ในศตวรรษที่ 21 ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ
สังคม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เข้าใจกันว่าเป็นยุค 4.0 หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่
4 ที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม แม้กระทั่งบุคคลในสังคม ต่างจำเป็นต้องมีการปรับตัว
สำหรับภาคเกษตร ซึ่งเป็นอีกภาคหนึ่งที่ต้องปรับตัวอย่างมากสู่การเป็นเกษตร
4.0 แต่ก็มีคำพูดที่ย้อนแย่งให้ชวนขบคิดและเจ็บปวดว่า “เราอยู่ในยุคเกษตร 4.0 แต่เกษตรกรไทยยัง 0.4”
เป็นคำที่ฟังแล้วสื่อให้เห็นถึงระยะห่างระหว่างเกษตรกรกับยุค 4.0
เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของ “โครงการเกษตรก้าวหน้า ธนาคารกรุงเทพ” ที่ได้มีโอกาสพบกับเกษตรกรก้าวหน้าหลายราย ที่โครงการฯ ได้พยายามหาตัวอย่างความสำเร็จ มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่สามารถปรับตัวใช้เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้มีความเข้าใจในตัวเกษตรกรมากขึ้น
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ประเด็นสำคัญของเกษตรกรที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้นั้นจะต้องเข้าใจว่า
จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อจุดประสงค์อะไร ความเข้าใจนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญด้านหนึ่ง จากบทความ
“วิถีเกษตรก้าวหน้า” ที่ตีพิมพ์ไว้ใน สูจิบัตร เนื่องในพิธีมอบรางวัล “เกษตรก้าวหน้า พ.ศ. 2558” ที่เขียนโดย ท่านโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ มีใจความว่า
วิถีของเกษตรก้าวหน้า คือ คำว่า “การจัดการ” วิธีคิดที่ว่ารายได้ของเกษตรกรมาจากความพอใจของผู้ซื้อ
รายได้ของเกษตรกรจึงไม่ได้อยู่กับว่าผลผลิตได้มากน้อยเพียงใด แต่ขึ้นอยู่กับว่าผลผลิตของเกษตรกรขายให้กับใคร
ปริมาณเท่าใด เวลาใด และคุณภาพใด ทั้งเกษตรกรต้องเข้าใจถึงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
ต้องพิจารณาสินค้าในมิติของผู้บริโภค ไม่ใช่ยุติลงเพียงสภาพสินค้าหน้าฟาร์มของตน
เห็นได้ชัดว่าแนวคิดของวิถีเกษตรก้าวหน้า คือ ความเข้าใจการจัดการของเกษตรกร และเกษตรกรก้าวหน้าที่มีความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ ก็จะมีจุดประสงค์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยในการจัดการในด้านต่างๆ ซึ่งเกษตรกรก้าวหน้าที่นำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการต่างๆ
Think basic USE Advance
ปัจจุบันเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้เกษตรกรสามารถจัดการในประเด็นต่างๆ
ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต
การตลาด หรือการสื่อสารกับผู้บริโภค ผ่านเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นปัจจัยที่สำคัญคือ วัตถุประสงค์ของการใช้เทคโนโลยีและความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี
จึงเป็นประเด็นใหญ่ของเกษตรกร โครงการเกษตรก้าวหน้าธนาคารกรุงเทพ
ได้พบเกษตรกรก้าวหน้าหลายรายที่สามารถใช้เทคโนโลยีมาใช้ และสามารถทำให้รายได้เพิ่มขึ้นจากการนำเทคโนโลยีมาจัดการทั้งการผลิตและการตลาด
ถึงแม้ว่าปัจจัยพื้นฐานราคาสินค้าเกษตรยังคงเป็นปัจจัยเดิมก็ตาม
ซึ่งจากหนังสือเคล็ดลับการตลาด เรียนรู้จากเกษตรกรไทย ที่ได้กล่าวถึงปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดราคาสินค้าเกษตร
คือปริมาณการผลิตกับความต้องการของตลาด เมื่อการผลิตสินค้าประเภทใดมีจำนวนมากเกินความต้องการ
ราคาจะต่ำลง ปัจจัยพื้นฐานทางด้านราคา
ประการที่สอง คือ
หลักการที่ว่าราคาส่วนสัมพันธ์กับคุณภาพของสินค้า
คุณภาพนั้นกำหนดโดยความต้องการของตลาด
โดยสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีกว่าจะได้ราคาที่มากกว่าสินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่า
