ข้อมูลจากรายงาน COVID-19 and Tourism: Assessing the Economic
Consequencesของ UNCTAD ระบุว่า จากการหยุดชะงักของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเป็นเวลาเกือบ
4 เดือนเนื่องจาก COVID-19
ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลกสูญเสียรายได้อย่างน้อย 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งเท่ากับร้อยละ 1.5 ของมูลค่า GDP ของโลก
ทั้งนี้ หากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศหยุดชะงักต่อเนื่องเป็นเวลา 8 เดือน จะทำให้สูญเสียรายได้ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับร้อยละ 2.8 ของมูลค่า GDP ของโลก ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการของ UNWTO
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5
อันดับตามร้อยละของ GDP ที่ลดลง ได้แก่
จาไมกา (-11%), ไทย (-9%), โครเอเชีย
(-8%), โปรตุเกส (-6%) และสาธารณรัฐโดมินิกัน (-5%)
ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับตามมูลค่าของ GDP ที่ลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ลดลง 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ), จีน (ลดลง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ), ไทย (ลดลง 4.7
หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ), ฝรั่งเศส (ลดลง 4.7
หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเยอรมนี (ลงลด 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
UNCTAD ประเมินว่ารายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ลดลงทุกหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ
จะส่งผลให้ GDP ของประเทศนั้นลดลงประมาณ 2-3
ล้านดอลลาร์สหรัฐ การจ้างแรงงานกลุ่มไร้ฝีมือจะลดลงมาก อาทิ ไทย (-17%), จาไมกา (-15%) และโครเอเชีย (-12%)
และรายได้ของแรงงานฝีมือก็จะลดลงเช่นกัน อาทิ ไทย (-12%), จาไมกา
(-11) และโครเอเชีย (-9%)
นอกจากนี้ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบมากกว่าชาย
เนื่องจากในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีผู้ประกอบการหญิงมากกว่าชาย
และอัตราส่วนของแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูงถึง 54%
ซึ่งส่วนมากทำงานในแรงงานนอกระบบ
‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ฟื้นท่องเที่ยวไทย
อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าจับตา ณ
ขณะนี้จึงเป็นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมในประเทศไทย
ซึ่งต้นเดือนที่ผ่านมาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 (ศบค.) ได้พิจารณาตามข้อเสนอจากกระทรวงการต่างประเทศ
ในการขยายกลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าไทย ในบุคคล 6 กลุ่ม
รวมถึงความตกลงพิเศษ
(Special Arrangement) ซึ่งทำกับประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, จีน และฮ่องกง โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค
ซึ่งจำนวนโควตาที่กำหนดต้องสอดคล้องกับจำนวน Alternative
State Quarantine (ASQ) และการเจรจากับประเทศที่ทำความตกลงพิเศษ
(ขั้นต้นอาจกำหนดจำนวนรวม 200 คน/วัน)
โดยประเทศเป้าหมายที่ได้รับการพิจารณาให้เข้ามาในไทยตามความตกลงพิเศษดังกล่าวนี้
มีหลักเกณฑ์การพิจารณาจาก
1. มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อไทย
2. ควบคุมการระบาดได้ดีใกล้เคียงกับไทย
3. มีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ
4. มีความพร้อมและสนใจทำความตกลง
ปัจจุบันภาครัฐของไทยได้มีโครงการ
“เราเที่ยวด้วยกัน” ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปลงทะเบียนในเว็บ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าถึงธุรกิจการท่องเที่ยวโดยตรง
ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19
โดยรัฐบาลได้สนับสนุนค่าที่พักโรงแรม 40% ของราคาที่พักต่อห้องต่อคืน
แต่ไม่เกินวงเงิน 3,000 บาท จำกัดสิทธิ์คนละไม่เกิน 5 ห้อง หรือ 5 คืน
และเมื่อจองที่พักแล้วไม่สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงได้
ระยะเวลาใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่ 15 ก.ค.-31 ต.ค.63
นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนคูปองอาหารและท่องเที่ยวมูลค่า 600
บาทต่อห้องต่อคืนให้กับประชาชนเมื่อเช็กอินโรงแรม จะได้รับคูปองวันละ 1 ครั้ง
ซึ่งสามารถใช้ได้ที่ร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวที่ร่วมโครงการ โดยประชาชนจ่าย
60% รัฐช่วย 40% ผ่านการตัดเงินคูปอง รวมทั้งการสนับสนุนค่าโดยสารเครื่องบิน 40%
ของราคาค่าโดยสารแต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน
ขณะเดียวกันทางกระทรวงการคลังได้มีการสนับสนุนค่าที่พักโรงแรมไว้จำนวน
5 ล้านห้อง และอาจจะต่อยอดไปเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวในวันธรรมดาให้ธุรกิจในท้องถิ่นให้เห็นผลเร็วที่สุด
สำหรับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้มากกว่า 50,000
ล้านบาท และคาดว่าจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ 0.2–0.3%
อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ คือการกระจายของเม็ดเงินลงไปสู่แหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศโดยไม่กระจุกตัว และน่าจับตาว่าภายใต้บรรยากาศที่อัดอั้นจากโควิด-19 ที่ผู้คนต้องล็อกดาวน์อยู่แต่ในบ้าน เมื่อรัฐบาลเชิญชวนให้คนออกไปเที่ยว แถมสนับสนุนค่าโรงแรม ที่พัก และบรรดาผู้ประกอบการต่างๆ ก็จัดโปรโมชั่นกันอย่างเต็มที่ หวังฟื้นการท่องเที่ยวให้กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง