ทายาทรุ่น​ 3​ ไร่พัฒนศักดิ์​ ใช้นวัตกรรมใหม่ในไร่อ้อย ตอบโจทย์อากาศแปรปรวน​ ต้นทุนต่ำ​ กำไรงาม

SME in Focus
20/10/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 76 คน
ทายาทรุ่น​  3​ ไร่พัฒนศักดิ์​ ใช้นวัตกรรมใหม่ในไร่อ้อย ตอบโจทย์อากาศแปรปรวน​ ต้นทุนต่ำ​ กำไรงาม
banner
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัจจัยสำคัญในภาคเกษตรปัจจุบันและอนาคต ขณะที่นวัตกรรม เทคโนโลยี การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ ยังเป็นทางเลือกที่มีข้อจำกัด ทั้งในด้านองค์ความรู้ ต้นทุนในการเข้าถึงที่ยังมีมูลค่าสูงในช่วงเริ่มต้น และเหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร ดังนั้นในบทความนี้ จึงขอนำเสนอกรณีตัวอย่าง ของการปรับปรุงกระบวนการเกษตรสมัยใหม่ เหตุผลในการเลือกใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร รูปแบบ และแนวคิดเพิ่มประสิทธิภาพในไร่อ้อยของทายาทเกษตรไร่พัฒนศักดิ์ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปรับใช้ หรือต่อยอดการทำเกษตรสมัยใหม่ สอดรับกับโลกที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างเหมาะสม 

 

คุณนันทิวัฒน์ พัฒนศักดิ์ภิญโญ หรือ คุณป้อม ทายาทเกษตรรุ่นที่ 3 ของไร่พัฒนศักดิ์ ธุรกิจอ้อยแปลงใหญ่พื้นที่ 2,800 ไร่ ในจังหวัดกำแพงเพชร เขาเริ่มต้นอาชีพเกษตรต่อจากคุณพ่อภายหลังเรียนจบคณะบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) เมื่อปี 2553 เข้ามาเรียนรู้งาน แต่ยังขาดประสบการณ์ ช่วงแรกจึงมีงานหลายส่วนที่คิดว่ายังไม่ถูกใจ โดยการที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนงานต่าง ๆ ในช่วงแรกยังค่อนข้างยาก ถึงวันนี้ผ่านมากว่า 10 ปี ปัญหาต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ ปรับปรุงแก้ไข จนมาถึงจุดที่พิจารณาว่ากระบวนการต่าง ๆ เริ่มเป็นระบบการบริหารจัดการธุรกิจเกษตรแปลงใหญ่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

โดยหลักคือการนำนวัตกรรมใหม่ เทคโนโลยี และเครื่องจักรกลการเกษตรมาปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูก เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไม่เน้นพึ่งพาฝนฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่สามารถวางแผนปลูกอ้อยในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ผลผลิตมี Productivity สูง ตอบสนองตามความต้องการของตลาด สามารถลดต้นทุนในส่วนปัจจัยการบำรุงและดูแลรักษาพืช ลดต้นทุนเวลาในการบริหารจัดการ และที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร   

 

นวัตกรรมและเทคโนโลยี รับมือ Climate Change ในไร่อ้อย

คุณนันทิวัฒน์ บอกว่า ทำไร่อ้อยในปัจจุบันเกษตรกรต้องปรับทัศนคติใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Climate Change นับเป็นความเสี่ยงสำคัญ ชาวไร่อ้อยต้องวางแผน และคาดคะเนล่วงหน้า ตั้งแต่กำหนดช่วงเวลาการลงท่อนพันธุ์อ้อยแปลงปลูกใหม่ จนถึงเจริญเติบต่อในช่วงที่โรงงาน้ำตาลเปิดรับซื้อ ดังนั้น หากสภาพอากาศหรือฤดูกาลมีความคลาดเคลื่อน เช่น เกิดฝนตกน้ำท่วมขังในช่วงลงท่อนพันธุ์ หรือเกิดภัยแล้ง จะทำให้ท่อนพันธุ์เสียหาย เติบโตไม่เต็มที่ในช่วงเก็บเกี่ยว ดังนั้นการลดความสูญเสียจึงต้องพึ่งพานวัตกรรม เทคโนโลยี และเครื่องมือ เครื่องจักรที่เหมาะสม ยกตัวอย่าง กรณีของไร่พัฒนศักดิ์ ที่มีการการวางแผนรับมือสภาพอากาศแปรปรวนในไร่อ้อย ดังนี้ 
 


1. GPS Land Leveling เป็นเทคโนโลยีล่าสุดในการปรับระดับพื้นที่หน้าดินซึ่งมีความแม่นยำสูง ภายในแปลงปลูกอ้อยจะปรับหน้าดินให้มีความลาดเอียงเพื่อการระบายน้ำได้ดี แต่เดิมการปรับหน้าดินจะยังใช้ความชำนาญตามประสบการณ์ของผู้ดำเนินการ หรือเทคโนโลยีปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์ซึ่งยังมีความคลาดเคลื่อนมาก และกว่าเกษตรจะรู้ว่าพื้นที่แปลงมีปัญหาจุดไหนบ้างก็เพาะปลูกไปแล้ว ทั้งการแก้ไขยังมีต้นทุนสูง แถมยังสูญเสียโอกาสเพราะต้องรอถึง 4 รอบการเก็บเกี่ยวอ้อยถึงจะปรับหน้าดินใหม่ได้
 


เหตุนี้ ทำให้ไร่พัฒนศักดิ์ซึ่งมีพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ เลือกใช้เทคโนโลยี GPS Land Leveling หรือการปรับระดับพื้นหน้าดินด้วย GPS ซึ่งจะมีความแม่นยำสูง สามารถปรับหน้าดินพื้นที่แปลงได้ระดับความราบลาดเอียงในแบบที่ต้องการ มีค่าความผิดพลาดต่ำมาก รวมถึงต้นทุนต่ำกว่าระบบเดิม ทำให้พื้นที่แปลงปลูกอ้อยสามารถระบายน้ำได้ดี พร้อมรับกับสภาพวะอากาศที่แปรปรวนได้ ช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด อีกทั้งยังมีข้อดีของการปรับหน้าดินที่ช่วยให้พื้นดินมีความชื้นใกล้เคียงกัน สามารถวางแผนการให้น้ำได้อย่างแม่นยำ และยังเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการพื้นที่แปลงเพื่อการนำเครื่องมือและเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้งานได้โดยไม่เกิดอุปสรรค

 

2. เทคโนโลยีระบบน้ำหยด เมื่อก่อนชาวไร่อ้อยใช้วิธีการสูบน้ำมาไว้ในร่องแปลง และต้องรอให้น้ำแห้งเพื่อปรับสภาพดินให้มีความชื้นที่เหมาะสมในการปลูกอ้อยพันธุ์ แต่เทคโนโลยีน้ำหยด ช่วยลดขั้นตอนการสูบน้ำเข้าร่อง ไม่ต้องรอน้ำแห้ง เพราะสภาพดินที่แห้งไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานของเครื่องปลูกอ้อย หลังปลูกและคลุมหน้าดินเรียบร้อย จึงค่อยวางสายน้ำหยดและปล่อยน้ำตรงไปที่ต้นอ้อย

เห็นได้ว่าเทคโนโลยีระบบน้ำหยด ช่วยในการวางแผนการจัดการน้ำเพื่อควบคุมความชื้นในดินโดยไม่ต้องรอเวลา หรือสภาพภูมิอากาศ สามารถปลูกอ้อยบนดินที่ไม่มีความชื้นได้เลย แล้วมารดน้ำหลังปลูกเสร็จแทน ซึ่งวิธีนี้จะใช้น้ำน้อยลงจากการสูบน้ำรองไว้ในร่องแปลงแบบเดิมกว่าเท่าตัว แต่เดิมอาจใช้น้ำ 24 ชม. แต่หากเป็นเทคโนโลยีน้ำหยดจะลดลงมาที่ 8 ชม.  แต่สามารถให้ผลผลิตที่ดีกว่า เนื่องจากเน้นให้น้ำโดยตรงที่ต้นพันธุ์อ้อย ดินมีความชื้นที่เหมาะสมมากขึ้น ช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตได้ดีกว่า

จากข้อเท็จจริงที่ว่า อ้อยอายุ 12 เดือนจะเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด ดังนั้นถ้าปลูกช้าเมื่อถึงรอบที่ต้องเก็บเกี่ยวในวันที่โรงงานน้ำตาลเปิดรับซื้อ อ้อยอาจยังไม่โตเต็มที่ แต่หากปลูกเร็วก่อนกำหนด ต้นทุนการดูแลรักษาก็เพิ่มขึ้นตาม ชาวไร่อ้อยจึงต้องคาดคะเนช่วงเวลาเพาะปลูกให้พอดีกับการรับซื้อของโรงงานน้ำตาล เหตุนี้หากสามารถเพาะปลูกโดยไม่ต้องรอปัจจัยเรื่องน้ำ หรือสภาพภูมิอากาศ การวางแผนจะทำได้แม่นยำมากขึ้น ความสูญเสียน้อยลง ส่งผลให้อ้อยขายได้ราคาดีขึ้นด้วย
 


คุณนันทิวัฒน์ อธิบายถึงข้อดีของการใช้ เทคโนโลยีระบบน้ำหยดอีกว่า ไม่เพียงวางแผนจัดการปลูกเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของอ้อย สอดคล้องกับการรับซื้อของตลาด และผสานการใช้เครื่องจักรทำงานได้สะดวก แต่ยังสามารถลดการใช้ปุ๋ย และปัจจัยการดูแลรักษาพืช โดยให้ปุ๋ยแบบละลายน้ำใส่ลงไปในถังเก็บน้ำเพื่อให้ปุ๋ยโดยตรงไปที่ต้นอ้อย วิธีนี้สามารถกำหนดปริมาณการใช้ปุ๋ยต่อไร่ได้อย่างแม่นยำ เปรียบเทียบ คือ ปกติใช้ปุ๋ยในปริมาณ 50 กก./ไร่ แต่สำหรับการให้ปุ๋ยโดยเทคโนโลยีระบบน้ำหยดสามารถลดปุ๋ยลงมาที่ 30 กก./ไร่

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีระบบน้ำหยดมีข้อจำกัดที่ต้องพิจารณาคือ ถ้าวางสายน้ำหยดในแปลงไปแล้ว ไม่สามารถนำเครื่องจักรกลขนาดใหญ่เข้าไปทำงานในแปลงได้ เพราะอาจทำให้สายน้ำหยดเสียหาย การซ่อมแซมทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นจะต้องทำทุกกิจกรรมการเพาะปลูก ตั้งแต่การปรับหน้าดิน พรวนดิน ให้ปุ๋ยรองดิน ใช้เครื่องจักรสำหรับฉีดพ่นยา รวมถึงการเก็บหญ้าด้วยเครื่องจักรในแปลงปลูกอ้อยให้เสร็จก่อนที่จะวางสายน้ำหยด เพื่อป้องกันความสูญเสีย 



 3. เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร การใช้โดรนในไร่อ้อยเหมาะสำหรับฉีดพ่นให้ปุ๋ยทางใบ หรือการให้ยาในกรณีที่อ้อยโตขึ้นลำสูงแล้ว เพราะเครื่องมือเครื่องจักรปกติจะเข้าไปฉีดพ่นไม่ได้ โดรนจึงเป็นทางเลือกทดแทนงานในส่วนนี้ ซึ่งไร่พัฒนศักดิ์เริ่มนำมาใช้ในงานบางส่วน โดยว่าจ้างผู้ให้บริการโดรนมาดำเนินการให้ เนื่องจากเรายังไม่มีความชำนาญในเทคโนโลยีนี้มากนัก อีกทั้งยังเห็นว่า เทคโนโลยีโดรนยังไม่ตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพกับยาบางชนิด ตลอดจนข้อจำกัดในการบรรทุกที่ทำได้น้อยกว่าเมื่อเทียบเชิงปริมาณกับการใช้ เพราะยาที่ผสมและฉีดพ่นด้วยโดรนต้องมีความเข้มข้นสูง เราจึงเลือกใช้ในการฉีดพ่นเฉพาะการให้ปุ๋ยทางใบ ด้วยยาหรือฮอร์โมนบางชนิดที่มีความเข้มข้นและให้ประสิทธิภาพได้ดี แต่หากเป็นยาประเภทที่ใช้ควบคุมวัชพืช 