จะเห็นว่าประเด็นทั้ง 2
ประเด็นที่มีผลต่อราคาของผลผลิตของเกษตรกรที่สำคัญนั้น ปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหานี้ได้มากขึ้นกว่ายุคก่อนมาก
ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณสินค้าให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค
ด้านการผลิตผสานการใช้เทคโนโลยี
เกษตรแม่นยำสูงหรือ Precision Agriculture เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้มีความแม่นยำในการผลิต
เช่น การใช้เทคโนโลยีในการควบคุมระบบน้ำ อุณหภูมิ หรือจะเป็นระบบ IoT ซึ่งทำให้เกิดความแม่นยำในการผลิต
ลดความเสี่ยงในการผลิต ซึ่งในปัจจุบันมีแอปพลิเคชันหรือระบบต่างๆ
มาช่วยทำให้การทำการเกษตรแม่นยำขึ้น
ลดความเสี่ยงในการผลิต และการสร้างคุณภาพของสินค้า ไม่ว่าจะการตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ
ในประเด็นการผลิตนี้ เกษตรกรจะเข้าใจวัตถุประสงค์ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อจะพัฒนาการผลิตของตัวเอง
ซึ่งจากการพบเกษตรกรก้าวหน้า จะเห็นว่าเกษตรกรมีวัตถุประสงค์ในการใช้เทคโนโลยีในแก้ปัญหาด้านการผลิตได้
พัฒนามาตรฐานคุณภาพของสินค้าตัวเอง แต่สิ่งที่สำคัญต่อไปคือความเข้าใจเทคโนโลยี และการเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม
และการเลือกให้เหมาะกับความจำเป็นกับบริบทของตัวเกษตรกรเอง ในเรื่องความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีและข้อจำกัดส่วนตัวนี้
ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเกษตรกรทั่วไปกับเกษตรกรก้าวหน้า
ด้านการบริหารจัดการตลาด
การบริหารจัดการด้านการตลาดเป็นข้อจำกัดสำหรับเกษตรกรมาโดยตลอด ซึ่งเป็นช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่การที่มีเทคโนโลยีที่เข้ามานั้น
ช่วยสามารถลดข้อจำกัดนี้ไปได้ อาทิ ช่องทางการตลาดใน Social media ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทำให้เกษตรกรเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นมาก
และเป็นโอกาสหลายๆ อย่าง ทั้งการทำความเข้าใจกับความต้องการของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
ซึ่งทำให้ช่วยแก้ปัญหาข้อมูลการผลิตที่ไม่สัมพันธ์กับข้อมูลการตลาดได้มากขึ้นด้วยตัวเกษตรกรเอง
ขณะเดียวกัน ช่องทาง Social media ทำให้เกษตรกรเข้าใจเรื่องคุณภาพที่ผู้บริโภคต้องการมากขึ้น
ที่สำคัญ เกษตรกรสามารถสื่อสาร นำเสนอสินค้าให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงได้เป็นวงกว้างมากขึ้นกว่าด้วย
ส่งผลให้เกษตรกรก้าวหน้าบางราย สามารถกำหนดราคาได้ในพืชบ้างชนิดที่ปัจจัยคุณภาพ มีความสำคัญมากๆ
โดยไม่ต้องอ้างอิงกับราคาตลาด เช่น พืชผัก
ผลไม้ และยังส่งผลทำให้เกิดการสร้างแบรนด์สินค้าในภาคเกษตร เกิดการสั่งจองสินค้าล่วงหน้า
เกิดแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับขายสินค้าเกษตรมากมาย
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่เกษตรกรต้องปรับตัวหรือพัฒนาบทบาทการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวจนถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การจัดส่งสินค้า การใช้ Social media หรือวิธีการและเงื่อนไขการเข้าร่วมแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้เกษตรกรต้องเรียนรู้และปรับตัวมากขึ้น
จัดการเทคโนโลยี เพิ่มผลิตภาพและรายได้เกษตรกร
การจัดการเทคโนโลยียังคงต้องเข้าใจปัจจัยพื้นฐานที่มีบทบาทต่อรายได้ของเกษตรกรเอง อย่างน้อยมี 4
ประการที่เกษรตรก้าวหน้าจะนำมาประกอบการเลือกใช้เทคโนโลยี ซึ่งต้องพิจารณาทั้งการผลิตและการตลาดในบริบทของตนเอง หรือแผนการผลิตและการตลาดของตน
1. คุณภาพสินค้า การใช้เทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาคุณภาพ
คือการแนวคิดที่จะใช้ในการกำหนดหรือพัฒนาคุณภาพผลผลิตของเกษตรกร
