ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

SME in Focus
04/02/2025
รับชมแล้วทั้งหมด 5 คน
ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง
banner
เสิร์ฟสานความสดใหม่ ร่วมมือร่วมใจเกษตรกรแข็งขัน องค์ความรู้เก่า แนวคิดใหม่ ส่ง “มะเขือเทศราชินี” สู่การแข่งขัน
จากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง วิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูมได้รวมตัวกันสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการทำเกษตรกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านคุณภาพและการตลาด โดยเฉพาะการนำ 
“มะเขือเทศราชินี” มาเป็นพืชหลักของชุมชน พร้อมต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองกระแสตลาดคนรุ่นใหม่ เพื่อส่งมอบความสดใหม่และยั่งยืนแก่ผู้บริโภค

จุดเริ่มต้น / ความเป็นมาวิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูม
คุณประยงค์ วงษ์สกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูม อายุ 62 ปี กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูมเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2548 หลังจากที่เกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ การผลิต และต้นทุนที่สูง จนกระทบต่อการดำรงชีวิตในครัวเรือน เมื่อภาครัฐ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาช่วยเหลือและแนะนำให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีความแข็งแกร่งขึ้น
พื้นที่ของกลุ่มตั้งอยู่ในแหล่งที่เหมาะสมกับการเกษตร จากเดิมที่ปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลาและหมู ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ของลุ่มท่าจีน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความชุ่มชื้นและเหมาะสมต่อการทำเกษตร ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มั่นใจว่าจะสามารถทำอาชีพเกษตรได้ต่อไปอย่างมั่นคง
เมื่อเกษตรกรจากเดิมทำการเกษตรแบบรายย่อย มารวมตัวกันเป็นกลุ่ม พวกเขาเริ่มช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และช่วยกันขาย ทำให้เกิดความสำเร็จในการผลิต คุณภาพ ปริมาณที่ดีขึ้น และสามารถต่อรองราคาได้ ทำให้กลุ่มมีความแข็งแกร่งขึ้นและสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง
จากนั้น ชุมชนเริ่มปลูก "มะเขือเทศราชินี" ซึ่งกลายเป็นพืชหลักของกลุ่มในปัจจุบัน ช่วยให้การบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่มมีความสำเร็จมากขึ้น
“ร่วมแรงแข่งขันฝ่าผลกระทบ ผลักดันวิสาหกิจชุมชนดอนตูม ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง”

ความยั่งยืนในการเกษตร
การทำเกษตรกรรมเป็นความหวังตั้งแต่แรกว่า จะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้และช่วยให้ดำรงชีวิตได้ เพราะอย่างน้อยก็ยังมีอาหารไว้กิน การพัฒนาในรูปแบบกลุ่มช่วยให้ชุมชนมีทักษะทางธุรกิจและการปลูกพืชเชิงพาณิชย์มากขึ้น สิ่งเหล่านี้นำไปสู่โอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ มุ่งสู่ความมั่นคง แข็งแกร่ง และยั่งยืน
การทำงานในภาคเกษตรกรรมอาจเป็นแบบครอบครัว หรือบริหารกันเป็นกลุ่มโดยใช้แนวทางสหกรณ์ ซึ่งเน้นการช่วยเหลือกัน การพึ่งพากัน และการร่วมกันคิด ลงมือทำ และรับประโยชน์ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องเผชิญกับอุปสรรค เช่น การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและสภาพอากาศ      ‘ภาวะโลกร้อน’ เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดฝนแล้ง อากาศร้อน และการระบาดของโรคแมลง ดังนั้น ชุมชนต้องปรับตัวให้สามารถอยู่รอดและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้
เพียงแต่ตรงนี้ทางชุมชนมีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่งจากการเป็นเกษตรกรในสายเลือด เกือบทุกคนมีความอดทน รวมถึงผลกระทบภายนอกที่พบเจอกันทั่วโลกอย่างโรคโควิด-19 ที่เกิดในช่วงปี 2561-2562 ชุมชนจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอาชีพเกษตรกรรม
นอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย โดยเฉพาะในชุมชนที่เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ทำให้การปรับตัวกับนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ รูปแบบการค้าก็เปลี่ยนจากการขายแบบดั้งเดิมไปสู่การค้าออนไลน์ ส่งผลให้ชุมชนต้องพัฒนาและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวทันสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

วิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูม ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เนื่องจากการทำธุรกิจต้องตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและสร้างโอกาสทางรายได้ให้กับชุมชน ดังนั้น ชุมชนจึงมุ่งพัฒนาสินค้าโดยเน้นคุณภาพและนำระบบหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้แทนการผลิตแบบเดิม โดยยึดหลัก "คุณภาพนำการผลิต" เพื่อให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น โดยนวัตกรรมที่เรานำมาใช้มีดังนี้
  • เครื่องคัดแยกมะเขือเทศ
แรงงานขาดแคลนและการคัดแยกแบบเดิมทำได้ช้าและไม่สม่ำเสมอ ชุมชนจึงนำต้นแบบจากเครื่องคัดแยกมะนาว ส้ม และไข่ไก่มาประยุกต์ใช้กับมะเขือเทศตั้งแต่ปี 2555 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดภาระแรงงาน
  • เครื่องล้างมะเขือเทศ
จากเดิมที่ล้างในอ่างพลาสติกซึ่งไม่มีประสิทธิภาพและไม่ตรงตามมาตรฐาน GMP ชุมชนจึงพัฒนาเครื่องล้างมะเขือเทศขึ้นเอง เพื่อให้กระบวนการผลิตมีคุณภาพและปลอดภัยมากขึ้น
  • เครื่องเจาะผลมะเขือเทศ
เดิมใช้แรงงานคนเจาะมะเขือเทศได้เพียง 100-150 กก./วัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ชุมชนจึงคิดค้นเครื่องจักรจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถเพิ่มกำลังผลิตเป็น 500-600 กก./วัน ลดเวลาและต้นทุนการผลิต
  • โรงเรือนปลูกพืช (Greenhouse)
เนื่องจากมะเขือเทศเป็นพืชฤดูกาลที่เติบโตได้ดีในช่วงฤดูหนาว ชุมชนจึงศึกษารูปแบบโรงเรือนจากอิสราเอลและบริษัทเอกชน ก่อนสร้างโรงเรือนต้นแบบในปี 2559 เพื่อปลูกมะเขือเทศได้ตลอดปี และให้ผลผลิตที่ดีขึ้น
  • โรงตากอบแห้งมะเขือเทศด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบล่าโดม)
จากปัญหาราคามะเขือเทศตกต่ำในปี 2552 ชุมชนได้ศึกษาแนวทางจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น มะเขือเทศแช่อิ่มอบแห้ง หวานน้อย ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในการสร้างโรงตากแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งช่วยลดความชื้น ลดผลกระทบจากฝนและแมลง ลดต้นทุนพลังงานและแรงงาน อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความยั่งยืนของชุมชน
“การปรับตัวด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้วิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และแข่งขันในตลาดได้ดียิ่งขึ้น ตอบโจทย์ทั้งด้านคุณภาพสินค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ร่วมมือหน่วยงาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอด "มะเขือเทศราชินี"
นอกจากความร่วมมือภายในชุมชน คุณประยงค์ ยังเปิดเผยถึงการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตอย่างมั่นคง
ความร่วมมือกับภาครัฐและภาคีเครือข่าย
วิสาหกิจชุมชนก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือหน่วยงานระดับจังหวัดและท้องถิ่น ที่เข้ามาสนับสนุนในด้านองค์ความรู้ ทุน และการพัฒนา
ความร่วมมือกับภาคเอกชน
หนึ่งในภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนคือ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเปิดโอกาสให้ชุมชนได้นำสินค้าไปวางจำหน่ายในงาน "วันเกษตรก้าวหน้า" ที่จัดขึ้นทุกปี ณ สำนักงานใหญ่ สีลม โดยวิสาหกิจชุมชนได้นำ "มะเขือเทศราชินี" ไปออกบูธเป็นปีที่ 6 แล้ว
การบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงทางธุรกิจ
จากเดิมที่เกษตรกรทำเกษตรตามฤดูกาลและกระแสตลาด ปัจจุบันได้ปรับมาใช้แนวคิด "เกษตรสมัยใหม่" ที่ต้องรู้ต้นทุน กำไร และมีการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างเป็นระบบ รวมถึงการจัดทำบัญชี และการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนช่วยให้สามารถขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนสำหรับพัฒนาด้านการผลิต การบริหาร การลงทุน รวมถึงการนำ นวัตกรรมและเทคโนโลยี เข้ามาใช้
แผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูม’ วางแผนขยายผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายขึ้น เช่น มะเขือเทศอบแห้ง และน้ำมะเขือเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงสร้างโอกาสทางรายได้ให้กับชุมชน
แม้ว่าในช่วงแรก การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจะเริ่มจากการแก้ปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ แต่เมื่อเรียนรู้มากขึ้น ก็พบว่าการแปรรูปช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้ชุมชน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ และสร้างงานให้เกษตรกรมากขึ้น

