เข้าใจกฎหมาย! เพื่อสืบทอดธุรกิจครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน
เหตุผลใหญ่สำคัญที่ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน ส่วนใหญ่มักจะเกิดข้อพิพาทเรื่องผลประโยชน์ รวมไปถึงการบริหารจัดการ และการถ่ายโอนอำนาจของสมาชิกในครอบครัว
ดังนั้น นอกจากธรรมนูญครอบครัว หรือข้อพึงปฏิบัติ ในบทความก่อนหน้านี้
ที่ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการช่วยบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว ในการช่วยป้องกันปัญหาความขัดแย้ง อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกสิ่งสำคัญในเรื่องการทำธุรกิจคือการให้ความสำคัญในเรื่องของข้อกฎหมาย ซึ่งควรจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างละเอียด ครบถ้วน ตั้งแต่การจัดตั้งบริษัท โดยเฉพาะข้อบังคับต่างๆ ที่ต้องมีผลทางข้อกฎหมาย จะเตรียมตัวอย่างไร? ในการวางแผนทางกฎหมาย เพื่อประกอบธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน

กฎหมายครอบครัวที่ควรรู้ เพื่อปรับใช้ในธุรกิจครอบครัว
ครอบครัวยังถือเป็นสถาบันขั้นพื้นฐานและเป็นสถาบันหลักของสังคม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวจึงเป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในครอบครัวหรือเครือญาติ ดังนั้น หลักกฎหมายที่ใช้โดยทั่วไปอาจนำมาใช้กับกฎหมายครอบครัวไม่ได้ กฎหมายครอบครัวจึงเป็นกฎหมายที่อ้างอิงหลักศีลธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีมากที่สุด เช่น เงื่อนไขเกี่ยวกับการหมั้น การสมรส การปฏิบัติต่อกันระหว่างสามีและภรรยา การปกครองบุตร ทรัพย์สินระหว่างสามีและภรรยา ตลอดถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมรดก โดยหลักกฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว จะแบ่งได้ดังนี้
การหมั้น คือ การทำสัญญาระหว่างชายหญิงว่าจะสมรสกัน จะทำได้เมื่อชายและหญิงอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ถ้าชายและหญิงเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
การสมรส โดยการสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์หากมีอายุต่ำกว่านี้ต้องศาลอนุญาต
ทรัพย์สินของสามีและภรรยา แบ่งเป็น 2 ประเภท
1. สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่สามีหรือภรรยามีก่อนสมรส
2. สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการสมรส
กฎหมายมรดก
มรดก คือ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆ ของผู้ตายหรือเจ้าของมรดก ซึ่งเมื่อเจ้าของมรดกถึงแก่ความตาย มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่ตาย โดยทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ทายาทโดยธรรม คู่สมรสและญาติสนิท
2. ทายาทตามพินัยกรรม ผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกตามพินัยกรรมระบุไว้

กฎหมายที่เจ้าของธุรกิจควรรู้
1. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เจ้าของธุรกิจต้องพิจารณาว่าธุรกิจที่จะทำในอนาคตเหมาะกับการก่อตั้งองค์กรประเภทใด เพื่อให้ได้ประโยชน์ในการทำธุรกิจสูงสุด ควรมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้เข้าใจหลักการก่อตั้งบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน ว่ามีลักษณะและขอบเขตอะไรบ้างในการประกอบธุรกิจ เช่น เมื่อพิจารณาเห็นว่าการตั้งบริษัทจำกัด เป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุด ก็ต้องมีเตรียมข้อมูล ดังต่อไปนี้
- มีผู้เริ่มก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป
- ผู้เริ่มก่อตั้งจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นภายหลังการจัดตั้งบริษัทจำกัด
- การจดทะเบียนบริษัทจะต้องมีหุ้นขั้นต่ำอยู่ที่หุ้นละ 5 บาทขึ้นไป
- มีที่ตั้งสำนักงานและมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งแสวงหาผลกำไร
2. กฎหมายภาษีอากร
ความรับผิดชอบในส่วนของภาษีอากรถือส่วนหนึ่งที่นักธุรกิจต้องมีความรู้ เพื่อจะได้นำไปประเมินการดำเนินธุรกิจว่ามีส่วนไหนที่ทางบริษัทฯ ต้องส่งรายได้ให้กับภาครัฐ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่น กิจการธนาคาร, กิจการโรงรับจำนำ