 

เครื่องจักรแก้ปัญหาแรงงาน เพิ่ม Productivity 

คุณนันทิวัฒน์ บอกว่า การใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการเตรียมดินแปลงปลูกอ้อย เดิมพื้นที่ 2,800 ไร่ ต้องมีรถเตรียมดินขนาดทั่วไปถึง 10 คัน และใช้แรงงาน 10 -14 คน ทุกวันนี้ลดมาเหลือเพียง 4 คัน แต่เป็นรถและอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าทั่วไป จะช่วยลดจำนวนแรงงานคน และลดต้นทุนต่อไร่ในการเตรียมดินลงราว 30 % เพราะรถขนาดใหญ่มีสมรรถนะสูงสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง งานเสร็จเร็ว เกิดความเสียหายต่ำ ทุกวันนี้ กระบวนการจัดการในไร่อ้อยสามารถนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้ได้อย่างสะดวกเนื่องจากได้มีการวางแผนและปรับปรุงพื้นที่แปลงปลูกอ้อยให้เหมาะสำหรับการใช้เครื่องจักร
 


รวมถึงการเก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดอ้อย 100 % ก่อนส่งเข้าโรงงานแปรรูป ที่ไร่พัฒนศักดิ์ใช้รถตัดอ้อยจำนวน 3 คัน และหลังตัดอ้อยจะมีรถเก็บใบอ้อย บางแปลงอาจจะใช้ใบอ้อยเพื่อคลุมหน้าดินเพื่อรักษาต่อพันธุ์อ้อยเดิม แต่สำหรับแปลงที่ต้องเตรียมดินเพาะปลูกรอบใหม่ จะเก็บใบอ้อยหลังตัดประมาณ 2 วัน มัดเป็นก้อนเพื่อส่งขายโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่รับซื้อใบอ้อย ราคา 750 -800 ต่อตัน ปัจจุบันนี้ไร่อ้อยไม่มีความจำเป็นต้องเผาก่อนตัด จนทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศอีกต่อไป
 


แม้ว่าเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่นำมาใช้ในไร่อ้อยบางชนิดจะมีราคาแพง แต่ในระยะยาวเรามองว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะสามารถวางแผนการจัดการได้อย่างแม่นยำ ลดการสูญเสีย ลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุน แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ 

กระนั้น การใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักร ต้องพิจารณาความเหมาะสมของขนาดแปลงปลูก สำหรับไร่พัฒนศักดิ์ถือเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร เพราะเป็นเกษตรแปลงใหญ่ นั่นหมายถึง ค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ ล้วนมีผลกระทบต่อต้นทุน เราจึงต้องพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน ด้วยการวางแผนใช้เงินลงทุนให้คุ้มค่า ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงฤดูเพาะปลูก ไร่พัฒนศักดิ์ใช้แรงงาน 30 คน ส่วนฤดูเก็บเกี่ยวจะเพิ่มในส่วนของคนขับรถตัดอ้อย รถเก็บในอ้อย อื่นๆ ที่เป็นแรงงานเฉพาะด้าน อีก 20 คน รวมพื้นที่ 2,800 ไร่ จึงใช้แรงงานเพียง 50 คน กล่าวได้ว่าลดแรงงานได้เกือบ 100 % จากเดิมที่มีแรงงานหลายร้อยคน รวมทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย  