“เติบโตสู่ความยั่งยืน ฟื้นคืนภาพครอบครัวพร้อมหน้า นำพาสู่ความสุข”

เส้นทางสู่ความยั่งยืนของ ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูม’
ปัจจุบันชุมชนมีสมาชิก 112 ราย และสมาชิกเครือข่ายกว่า 100 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการทำการเกษตรได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น สมาชิกทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม มีโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคง และสามารถพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้
เป้าหมายในอนาคต
วิสาหกิจชุมชนตำบลดอนตูมให้ความสำคัญกับ "ความร่วมมือภายในกลุ่ม" ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโต เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรมักมีความเห็นอกเห็นใจกัน เข้าใจถึงปัญหา และสามารถร่วมมือกันได้ง่าย อีกทั้งโครงสร้างการบริหารแบบ สหกรณ์ ทำให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกคนในชุมชน
การพัฒนาศักยภาพสมาชิก
เพื่อให้ชุมชนก้าวทันการเปลี่ยนแปลง สมาชิกต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้าน ทักษะ ความรู้ และเทคโนโลยี ที่สามารถนำมาใช้ในการผลิต ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การจัดการคุณภาพ ไปจนถึงการแปรรูปสินค้าให้ได้มาตรฐาน
สานต่อสู่คนรุ่นหลัง
เป้าหมายสำคัญของกลุ่มเกษตรกรคือ "การส่งต่ออาชีพให้คนรุ่นใหม่" เพราะหากเยาวชนได้รับโอกาสเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ และสานต่อวิสาหกิจชุมชน ก็จะช่วยให้ อาชีพเกษตรกรยังคงอยู่ และพัฒนาไปสู่ "เกษตรสร้างชาติ" ที่สามารถเติบโตควบคู่ไปกับอนาคตของประเทศไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

สุดท้ายนี้ คุณประยงค์ ได้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับอาชีพเกษตรกร ซึ่งเป็นอาชีพที่เขาเติบโตมา แม้ว่าจะเคยเผชิญกับอุปสรรคและความล้มเหลวมาก่อน แต่เขาเชื่อมั่นว่า
"อาชีพเกษตรสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้ ทั้งในด้านอาชีพ รายได้ และที่สำคัญที่สุดคือ 'ความสุข' เพราะเราสามารถพึ่งพากันและกัน ครอบครัวไม่ต้องจากถิ่นฐาน และได้อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น"
คำพูดนี้สะท้อนให้เห็นว่า เกษตรกรรมไม่ใช่แค่อาชีพ แต่เป็นวิถีชีวิตที่สร้างความสุข ความมั่นคง และความยั่งยืนให้กับทั้งครอบครัวและชุมชน

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

แม้ในปัจจุบัน มนุษย์จะมีองค์ความรู้มากขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแทบทุกวงการ มนุษย์ก็ต้องการเครื่องทุ่นแรง เพื่อมาช่วยเหลือในเรื่องต่าง…
pin
2 | 05/02/2025
ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

เสิร์ฟสานความสดใหม่ ร่วมมือร่วมใจเกษตรกรแข็งขัน องค์ความรู้เก่า แนวคิดใหม่ ส่ง “มะเขือเทศราชินี” สู่การแข่งขันจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง…
pin
5 | 04/02/2025
“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

เจาะกลยุทธ์ “น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” สร้างความยั่งยืนธุรกิจ ด้วยแนวคิด ESG เติบโตเคียงคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม สู่แบรนด์ระดับโลกช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา…
pin
8 | 21/01/2025
ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง