รายงานของบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย ผู้ให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร จัดทำ Salary Guide 2020 คู่มือฐานเงินเดือนประจำปี 2563 พบว่าอาชีพที่มีเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุด ได้แก่ อาชีพในสาย IT ขณะที่เงินเดือนผู้บริหารเพิ่มสูงทุกสาขา สะท้อนความต้องการบุคลากรเพื่อปรับตัวธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
เมื่อเทียบกับเรทเงินเดือนเมื่อ
5 ปีที่แล้ว พบว่า
ฐานเงินเดือนพนักงานออฟฟิศของเด็กจบใหม่มีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย
จากเดิมอยู่ที่ต่ำสุด 9,000 บาท มาเป็นเริ่มต้น 12,000 บาท และสูงสุดที่ 40,000 บาท โดยในปีนี้พบว่าเด็กจบใหม่ส่วนใหญ่จะได้เงินเดือนราว 18,000 - 25,000 บาท
ส่วนอาชีพทำเงินสูงสุดสำหรับเด็กจบใหม่ในปีนี้
ได้แก่ อาชีพ “Programmer/Software
Developer” ที่มีเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่
40,000 บาท
เนื่องจากเป็นสายงานที่มีความต้องการจากตลาดสูง หลายๆ
องค์กรต่างต้องการพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง
หากเด็กจบใหม่มีทักษะและความสามารถในการเขียนโปรแกรมได้ตรงตามที่องค์กรกำหนด
สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ก็มีโอกาสที่จะได้เงินเดือนเริ่มต้นสูงถึง 40,000 บาท หรืออาจมากกว่านั้น
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเงินเดือนของแต่ละองค์กรด้วย
สาขาอาชีพรองลงมาในอัตราเงินเดือนสูงสุด 35,000 บาท ได้แก่ อาชีพ Sales Engineer, Project Coordinator, Personal Assistant, เลขานุการ, ล่ามภาษาญี่ปุ่น และตำแหน่งงานด้านการขายที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น
ผู้บริหารระดับสูงเงินเดือนพุ่งทุกสาขา
นอกจากนี้
ยังพบว่าเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกตำแหน่ง
ซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพการตลาดที่มีการแข่งขันสูง
แต่ละองค์กรต่างต้องการคนเก่งในหลากสาขา เพื่อเข้ามากำหนดทิศทางการบริหารงาน
และเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วย DigitalTransformation แต่จำนวนของผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบันยังอยู่ในสภาวะขาดแคลน
(Talent Shortage) องค์กรจึงต้องเพิ่มค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารระดับสูง
เพื่อที่จะสามารถดึงดูดและเก็บรักษาผู้บริหารมือดีได้มากขึ้น
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่พบว่าช่องว่างเงินเดือนระหว่างพนักงานระดับปฏิบัติการกับผู้บริหารมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ
ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ที่ทำให้กลุ่มพนักงานระดับปฏิบัติการ
ถูกทดแทนด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติ ส่งผลให้เกิดภาวะแรงงานล้นตลาด
ขณะที่ผู้บริหารมืออาชีพที่มีประสบการณ์สูงและมีทักษะทางด้านดิจิทัล
กลับเกิดภาวะขาดแคลน ทำให้อัตราค่าตอบแทนของพนักงานในกลุ่มผู้บริหารพุ่งสูงขึ้น
และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่างานในตำแหน่งอื่นๆ
องค์กรจะปรับตัวเป็น
Lean Organization
อย่างไรก็ตาม จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าหลายองค์กรพยายามรัดเข็มขัด
ลดต้นทุนในด้านต่างๆ มากขึ้น ซึ่งรวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากรบุคคลด้วย
องค์กรจะปรับตัวสู่การเป็น Lean Organization ที่บริหารโดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งทำให้แนวโน้มการจ้างงานในปัจจุบันจึงมีการจ้างงานในรูปแบบฟรีแลนซ์เข้ามาผสมผสานกันมากขึ้นเพื่อลดรายจ่ายประจำของบริษัท
ส่วนการจ้างงานในรูปแบบพนักงานประจำ องค์กรต้องการพนักงานที่มีทักษะที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากเหตุผลเรื่องความคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นเพราะธุรกิจในปัจจุบันมีการ Disruption อยู่ตลอดเวลา องค์กรจึงต้องการพนักงานที่มีความรู้และทักษะรอบด้านเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำงานในสายการตลาด นอกจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสายงานที่ต้องมีแล้ว ทุกวันนี้คุณยังจำเป็นต้องมีทักษะด้านดิจิทัล ทักษะด้านการออกแบบ และมีความรู้ความเข้าใจในงาน IT หรือ E-Commerce เพิ่มเติมด้วย
พัฒนาทักษะเดิม เพิ่มทักษะใหม่
สำหรับแนวโน้มในอนาคต การกำหนดอัตราเงินเดือนจะขึ้นอยู่กับทักษะของผู้สมัครมากกว่าใบปริญญา เพราะความรู้ที่เรียนมาจะล้าหลังกว่าความรู้ในโลกการทำงานจริง ใบปริญญาจึงวัดอะไรไม่ได้ไม่มากนัก สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณมีความรู้และทักษะที่เป็นที่ต้องการแค่ไหน ดังนั้นหากอยากก้าวหน้าในยุคนี้สิ่งสำคัญที่คนทำงานต้องมีคือการหมั่นเรียนรู้และพัฒนาทักษะอยู่เสมอ ทั้งการเสริมทักษะใหม่ (Upskilling) และพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่ (Reskilling) ทักษะที่เหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวคุณ ทำให้องค์กรยอมจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้นและผลักดันคุณสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในองค์กร