ในยุคที่ดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ
สังคม ตลอดจนเรื่องพื้นฐานทั่วไป ได้มีการนำ“ระบบอัจฉริยะ”
หรือที่มักเรียกว่า “SMART” เข้ามาเป็นเฟืองหลักสำหรับขับเคลื่อน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็น Smart Industry ในที่นี้อาจเรียกรวมๆ
ว่า โรงงานอัจฉริยะก็ได้เช่นกัน
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตที่มีความทันสมัย การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เอื้อต่อการทำงานให้สะดวก
ง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมทั้งในเรื่องของการประหยัดพลังงานและการใส่ใจสิ่งแวดล้อม
โดยระบบสมาร์ทเหล่านี้นับเป็นสิ่งที่หลาย ๆ
สถานประกอบการควรหันมาใช้และให้ความสำคัญ
เนื่องจากเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างทั้งภาพลักษณ์ การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
และเพื่อให้รับมือได้ทันกับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme

รู้จัก 4 ความ “SMART” แบบญี่ปุ่น นายทาดาชิ โยชิดะ ประธานสมาคมบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น หรือ Japan Management Association (JMA) กล่าวว่า Smart Industry จะไม่ใช่แค่แนวคิดในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม หากแต่จะเป็นพัฒนาการและการปฏิวัติรูปแบบโรงงานแบบใหม่ ที่หลายๆระบบจะต้องมีความเป็นอัจฉริยะ มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ชาญฉลาด และมีเครื่องจักร หรือกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในการก้าวไปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะนั้น สถานประกอบการต่างๆจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติของความเป็น “SMART” 4 ประเภท ได้แก่
Smart People คือการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะและมีความพร้อมกับการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในยุคใหม่อยู่เสมอ
ซึ่งควรจะเริ่มตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา เช่น ทักษะการเขียน Coding ทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเฉพาะทาง
การผลิตวิศวกรที่สามารถรองรับความต้องการและผลกระทบทางอุตสาหกรรม
ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรด้านความเสี่ยง วิศวกรการเงิน วิศวกรด้านไอโอที
นอกจากนี้ยังควรจะต้องพัฒนาความสามารถเฉพาะทางที่หุ่นยนต์ หรือ AI ไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้
เพื่อรับมือกับแนวโน้มการถูกแทนที่แรงงานด้วยเครื่องมือดังกล่าวในอนาคต
Smart
Technology & Innovation โดยเป็นการนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในทุกกระบวนการทางอุตสาหกรรม
เพื่อให้ผลลัพธ์ในกระบวนการผลิตและการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลเสียให้น้อยลงที่สุด
ซึ่งเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในยุคใหม่คือ IoT (Internet of Things) เป็นการนำระบบอินเทอร์เน็ตมาเชื่อมโยงกับระบบต่างๆภายในสถานประกอบการ
เพื่อให้การสั่งการทำงานง่าย รวดเร็ว และสามารถกระทำได้ในทุกที่ทุกเวลา
ส่วนต่อมาคือ Big Data ซึ่งจะเป็นระบบที่วิเคราะห์ข้อมูลต่าง
ๆ เพื่อทำนายพฤติกรรม การเตือนภัย แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
รวมถึงช่วยในการตัดสินใจให้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามด้วย Robot ซึ่งจะมีหน้าที่ในการทำงานทดแทนส่วนที่มนุษย์ไม่สามารถกระทำได้
เช่น การทำงานในพื้นที่หรือบรรยากาศที่มีความเสี่ยง
การผลิตที่มีความต่อเนื่องหรือระยะเวลาที่ยาวนาน และ Blockchain ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
ความลับของบริษัท การเก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ และสุดท้ายคือระบบ AI ซึ่งเป็นระบบที่มีความขำนาญเฉพาะด้าน
ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์คุณภาพของสินค้า การคำนวณ
การตรวจจับความผิดพลาดจากการดำเนินงาน เป็นต้น
Smart
Maintenance หรือระบบบำรุงรักษาอย่างชาญฉลาด ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างวิศวกรรมการซ่อมบำรุงรักษา
ระบบการบริหารจัดการการผลิต ระบบสารสนเทศ การวิเคราะห์ข้อมูล
การเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต Cloud Computing
และ Big Data พร้อมนำข้อมูลสารสนเทศ ต่าง ๆ
มาใช้ในการวิเคราะห์และทำนายล่วงหน้าว่าเครื่องจักรหรือสายการผลิตใดมีแนวโน้มที่จะมีปัญหา
โดยในการยกระดับ Smart Maintenance ดังกล่าว
จะช่วยให้ทราบถึงข้อมูลสภาพการทำงานของเครื่องจักรและเหตุการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้น
ทำให้ดำเนินการแก้ไขป้องกันปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้
การมีระบบบำรุงรักษาอย่างชาญฉลาดยังช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งภาคอุตสาหกรรมไทยยังถือว่ายังมีค่าใช้จ่ายในด้านนี้ปีละไม่ต่ำกว่าหลักแสนล้านบาท
Smart Environment & Community เป็นการจัดการบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงาน เช่น พื้นที่ที่สามารถแลกเปลี่ยนแนวความคิดเพื่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เช่น นวัตกรรม เทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในองค์กร รวมทั้งให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ หรือมีโซลูชั่นที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีในการกำจัดมลพิษ ทั้งทางบก น้ำ อากาศ นวัตกรรมการนำกลับมาใช้ใหม่ การกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมและกากขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมกับชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเติบโตและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความ “SMART” ในด้านต่างๆ ภาคอุตสาหกรรมเองควรมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูล
ประสบการณ์ และกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวที่จะแข่งขันการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
สำหรับธุรกิจ SME สามารถนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาธุรกิจได้ง่าย เพราะอย่างที่ระบุในข้างต้น
อันดับแรกของ 4 หัวข้อความ Smart คือ คน ดังนั้นอันดับแรกมุ่งพัฒนาคน ตามด้วยเทคโนโลยี การบำรุงรักษา
และ ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อเป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน