คนทำธุรกิจย่อมรู้จัก โดยเฉพาะนักลงทุนจะรู้จัก
‘งบการเงิน’
เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นรายงานทางการเงินของกิจการที่แสดงถึงค่าใช้จ่าย รายได้ กำไร และการสรุปทางการเงินของธุรกิจนั้นในช่วงรอบบัญชีใด หรือระหว่างรอบบัญชี เพื่อให้ผู้บริหารดูผลการประกอบการ หรือให้บุคคลภายนอกสามารถดูผลประกอบการของบริษัทได้
จะดูทำไม เพราะข้อมูลเหล่านี้มักเป็นอดีต อาจไม่ชี้วัดอนาคต หรือเป็นตัวเลขที่ประมาณการณ์มากกว่าเป็นตัวเลขชัวร์ๆ อาจผ่านการ ‘ตบแต่งมาจนสวยงาม’ กว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ไว้ครั้งหน้าเรามาเรียนรู้การดูงบให้เป็นกัน แต่เบื้องต้นขอโฟกัสไปยังธุรกิจขนาดเล็ก หรือคนที่สนใจอยากเริ่มธุรกิจ เลยหยิบยกเรื่องงบการเงิน ที่ธุรกิจจดทะเบียนต้องยื่นกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกปีว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง และหากยื่นช้าหรือไม่ยื่น จะผิดหรือไม่
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
งบการเงิน อันประกอบด้วย
1. งบแสดงฐานะทางการเงิน หรือ งบดุล
เป็นงบการเงินส่วนที่จะแสดงถึงฐานะทางการเงินของกิจการ โดยจะบอกเกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ
2. งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ หรือ งบกำไรขาดทุน
เป็นงบการเงินที่แสดงถึงผลการดำเนินงานของกิจการว่ามีรายได้และค่าใช้จ่ายเท่าไร
ยังสามารถทำกำไรได้หรือไม่
3. งบกระแสเงินสด
เป็นงบการเงินส่วนที่จะแสดงถึงการรับมาและจ่ายไปของเงินสด โดยงบกระแสเงินสดจะเกิดขึ้นจาก 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน
4. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงของเจ้าของ
เป็นงบการเงินส่วนที่จะแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของในรอบบัญชี
5. หมายเหตุประกอบงบการเงิน
จะแสดงข้อมูลเพิ่มเติมที่ไม่ได้แสดงอยู่ในงบการเงิน และเกณฑ์การจัดทำงบการเงิน
ใครบ้างที่ต้องทำงบการเงิน
นิติบุคคลที่จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะดำเนินกิจการหรือไม่
มีหน้าที่จัดทำงบการเงินและส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกปี นิติบุคคลที่ต้องส่งงบการเงินดังนี้
1. บริษัทจำกัด
2. ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
3. บริษัทมหาชนจำกัด
4. นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
5. กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร
รอบการทำงบการเงิน
ปกติควรเริ่มทำบัญชีนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล
และภายในระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน ต้องปิดงบการเงินและนำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ในกรณีนี้อาจจะทำให้การทำบัญชีนั้นง่ายขึ้น โดยปิดงบรอบบัญชีในวันที่ 31 ธันวาคม
และวงรอบการทำงบการเงินในปีต่อๆไป
การจัดทำงบการเงิน
จัดทำบัญชีโดยผู้ทำบัญชี
อาจจะว่าจ้างเป็นพนักงานของบริษัท หรือจ้างสำนักงานบัญชีทำบัญชีก็ได้
และให้ผู้ตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบและออกรายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
คุณสมบัติผู้ทำบัญชี
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน
5ล้านบาท มีสินทรัพย์ไม่เกิน 30 ล้านบาทและมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าอนุปริญญาทางการบัญชีหรือเทียบเท่า
ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่มีรายได้รวมเกินที่ระบุไว้,บริษัทจำกัด,บริษัทมหาชนจำกัด
ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชีหรือเทียบเท่า
กรณีนี้ยกเว้นห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์ไม่เกิน 30 ล้านบาทและมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ไม่ต้องมีรายงานผู้สอบบัญชีและไม่ต้องส่งรายงานตรวจสอบและรับรองบัญชี
‘ค่าปรับ’หากไม่ยื่นงบการเงิน
กรณียื่นงบเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ยื่นงบล่าช้าไม่เกิน
2 เดือน ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน,บริษัทจำกัด อัตราค่าปรับรวม 2,000บาท หากเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน
อัตราค่าปรับรวม 8,000บาท
และหากเกินกว่า 4 เดือนขึ้นไป อัตราค่าปรับรวม 12,000บาท
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องง่ายสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ แต่สำหรับเอสเอ็มอีรายขนาดเล็ก บ่อยครั้งที่โดนค่าปรับ เนื่องจากส่งงบการเงินล่าช้า เรื่องนี้แม้จะมองว่าอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าคุณต้องการทำธุรกิจให้เติบโต ก็ไม่ควรละเลยเรื่องเหล่านี้