‘ส.ร่วมไทย’ พลิกโฉม ‘อาหารทะเลแห้งไทย’ อย่างไร? ให้โกอินเตอร์ระดับโลก
จากแนวคิดรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกที่ต้องการต่อยอดธุรกิจครอบครัว (Family Business) ผู้ประกอบการ SME ซึ่งดำเนินกิจการจำหน่ายอาหารทะเลแห้ง สินค้าเกษตรแห้ง และผลไม้แห้งแปรรูปต่างๆ ที่เน้นคุณภาพ ก่อนเป็นเหตุผลให้คุณนฤพนธ์ ธนารักษ์สิริถาวร กรรมการบริหาร บริษัท ส.ร่วมไทย จำกัด ใช้การบริหารแบบ Quality Management ผนวกกับแนวคิดสร้างแบรนด์เปลี่ยนภาพลักษณ์ ‘อาหารทะเลแห้ง’ ให้สะอาด ทันสมัย มัดใจผู้บริโภคยุคใหม่ จนประสบความสำเร็จทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ
![](https://admin.bangkokbanksme.com/uploads/topics/16474906755722.jpg)
คุณนฤพนธ์ ธนารักษ์สิริถาวร กรรมการบริหาร บริษัท ส.ร่วมไทย จำกัด
จากร้านเล็กๆ ในเยาวราชสู่โรงงานแปรรูปอาหารทะเลแห้งแถวหน้าเมืองไทย
คุณนฤพนธ์ ธนารักษ์สิริถาวร กรรมการบริหาร บริษัท ส.ร่วมไทย จำกัด เล่าถึงที่มาของธุรกิจว่า แต่เดิมเราเป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่เริ่มต้นธุรกิจจากร้านเล็กๆ ในเยาวราช ก่อตั้งเมื่อปี 2515 จำหน่ายอาหารทะเลแห้งแปรรูป เช่น กุ้งแห้ง ปลาทูเค็ม ปลาอินทรีเค็ม หมึกแห้ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่เราทำมาตั้งแต่ดั้งเดิม ต่อมาเมื่อปี 2541 ได้มาเปิดบริษัทใหม่ที่มหาชัยในขณะนั้นเราทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป จนกระทั่งเมื่อปี 2545 เริ่มมีการส่งออกต่างประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง และสิงคโปร์
หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ฮ่องกง สิงคโปร์ ถือเป็นฮับการค้าระหว่างประเทศของยุโรป สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เพราะสมัยนั้นโลจิสติกส์ยังไม่พัฒนาเหมือนทุกวันนี้ และภาษีนำเข้าต่างๆ ก็ยังสูงมาก ทำให้เราต้องลงสินค้าที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่งลักษณะการขายจะเป็นการประมูลสินค้า ซึ่งในขนาดนั้นมีลูกค้าชาวฮ่องกงได้ต่อยอดส่งสินค้าของ ส.ร่วมไทย ไปขายที่สหรัฐอเมริกา จนปี 2548 ได้มีโอกาสส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องผ่านเทรดเดอร์จากฮ่องกง สิงคโปร์อีกแล้ว
“จุดเปลี่ยนที่นำมาสู่การประสบความสำเร็จ เกิดจากการที่เราโพสต์สินค้าลงแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายออนไลน์ชื่อดังอย่าง อาลีบาบา ขณะนั้นถือว่ายังใหม่มากใช้งานยากไม่เหมือนปัจจุบัน ซึ่งเขาก็ติดต่อเรากลับมา ต้องบอกว่าสมัยนั้นไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อย่าง Facebook, Line ที่สะดวกเหมือนเช่นทุกวันนี้ ต้องใช้วิธีติดต่อและส่งรูปทางอีเมลเป็นหลัก จากความพยายามดังกล่าวทำให้หลังจากนั้นได้เริ่มส่งออกไปสหรัฐฯ และแคนาดา ตามมาอีกหลายๆ ประเทศ โดยช่วงแรกสินค้าที่ส่งไปเป็นอาหารทะเลแปรรูปใช้เป็นวัตถุดิบไม่ใช่สินค้าพร้อมรับประทาน”
![](https://admin.bangkokbanksme.com/uploads/topics/16474907174872.jpg)
สร้างแบรนด์คุณภาพเจาะตลาด เข้าถึงผู้บริโภคง่ายขึ้น
คุณนฤพนธ์ เล่าว่า เมื่อปี 2553 บริษัทประสบปัญหาสภาพคล่อง จากการที่ลูกหนี้ค้างชำระถึง 20 ล้านบาท เมื่อเจอปัญหาดังกล่าวจึงมองว่า ‘ส.ร่วมไทย’ จะป้อนวัตถุดิบให้กับซัพพลายเออร์อย่างเดียวไม่ได้แล้วต้องกระจายความเสี่ยง จึงเริ่มศึกษาและมุ่งมั่นในการสร้างแบรนด์ด้วยตัวเองอย่างจริงจัง
โดยเริ่มจากนำผลไม้อบแห้งจากที่นำเข้ามาคัดเกรดแปรรูปแล้วนำมาอบและคัดคุณภาพแพ็กสินค้าส่งในโมเดิร์นเทรดต่างๆ ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จากนั้นปรับรูปแบบให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ต้องซื้อเกินความจำเป็น โดยการทำเป็นซองขนาดเล็ก 20 บาท ไปวางในร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) และ 7-Eleven, Family Mart, Lawson เหล่านี้เป็นต้น จากการที่ลดขนาดสินค้ามาเป็นขนาดที่จับต้องง่ายสบายกระเป๋า ทำให้ยอดขายเราสูงขึ้นอย่างมาก ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี
![](https://admin.bangkokbanksme.com/uploads/topics/16474907329587.jpg)
‘อาร์แอนด์ดี’ Key Success ของธุรกิจ
คุณนฤพนธ์ ฉายมุมมองว่า หลังจากที่สร้างแบรนด์จนเป็นที่รู้จักในตลาดแล้ว จึงมีความคิดที่จะจัดตั้งแผนกวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ อาร์แอนด์ดี (Research and Development: R&D) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการ SME ให้ประสบความสำเร็จ ต้องยอมรับว่า SME โดยทั่วไปมักจะไม่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ อาจจะด้วยเหตุที่ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูงในการจะพัฒนาสินค้าขึ้นมาต้องมีการวางแผนการใช้งบในการพัฒนาสินค้า