โดยเชื่อมโยงกับแผนการตลาด ซึ่งการใช้เทคโนโลยีในประเด็นนี้ เกษตรกรอาจจะใช้เทคโนโลยีในหลายมิติ
ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีในแง่การเก็บข้อมูลที่ใช้ DATA มาปรับปรุงการผลิต การตรวจสอบ และการใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดแรงงาน
แต่เรื่องที่สำคัญที่เกษตรก้าวหน้าต้องมีคือความรู้พื้นฐานทางการเกษตรของพืชต่างๆที่เกษตรกรปลูกก็มีความจำเป็นอย่างมาก
อีกส่วนการคือการพัฒนาคุณภาพให้ตอบโจทย์ทางการตลาด
ซึ่งแน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีแล้วก็อาจเป็นไปได้ยากที่จะสามารถทำให้ 100% เป็นคุณภาพเดียว แต่ก็สามารถช่วยให้สัดส่วนสินค้าคุณภาพสูงให้มากที่สุด แต่ก็คงยังต้องมีสินค้าคุณภาพลองลงมาด้วย
2. เวลา การใช้เทคโนโลยีที่สามารถกำหนดเวลาการออกผลผลิตได้นั้นจะมีผลต่อราคาได้มาก
โดยเฉพาะการให้ผลผลิตออกเวลาที่ผู้บริโภคต้องการ เช่นการที่ใช้ Applications ดูสภาพอากาศเพื่อวางแผนการผลิต ซึ่งถ้าเกษตรสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยกำหนดระยะเวลาของผลผลิต
รวบคู่กับความรู้พื้นฐานที่เกษตรกรที่ต้องเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ ในการผลิตสินค้าเกษตรกร
อันเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดเวลาออกผลผลิตเป็นอย่างมาก ก็จะมีผลโดยตรงต่อราคาสินค้าเกษตรและรายได้ของเกษตรกร
3. ปริมาณ การใช้เทคโนโลยีในประเด็นปริมาณอาจจะแยกเป็น
2 ส่วน คือ การเพิ่มผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในเชิงปริมาณ คือการใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น
แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประเด็นใหญ่ที่น่าจะมีการสนับสนุน ประเด็นการใช้เทคโนโลยีในการร่วมกลุ่มเกษตรในเชิงปริมาณ
การรวมกลุ่มในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน
ถ้ามีเทคโนโลยีในการบริหารจัดการกลุ่มจะเกิดเป็นประสิทธิผลมากขึ้น
ซึ่งในประเด็นนี้การรวมกลุ่มของเกษตรกรนั้นจะต้องเป็นการรวมกลุ่มในวัตถุประสงค์เดียวกันโดยสมัครใจ การรวมตัวกันขาย ซึ่งเห็นได้ว่ามีแพลตฟอร์มทางการเกษตรมากมาย
ทั้งสินค้าชนิดเดียวกัน หรือหลายชนิดสินค้าแต่เน้นลักษณะสินค้า เช่น ขายสินค้า organic การจัดการปริมาณ ก็จะมีการใช้
Applications ในการจัดการด้านปริมาณอยู่บ้างในกลุ่มพืชอุตสาหกรรม
และการทำเกษตรแปลงใหญ่
4. การเชื่อมโยงกับผู้ซื้อ การใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันกับการเชื่อมโยงกับผู้ซื้อได้เปิดโอกาสเป็นอย่างมาก
เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตด้วยตัวเองได้เป็นวงกว้างและมีความใกล้ชิดกับผู้ซื้อมากขึ้น
โดยเฉพาะสามารถเชื่อมโยงกับผู้ซื้อระดับบนที่ต้องการสินค้าที่มีความพรีเมียมได้ ยิ่งจะทำให้เกษตกรเข้าถึงตลาดที่มั่นคงขึ้น
ทั้งนี้เกษตรกรมีการวางแผนทั้งปริมาณ ราคา และคุณภาพล่วงหน้า
จนเกษตรกรก้าวหน้าบางรายสามารถขายผลผลิตล่วงหน้า ซึ่งเป็นลักษณะ Individual
Contact หรือการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถมีรายได้และมีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น
กระนั้น ผลผลิตของเกษตรกรอาจต้องมีตลาดที่หลากหลาย ทั้งมีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงสินค้าเข้าสู่ตลาดรูปแบบเดิม โดยวิธีที่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้การยังคงเป็นเรื่องการรับรองมาตรฐานต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันก็จะลดความเสียงทางด้านราคาของเกษตรไปได้เป็นอย่างมาก
ทั้งหมดนี้ คือ วิถีเกษตรกรก้าวหน้า เกษตรกรยุค 4.0 ที่มีความรู้ ไม่จำกัดเพียงแค่การจัดการผลิต แต่ยังเข้าใจตลาด เข้าถึงผู้บริโภค และที่สำคัญสามารถประยุกต์ใช้และจัดการเทคโนโลยีด้านเกษตรได้อย่างเหมาะสมตรงตามวัตถุประสงค์