กฎหมาย 4 ข้อสำคัญ ที่ธุรกิจครอบครัวควรมี
1. ข้อบังคับของบริษัท ซึ่งมีความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยต้องกำหนดรายละเอียดการดำเนินกิจการของบริษัทธุรกิจครอบครัว (Family Business) เช่น ประเภทหุ้นและผู้ถือหุ้น กรรมการ การประชุมผู้ถือหุ้น การยุติข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้น มีผลใช้บังคับกับบริษัท กรรมการ และผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งข้อบังคับของบริษัทที่ดีจะขจัดปัญหาข้อพิพาทได้ โดยข้อบังคับนั้นจะต้องให้สอดคล้องกับครอบครัวแต่ละครอบครัว ไม่ควรใช้ข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานปกติของกระทรวงพาณิชย์หรือตามกฎหมายแพ่ง ว่าด้วยบริษัท
2. สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น เมื่อสมาชิกในครอบ ครัวมารวมตัวกันเพื่อทำงานในบริษัทร่วมทุนใหม่ของครอบครัว อาจลืมการแบ่งส่วนพื้นฐานของการเป็นหุ้นส่วนหรือบริษัทได้ ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดข้อตกลงผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนเอาไว้ให้ชัดเจน ซึ่งข้อตกลงผู้ถือหุ้นเปรียบเหมือนข้อตกลงก่อนสมรสของธุรกิจ ซึ่งมีการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าบทบาทและความรับผิดชอบของหุ้นส่วนจะเป็นอย่างไร การมีข้อตกลงนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องที่มีค่าใช้จ่ายสูงในอนาคต เมื่อหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นหนึ่งรายหรือมากกว่านั้น ต้องการที่จะออกจากธุรกิจหรือมีข้อกังวลเกี่ยวกับการบริหารงานของบริษัท
ทั้งนี้ การบังคับให้สมาชิกในครอบครัวลงนามในเอกสารทางกฎหมาย อาจจุดประกายความไม่ไว้วางใจหรือข้อโต้แย้งภายในทีมบริหารของบริษัทได้ นอกจากนี้ญาติพี่น้องอาจไม่พอใจนักที่ข้อตกลงนี้อาจถูกนำมาใช้ในคดีความระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้
3. พินัยกรรม เจ้าของธุรกิจครอบครัวจะต้องมีการจัดทำพินัยกรรมกันให้เรียบร้อยว่า ทรัพย์สินส่วนใหญ่จะตกเป็นของทายาทคนใดเพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาท อย่าถือว่าเป็นการแช่ง เพราะเป็นกรณีการแบ่งสรรความเป็นเจ้าของและทุกคนก็รู้ล่วงหน้า
4. ธรรมนูญครอบครัวหรือข้อพึงปฏิบัติ เป็นการกำหนดภาพรวมและการจัดการเรื่องต่างของธุรกิจครอบครัว เช่น สภาครอบครัว แผนสืบทอดธุรกิจ และเงินกองทุนครอบครัว โดยปกติแล้วจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่เป็นกฎกติกาหรือความตกลงร่วมกัน ที่สมาชิกในครอบครัวยอมรับและยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ข้อกำหนดเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อจะได้ให้สมาชิกในครอบครัวเป็นแนว ทางปฏิบัติที่ถูกต้องและเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ

บัญญัติ 10 ประการทางกฎหมายของการตั้งบริษัทธุรกิจครอบครัว
1. บริษัทจำกัด เป็นรูปแบบองค์กรที่เหมาะสมที่สุด โดยยกเว้นกรณีบริษัทธุรกิจครอบครัวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
2. ข้อบังคับบริษัท ต้องครอบคลุมในทุกเรื่องที่สำคัญ และอาจมีการจัดทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น
3. การจัดสรรหุ้น และการโอนหุ้นจะต้องเป็นธรรม และอาจมีข้อจำกัดในการโอนหุ้น
4. องค์ประกอบของคณะกรรมการและการสรรหาคณะกรรมการ ควรจะต้องมีการกำหนดไว้โดยชัดเจน
5. การคุ้มครองทรัพย์สินของครอบครัวและสมาชิกไม่ให้ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องบังคับคดีโดยการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง
6. การประเมินความสี่ยงทางกฎหมายที่อาจกระทบถึงทรัพย์สินของครอบครัว จะต้องมีการจัดทำขึ้น เพื่อหาวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงทางกฎหมาย
7. ทรัพย์สินของครอบครัว ควรพิจารณาโอนให้บริษัทโฮลดิ้งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
8. การถ่ายโอนอำนาจ ควรจะต้องมีการกำหนดกระบวนการสืบทอดอำนาจการจัดการและความเป็นเจ้าของ
9. ที่ปรึกษา อาจมีการตั้งบุคคลภายนอกเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยแนะนำการดำเนินธุรกิจของครอบครัว หรือเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยหรือระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิกในครอบครัว
10. การกำกับดูแลกิจการที่ดี จะช่วยใช้ธุรกิจมีความยั่งยืน ลดความเสี่ยงทางกฎหมาย และช่วยเพิ่มมูลค่ากิจการ
ความเสี่ยงทางกฎหมายของธุรกิจครอบครัว
- ความเสี่ยงทางกฎหมายของบริษัทครอบครัวที่ไม่มีการจัดโครงสร้างที่เหมาะสม และไม่มีการจัดให้มีเอกสารทางกฎหมายที่สำคัญ อาจเกิดความเสี่ยงทางกฎหมายที่จะถูกฟ้องร้องทั้งคดีแพ่ง อาญา และล้มละลาย
- การขยายตัวจากธุรกิจเดิมไปสู่ธุรกิจใหม่อาจทำได้ยากกว่าการมีโครงสร้างแบบบริษัทโฮลดิ้ง
- อาจเกิดข้อพิพาทระหว่างสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจครอบครัว
- อาจไม่มีการกำหนดการวางแผนการสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างเป็นระบบ
- อาจเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการแบ่งมรดก และสินสมรสเกี่ยวกับผลประโยชน์ในบริษัทครอบครัว
อย่างไรที่ทราบกันดีว่า ความสำคัญในแง่ของข้อกฎหมายธุรกิจครอบครัว คือ เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางการบริหารจัดการของธุรกิจครอบครัว (Family Business) พร้อมช่วยกำหนดมาตรการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของและอำนาจในการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว และที่สำคัญช่วยป้องกัน หรือลดข้อพิพาทระหว่างสมาชิกในครอบครัวในอนาคต
ดังนั้น หากธุรกิจครอบครัวเห็นควรจำเป็นในเครื่องมือทางกฎหมายเหล่านี้ การร่างข้อกฎหมายที่เป็นมาตรฐาน บวกกับมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาที่ดี เชื่อว่าจะสามารถช่วยทำให้การบริหารจัดการโดยไม่เกิดปัญหา และข้อพิพาทฟ้องร้อง ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
แหล่งอ้างอิง : หนังสือวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน เขียนโดย คุณกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์, ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย