ้งมังกร กั้งแก้ว เป็น ๆ โดยการแพ็คสลบมาแล้วมาฟื้นที่เมืองไทย แต่ด้วยความที่ประสบการณ์ยังน้อย เจอปัญหาของทะเลสดที่เราแพ็คสลบมาตายหมด ทำให้ขาดทุนอีกครั้ง”



หลังจากขาดทุนครั้งนั้น คุณเช หันมาขายส่งสินค้านำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน โดยขายส่ง หอยแครงวันละ 10 ตัน แต่มาเจอปัญหา Credit Term พอตั้งตัวได้ไม่นาน ก็มาล้มซ้ำรอบที่สาม จากการที่เราซื้อสด แต่ขายเครดิต ทำให้ขาดสภาพคล่อง ถือเป็น Pain Point สำคัญของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่มีสายป่านไม่ยาว ในที่สุดก็จะสู้เขาไม่ได้

“ประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้รู้ว่า เราแข่งเครดิตกับเขาไม่ได้ เพราะไม่มีเงินทุนมากพอ ถ้าอย่างนั้นเราต้องขายเป็นระบบเงินสดเท่านั้น”

ปัญหาสำคัญ คือ การที่เราอ่อนเรื่องบัญชี และกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา จนในที่สุดขาดทุน คือส่งสินค้าไปตามร้านอาหาร เช่น ส่งกุ้งมังกร หอยแครง เป็น 10 ตัน รอบ 1- 2 จ่าย พอรอบที่สามไม่จ่าย รวมกันแล้วขาดทุนประมาณ​ 3 ล้านบาท 

“ระหว่างทางในการทำธุรกิจ ผมพบเจออุปสรรคมากมาย ต้องเริ่มต้นใหม่ก็หลายครั้ง เคยท้อแต่ไม่เคยถอย เพราะบอกตัวเองเสมอว่า จะต้องมีเงินล้านแรกให้ได้”


คิดโมเดลใหม่ ขายอาหารทะเลทางออนไลน์

คุณเช บอกว่า ตอนนั้นล้มลุกคลุกคลานอยู่ 2 ปี จนรู้สึกว่าทำงานหนักขนาดนี้ ทำไมยังไม่รวยสักที เลยคิดหาทางออก อยากจะส่งโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่เอาระบบเครดิต อยากขายได้เงินสด เลยคิดโมเดลธุรกิจใหม่ คือการขายผ่านตลาดออนไลน์ จึงเริ่มสร้างเพจ ตอนนั้น เฟซบุ๊กเป็นเรื่องใหม่มาก 
  

3 ปีที่แล้ว อาหารทะเล เป็น ๆ ค่อนข้างเป็นที่ตื่นเต้นสำหรับลูกค้า ประกอบกับมีเพจดังอย่าง Wongnai เข้ามาทำรีวิว ยอดลูกค้าเลยเพิ่มขึ้นจากวันละ 2-3 คน เป็นวันละ 50 คน ผมเลยรู้ว่า การขายออนไลน์ต้องทำคอนเทนต์ จึงไปเรียนถ่ายรูป ซื้อกล้องมาถ่ายรูปเอง เรียนการยิง Ads พอเราทำคลิปคอนเทนต์ของตัวเอง ต้องมีคอนเทนต์ตัวปัง คอนเทนต์นางฟ้า จึงทำคลิป How-to สอนแกะกั้ง เป็นคลิปแรก จุดนี้เองทำให้เรามีคนดู 7 ล้านคน จนกลายเป็นไวรัลออกไป เป็นที่มาของ ‘ปองไคดู’ 
 
  

ทุกวันนี้ ‘ปองไคดู’ ขายอะไรบ้าง

คุณเช สะท้อนภาพการทำธุรกิจว่า ‘ปองไคดู’ เน้นขายอาหารทะเลสด 80% โดยสินค้าเด่นของเราคือ กุ้งมังกร กุ้งแม่น้ำ กั้งแก้ว หอยหวาน ปูม้า ปูทะเลทุกชนิด และปูไข่ดอง ซึ่งเราใช้ไข่จริง ๆ ไม่มีส่วนผสมอย่างอื่น โดยไลฟ์สดโชว์วิธีการนึ่งให้ลูกค้าเห็นทุกขั้นตอนในการทำ ราคาค่อนข้างดี เพราะเราเปิดโรงรับซื้อเองที่จันทบุรีและตราดด้วย

หลังโควิด โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไป ต้องปรับให้ไว เพื่อไปต่อ

ปี 2019 ธุรกิจเริ่มไปได้ดีมาก ๆ เราขยายธุรกิจได้ถึง 5 สาขา จนมาช่วงเปิดประเทศหลังโควิดคลี่คลาย คนโหยหาการออกนอกบ้าน เริ่มอยากเดินทางท่องเที่ยว อยากออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ส่งผลให้ยอดขายลดลงถึง 80% จนต้องปิดไปถึง 4 สาขา ถือเป็นวิกฤตครั้งที่ 4 ที่หนักไม่น้อย

ส่วนธุรกิจด้านการส่งออกก็ได้รับผลกระทบ ขณะที่การขายแบบ Delivery ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่แล้ว เพราะช่วงโควิดพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ธุรกิจหันมาส่งแบบ Delivery กันหมด จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ไว เพราะธุรกิจออนไลน์จะปรับเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว 