ซึ่งหัวใจในการทำอาร์แอนด์ดี ตัวผู้บริหารต้อง Support คือหนึ่งต้องให้นโยบายที่ชัดเจนถูกต้องและต้องมีการสื่อสารภายในองค์กร เช่น แผนกขายต่างประเทศต้องสื่อสารว่า บริษัทมีสินค้าอะไร ลูกค้าต้องการอะไร ต้องประชุมกับฝ่ายอาร์แอนด์ดี ว่าปัญหาของลูกค้าอยู่ตรงไหน เราจะพัฒนาปรับปรุงและแก้ไขอย่างไรให้ตรงใจที่ลูกค้าต้องการ ที่สำคัญต้องกล้าลงทุนนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาสินค้า จนปัจจุบันนี้บริษัทสามารถส่งออกอาหารทะเลแปรรูปไปหลายๆ ประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เกาหลี,จีน, สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ไปจนถึงตะวันออกกลาง
![](https://admin.bangkokbanksme.com/uploads/topics/16474907408450.jpg)
วางกลุ่มลูกค้าแต่ละแบรนด์ให้ชัดเจน เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงใจ
คุณนฤพนธ์ อธิบายถึงโพสิชั่นนิ่งของสินค้าแต่ละแบรนด์ว่า ต้องมีการวาง Positioning ของแต่ละแบรนด์ให้ชัดเจน อย่างเช่น ฟรุ๊ตมาเนีย (Fruitmania) เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ส่วน โกหมึก (GOMUC) จะเป็นอาหารว่างรับประทานเล่น ขณะที่ ธนา (TANA) จะเน้นเรื่องอาหารทะเลแปรรูป และ สามบัว (SAMBUA) จะเป็นกลุ่มอาหารธัญพืชและสินค้าเกษตรแปรรูป
สำหรับหลักการที่ ส.ร่วมไทย ยึดมั่นในการทำธุรกิจมาตลอด คือสินค้าต้องสะอาด ถูกสุขอนามัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการนำไปจำหน่ายต่อ ต้องดีกว่าสะอาดกว่าสินค้าที่จำหน่ายอยู่ตามตลาดทั่วไป โดยเน้นวัตถุดิบคุณภาพและควบคุมกระบวนการผลิตด้วยมาตรฐานสากล GMP, HACCP, FSSC22000 และ HALAL ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ทั้งในและต่างประเทศ
ผลิตภัณฑ์ ส.ร่วมไทย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง (Ready to Cook) และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) โดยเป้าหมายของบริษัทคือ ความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพและเสิร์ฟอาหารที่ดีต่อผู้บริโภคทุกวัน
![](https://admin.bangkokbanksme.com/uploads/topics/16474907487287.jpg)
ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อความเติบโตของธุรกิจที่ยั่งยืน
คุณนฤพนธ์ ขยายความเรื่องนี้ว่า เมื่อก่อนทำธุรกิจแบบทำทุกอย่างเองหมด เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ต้องการเติบโตมากขึ้น จึงต้องมีการปรับบริหารงานให้มีคุณภาพ (Quality Management) มากขึ้น รวมถึงการวางโครงสร้างองค์กรใหม่ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการวางโครงสร้างที่ดีต้องประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับงาน (Put the right man on the right job)
และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ระบบและแผนงานที่ดี ซึ่งการที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนต้องมีระบบที่สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ทั้งระบบ ทำให้บุคลากรเข้าใจ Process ของงานไปในทิศทางเดียวกันช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการมีระบบที่ดีจะช่วยรองรับการทำงานในอนาคต ซึ่งเราจะเห็นความผิดพลาด และสามารถนำมาปรับแก้ไขได้ง่าย - รวดเร็วขึ้น ถือเป็นแนวคิดที่สำคัญของผู้บริหารในการพัฒนาองค์กร
![](https://admin.bangkokbanksme.com/uploads/topics/16474907564836.jpg)
มองภาพธุรกิจในการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ
คุณนฤพนธ์ สะท้อนมุมมองว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจไปที่เวียดนาม เนื่องจากตลาดเวียดนามยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพของไทย เพราะ Mindset ของคนเวียดนามยังเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าของไทย แต่แนวโน้มในอนาคตเวียดนามเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าเพื่อมาแข่งขันในเรื่องคุณภาพกับสินค้าไทยเช่นเดียวกัน โดยเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ฝากถึงผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการประสบความสำเร็จ ควรพัฒนาคุณภาพสินค้าขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เพราะคุณภาพที่ดีจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันในตลาดการค้าสากลได้” คุณนฤพนธ์ กล่าวในท้ายสุด
รู้จัก ‘บริษัท ส.ร่วมไทย จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่