ปี 2021 หรือ 2564 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์
นับเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ โดยประชากรชาวไทยที่มีอายุ 60
ปีขึ้นไป จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรทั้งหมด 66.4 ล้านคน และอีก 20
ปีข้างหน้า หรือในปี 2583 จะมีผู้สูงวัยจำนวน 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3
ของประชากรไทยจะเป็นผู้สูงวัย และผู้สูงวัยอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป จะมีมากถึง 3,500,000 คน
ทำให้ตลาดผู้สูงวัยกลายเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง
และเป็นที่จับตามองของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเตรียมออกผลิตภัณฑ์สินค้าเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าผู้สูงขึ้น
เนื่องจากกลุ่มนี้มีอำนาจต่อรองในการซื้อสินค้าสูง เพราะมีกำลังเงินเหลือเฟือเพื่อการใช้จ่าย
หลังจากเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงวัยเกษียณจากที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิต
ปัจจัยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการจุดประกายไอเดีย
ทำให้ทั้งบริษัทเล็กและบริษัทใหญ่ต่างเตรียมออกผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ คุณกาญจนา ตั้งเสรีสุขสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าและการตลาด บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มองว่า เทรนด์การตลาดที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ประกอบไปด้วย โครงสร้างของประชากรที่คนไม่แต่งงานจะมีมากขึ้น ครอบครัวจะมีขนาดเล็กลง,กลุ่มคนสูงวัยจะมีเยอะขึ้นเพราะคนดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ดังนั้นนักการตลาดควรปรับตัวในการผลิตสินค้า บริการ หรือแพ็กเกจจิ้ง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าผู้สูงวัย ตลอดทั้งแก้ปัญหาให้คนกลุ่มนี้ในการใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ผู้สูงวัยกลุ่มผู้บริโภคเงียบ (Silence
Consumer)
แนววิธีคิดและพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มสูงวัยจะไม่เหมือนกับกลุ่มอื่น
และจะเป็นไปในลักษณะของกลุ่มผู้บริโภคเงียบ หรือ Silence
Consumer คือ มีความรู้และประสบการณ์สูง
อีกทั้งยังมีการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Facebook, Instagram,
Youtube หรือแม้กระทั่งการใช้ Google ในการหาข้อมูล
และโดยส่วนใหญ่นิยมใช้ Line ในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน
หรือกับลูกหลาน แต่ในทางกลับกันจะไม่ค่อยแสดงออกหรือพูดในสิ่งที่ต้องการตรงๆ ซึ่ง
คุณกาญจนา มองว่าเป็นความท้าทายใหม่ที่น่าสนใจ ในการปรับแนวทางการทำการตลาด
และการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ
“การออกสินค้าใหม่จึงต้องเป็นสินค้าที่ช่วยเหลือหรือช่วยคลายความกังวลได้จริงๆ
โดยความกังวลใจหลักของผู้สูงวัยมักจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
หรือกังวลว่าตนเองจะเป็นภาระของลูกหลาน
ทำให้ปิดโอกาสตัวเองในการทำกิจกรรมร่วมกับลูกหลาน จนเกิดเป็นผลกระทบด้านความสุข
ความสัมพันธ์ในครอบครัวตามมา”
กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตอบโจทย์ตลาด
โอกาสในการเข้าถึงเศรษฐกิจสูงวัย หรือ
Silver Economy คือ
กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตอบโจทย์ 5 ปัญหาหลักของผู้สูงวัย คือ กระดูก เส้นเอ็น
และข้อต่อ สายตา ผิวพรรณ ผมและเล็บ ซึ่งตรงกับผลการสำรวจของบริษัท ไอ.ซี.ซี.
อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เกี่ยวความกังวลเรื่องสุขภาพของคนวัย 50 ปี
ขึ้นไป พบว่า ความกังวลเรื่องกระดูกและข้อต่อมาเป็นอันดับหนึ่ง
ตามด้วยเรื่องของสายตา และเรื่องของเส้นผมและเล็บ ที่ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าออกมาตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของกลุ่ม
Silver Age ได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันตลาดธุรกิจอาหารเสริมของไทยมีมูลค่ามากกว่า
8.5 แสนล้านบาท ส่งผลทำให้บริษัทรายเล็กรายใหญ่ต่างต้องการเข้าร่วมชิงส่วนแบ่งจากตลาดกลุ่มนี้
จึงกลายเป็นภารกิจที่ท้าทายของแต่ละบริษัทที่ต้องออกผลิตภัณฑ์ให้มีข้อได้เปรียบจากการเติบโตของกลุ่ม
Silver Age ที่เปลี่ยนมุมมองของกลุ่มผู้บริโภคสูงวัยไปจากเดิม
เพราะกว่าครึ่งของกลุ่ม Silver Age จะมองหาสิ่งที่สามารถเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของพวกเขาได้
ทั้งความรู้สึกที่ดูเด็กกว่าอายุจริง
ต้องการร่างกายที่แข็งแรงเพื่อเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก
หรือสิ่งที่ไม่มีโอกาสได้ทำตอนอายุน้อย
รวมถึงมีความแข็งแรงพอที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกรั้วบ้าน
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มนี้มีสูง ทั้งยังปราศจากความกังวล เพราะมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบในชีวิตน้อยลง ดังนั้นการเลือกผลิตภัณฑ์และแบรนด์ต่างต้องมีคุณประโยชน์สูงสุดจากสารสำคัญในธรรมชาติ มีราคาที่คุ้มค่าและเข้าถึงง่าย จึงตอบโจทย์ด้านคุณภาพชีวิตและความสุขของผู้สูงวัยได้เป็นอย่างดี
นักการตลาดต้องรับมืออย่างไร
ต้องปรับวิธีคิดใหม่ให้สอดคล้องกับผู้สูงอายุที่มีวิธีคิดไม่เหมือนกลุ่มอื่น
อาจจะไม่ใช้ผลิตสินค้าเพื่อให้โดนใจ แต่ต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่ช่วยเหลือเขา
หรือ “คลายความกังวล” ให้เขา ซึ่งหลักๆ
แล้วผู้สูงอายุมีความกังวลในเรื่องไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หรือสูญเสียความสามารถ
แบรนด์ต้องทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุคลายกังวลทั้งเรื่องจิตใจและร่างกาย โดยหลักๆ
มีทั้งหมด 5 ข้อ
1. นวัตกรรม สินค้าต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ
ออกมาเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้โดยตรง
2. แพ็กเกจจิ้ง ต้องตอบโจทย์การใช้งาน
อำนวยความสะดวก เช่น ขวดที่เปิดง่าย มีตัวหนังสือบนฉลากที่ใหญ่
หรือแพ็กไซส์ที่เล็กลงสำหรับทานคนเดียว ไปจนถึงการออกแบบสื่อต่างๆ
ต้องตัวอักษรใหญ่ ใช้สีที่เหมาะสม
3. โปรโมชัน
เพื่อเป็นการดึงดูดในการซื้อขาย
4. เดลิเวอรี
เป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจรีเทลทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพราะคนกลุ่มนี้ชอบช้อป
แต่อาจจะไม่มีกำลังในการขนของ ต้องมีบริการจัดส่งให้ถึงบ้าน
5. จุด Rest
Spot หรือจุดพักผ่อน ในปัจจุบันอาจจะมีเลานจ์สำหรับลูกค้าพรีเมียม
แต่ในอนาคตอาจจะต้องมีจุดพักผ่อนสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มเติม