คุณเช สะท้อนปัญหาอีกว่า เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนั้น จึงต้องมาคิดว่า จะทำอย่างไรต่อ เพราะค่ายิง Ads ค่อนข้างสูง จะทำอย่างไรถึงจะหล่อเลี้ยงพนักงาน 70 คนได้


คุณเช บอกว่า ตอนนั้นการ ‘ไลฟ์สด’ ไม่ต้องยิง Ads มาก จึงหันมาเรียนรู้การไลฟ์สด โดยการลองฝึกพูดตามคนอื่นที่เขาทำอยู่ ทั้งที่ไม่ถนัดการพูดไลฟ์ขายของแบบนี้เลย แต่พอทำได้ประมาณ 1 เดือน มียอดขายถึงวันละ 5 หมื่นบาท ทำให้สามารถดูแลพนักงานได้ 

“ช่วงนั้นไม่ว่าจะเดินทางไปไหน แม้กระทั่งพาครอบครัวไปเที่ยว พักผ่อนต่างจังหวัด ก็ต้องพกอุปกรณ์ไลฟ์สดไปด้วยทุกที่ เพื่อให้ธุรกิจไปต่อให้ได้”

แต่พอช่วงวิกฤตโควิดระบาด คนหันมาขายของ Delivery กันมาก เราจึงลดช่องทางขายออนไลน์ลง จากเดิม 70% เหลือ 30% และหันมาขายส่งและส่งออกมากขึ้น 70% เพราะหลังโควิดคลี่คลาย เราสามารถส่งออกได้เหมือนเดิม

ทุกวิกฤตสร้างโอกาสได้

คำว่า ‘วิกฤตสร้างโอกาส’ คำนี้อาจจะฟังดูเท่ แต่จริง ๆ แล้ว คุณเช ให้มุมมองว่า เป็นการกระตุ้นให้เราคิดหาทางออก แล้วเราก็พบว่าในวิกฤตนั้นมีโอกาสอยู่จริง ๆ เพียงแต่เราต้องหาให้เจอ ซึ่งบางครั้งอาจขยายโอกาสให้เราเติบโตมากกว่าตอนที่เรายังไม่เจอปัญหาด้วยซ้ำไป ดังนั้น ทุกครั้งที่เจอปัญหาอย่าท้อ อย่ายอมแพ้ เพราะสิ่งนั้นอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เรามองเห็นโอกาสที่ดีกว่า และนำพาธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแรง



อนาคตของ ปองไคดู

คุณเช สะท้อนภาพว่า ธุรกิจเรา 80% เป็นอาหารสด และแช่แข็ง จึงต้องการเปิดร้านของตัวเอง เพื่อเป็นช่องทางรองรับสินค้าล้นตลาด รวมไปถึง ‘การสร้างองค์กร’ โดยศึกษาโมเดลธุรกิจจากบริษัทใหญ่ ๆ ที่เขาสร้างองค์กรจนเติบโตและประสบความสำเร็จ เขาทำได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เรากำลังศึกษาเพิ่มเติม

อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่วางไว้ในอนาคตคือ อยากขยับตัวเองไปเป็น ‘สตาร์ทอัพ’ เพราะเห็น Pain Point เรื่อง Credit Term การจ่ายเงิน การออกบิลโดยเขียนมือที่ผิดพลาดจากคน (Human Error) จึงคิดพัฒนาแอปพลิเคชันมาช่วยธุรกิจในเชนเดียวกัน เช่น การแจ้ง Due การออกบิลอัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีความครอบคลุมและแม่นยำ เพื่อใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด


ฝากแง่คิดถึงผู้ประกอบการ SME 

ผู้บริหารหนุ่ม ให้แง่คิดการทำธุรกิจว่า เมื่อโลกเปลี่ยน เราต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ เพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ที่สำคัญ เราต้องสร้างและพัฒนาคน เพราะผมเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถในตัวเอง อย่างเช่น ทีมงานที่ขายหอยได้วันละ 5 ตัน เขาก็ไม่ได้ร่ำเรียนการขายมา แต่เราพัฒนาจนเขาสามารถดึงศักยภาพในตัวเองออกมาได้ ผมจึงเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถ ถ้าเขาตั้งใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ


ขอบคุณเครดิตภาพประกอบจาก บริษัท ปองไคดู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
รู้จัก บริษัท ปองไคดู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพิ่มเติมได้ที่ :

LINE OA: @pookai (มี@นำหน้า)





Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

แม้ในปัจจุบัน มนุษย์จะมีองค์ความรู้มากขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแทบทุกวงการ มนุษย์ก็ต้องการเครื่องทุ่นแรง เพื่อมาช่วยเหลือในเรื่องต่าง…
pin
2 | 05/02/2025
ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

เสิร์ฟสานความสดใหม่ ร่วมมือร่วมใจเกษตรกรแข็งขัน องค์ความรู้เก่า แนวคิดใหม่ ส่ง “มะเขือเทศราชินี” สู่การแข่งขันจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง…
pin
5 | 04/02/2025
“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

เจาะกลยุทธ์ “น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” สร้างความยั่งยืนธุรกิจ ด้วยแนวคิด ESG เติบโตเคียงคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม สู่แบรนด์ระดับโลกช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา…
pin
8 | 21/01/2025
แชร์ประสบการณ์ เจ้าของแบรนด์ดัง ปูไข่ดอง by ‘ปองไคดู’ สร้างโอกาสจากวิกฤตได้อย่างไร? ให้สามารถสร้างยอดขายสู่ หลักล้าน