ด้าน อุปสรรคของเทคโนโลยีในภาคเกษตร คือยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ด้วยเงินลงทุนในช่วงเริ่มต้น ดังนั้นการจะเข้าถึงเทคโนโลยีได้เกษตรจึงต้องมีแหล่งเงินทุนที่ตอบโจทย์ แต่หากเป็นแปลงเกษตรขนาดเล็ก ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่พอเหมาะกับขนาดและความต้องการมีให้เลือกมากขึ้น จึงแนะนำว่าต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และเลือกลงทุนตามความเหมาะสม งบประมาณที่จ่ายจึงต้องสอดคล้องกับผลผลิต ทั้งต้องคำนวณต้นทุนแฝงเพื่อบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
 


ต่อยอดธุรกิจเชือกมัดใบอ้อย 
สืบเนื่องจาก 4 ปีมานี้ ไร่พัฒนศักดิ์เป็นผู้จำหน่ายใบอ้อยแบบอัดก้อนให้กับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ด้วยพิจารณาว่าธุรกิจนี้เริ่มมีมูลค่าที่ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันจึงต่อยอดธุรกิจนี้ ด้วยการเป็นผู้จำหน่ายเชือกมัดใบอ้อย ด้วยประสบการณ์ที่เป็นผู้ขายใบอ้อยอัดก้อนทำให้ทราบถึงความต้องการเชือกที่ใช้สำหรับมัดใบอ้อย รวมถึงทราบถึงข้อจำกัด ปัญหา ตลอดจนความต้องการของเชือกที่จะนำมาใช้มัดใบอ้อยด้วยเครื่องจักรจะต้องมีความเหนียว ทนทาน มีขนาดเหมาะสมในการนำมาใช้งานกับเครื่องจักรเพื่อมัดเป็นก้อน ก่อนส่งขาย โดยที่ผ่านมาได้พัฒนาธุรกิจนี้ร่วมกับผู้ผลิตเพื่อให้ได้เชือกมัดใบอ้อยที่ตอบโจทย์การใช้งาน และมีคุณภาพดี ด้วยการผลิตจากวัสดุเม็ดพลาสติกคุณภาพดี สามารถนำไปรีไซเคิลได้ด้วย 

คุณนันทิวัฒน์ มองอนาคตว่าการไร่อ้อยว่า อ้อยเป็นพืชเกษตรที่เป็นทั้งอาหารและพลังงาน มีความยั่งยืน รวมถึงมีการสร้างกลไกราคาที่เป็นธรรม อาทิ การซื้อขายในตลาดล่วงหน้า ผ่านทางตัวแทนของสมาคมต่าง ๆ จึงเชื่อว่าเป็นผลผลิตเกษตรที่ยังมีอนาคตที่สดใส ทั้งมีความผันผวนของราคาต่ำ เป็นพืชที่ตอบโจทย์ในระยะยาวได้เพียงแต่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดข้อจำกัดและการสิ้นเปลืองลง แต่การลงทุนจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม วิเคราะห์จุดคุ้มทุนให้ชัดเจนและมีกำไรในระยะยาว มากกว่าการเน้นผลกำไรช่วงสั้น ๆ 

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

แม้ในปัจจุบัน มนุษย์จะมีองค์ความรู้มากขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแทบทุกวงการ มนุษย์ก็ต้องการเครื่องทุ่นแรง เพื่อมาช่วยเหลือในเรื่องต่าง…
pin
2 | 05/02/2025
ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

เสิร์ฟสานความสดใหม่ ร่วมมือร่วมใจเกษตรกรแข็งขัน องค์ความรู้เก่า แนวคิดใหม่ ส่ง “มะเขือเทศราชินี” สู่การแข่งขันจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง…
pin
5 | 04/02/2025
“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

เจาะกลยุทธ์ “น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” สร้างความยั่งยืนธุรกิจ ด้วยแนวคิด ESG เติบโตเคียงคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม สู่แบรนด์ระดับโลกช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา…
pin
8 | 21/01/2025
ทายาทรุ่น​  3​ ไร่พัฒนศักดิ์​ ใช้นวัตกรรมใหม่ในไร่อ้อย ตอบโจทย์อากาศแปรปรวน​ ต้นทุนต่ำ​ กำไรงาม