ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศอยู่ที่
42,000 เมกะวัตต์ โดย 60% ผลิตได้จากก๊าซธรรมชาติ, 15% ผลิตได้จากถ่านหิน, 10% รับซื้อจากต่างประเทศ
และ 15% ที่เหลือผลิตได้จากพลังงานอื่น
ฉะนั้นแล้วไฟฟ้าในประเทศไทยจึงมาจากการนำก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยขึ้นมาใช้เรื่อยๆ ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติกำลังลดน้อยถอยลง
รัฐบาลจึงหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกจากพลังงานแสงอาทิตย์
พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล พลังงานจากก๊าซชีวภาพ พลังงานลม และพลังงานขยะ
เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานมากขึ้น ด้วยการผุดโครงการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ
หนึ่งในพลังงานทดแทนที่สามารถเข้าถึงและบริหารจัดการได้ง่ายในระดับครัวเรือน เพื่อเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและค่าไฟฟ้าในโรงงานบ้านเรือน ก็คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถจัดการติดตั้งได้ไม่ยาก ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนที่ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร จึงได้รับพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องคงที่ตลอดทั้งปี และมีความเข้มรังสีรวมของดวงอาทิตย์เฉลี่ยต่อปีของพื้นที่ทั่วประเทศ มีค่าเท่ากับ 18.2 เมกะจูลต่อตารางเมตรต่อวัน หรือ 5.05 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวัน จัดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ จึงเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
การผลิตพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์มี 2
รูปแบบ คือพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
(PV Cells) มีหลักการทั่วไปคือ
เมื่อมีแสงอาทิตย์ตกกระทบเซลล์แสงอาทิตย์จะเกิดการสร้างกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ได้ต้องผ่านอุปกรณ์เปลี่ยนระบบไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสสลับและจ่ายเข้าสู่โหลด
หากมีกระแสไฟฟ้าส่วนที่เกินจากโหลดต้องการ สามารถจ่ายเข้าสู่แบตเตอรี่หรือจ่ายเข้าสู่ระบบจำหน่าย
เป็นการลดค่าไฟฟ้าและช่วยให้มีพลังงานไฟฟ้าในเพียงพอในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องกระแสการจ่ายไฟไม่สม่ำเสมอ
ไฟดับ ไฟตกบ่อย เพราะเมื่อมีการใช้ไฟมากกว่าที่ผลิตเองจากโซล่าเซลล์ ตัวอุปกรณ์ Grid-Tie
Inverter ที่เชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า
ก็จะทำหน้าที่ดึงกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้งานโดยอัตโนมัติ
Solar Rooftop เปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าในครัวเรือน
สำหรับการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในบ้าน
เป็นแนวทางในการช่วยประหยัดไฟฟ้าที่สามารถทำได้ผ่านระบบ Solar Rooftop โดยติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านหรืออาคารโรงงานต่างๆ
เพื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์ก่อนจะแปลงเข้าสู่เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านหรือโรงงานได้ทุกชนิด
ซึ่งการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าจะต้องประกอบด้วยอุปกรณ์ เช่น
แผงโซลาร์เซลล์, เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (อินเวอร์เตอร์), ตู้กระแสสลับ,
มิเตอร์วัดกระแสสลับ และหม้อแปลงไฟฟ้า
โดยการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
จะเกิดเมื่อแสงอาทิตย์มากระทบกับแผงโซลาร์เซลล์ สารกึ่งตัวนำจนเกิดเป็นการถ่ายทอดพลังงาน
ทำให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรงขึ้น
หลังจากนั้นก็เคลื่อนที่ต่อไปยังเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าเพื่อทำให้กลายเป็นกระแสสลับ
แล้วส่งต่อไปสู่มิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้าและหม้อแปลงไฟ เพื่อเพิ่มแรงดันและส่งใช้งานในระบบมีต้นทุนในการติดตั้งระบบผันแปรไปตามขนาด เช่น ขนาด 5 kWp ต้องใช้พื้นที่หลังคาในการติดตั้ง 35 ตารางเมตร ใช้เงินประมาณ
300,000 บาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 6,500
หน่วย/ปี
หากเข้าร่วมโครงการขายไฟฟ้าคืนรัฐบาล
จะขายได้ในราคา 6-7 บาท/หน่วย (กำหนดให้ขายคืนได้ไม่เกิน 10 kWp) จะทำให้มีรายรับจากการขายคืนได้ 45,000 บาทต่อปีและคุ้มทุนประมาน 10 ปี (Brandinside,2019)
โดยที่ระบบไฟบ้านจะเชื่อมต่อระหว่างไฟของการไฟฟ้าและไฟฟ้าจาก Solar
Roof ซึ่งเป็นหนทางในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าในระยะยาว
และสามารถโอนถ่ายซื้อขายให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย
ข้อดีของ Solar Rooftop
1. แผงโซลาร์เซลล์สามารถช่วยบังแสงแดด
และช่วยลดความร้อนของหลังคา ลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ
2. ช่วยลดค่าไฟฟ้า
เนื่องจากสามารถผลิตไฟเองได้
และเป็นการยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ระบบแสงสว่างได้อีกด้วย
3. ไม่ใช้เชื้อเพลิงใดๆ
นอกจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด
4. ไม่เกิดของเสียขณะใช้งาน
ไม่มีการเผาไหม้ จึงไม่มีการปล่อยมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อม
ประโยชน์โดยตรงต่อเจ้าของอาคาร
1. ในกรณีที่ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้ในอาคารของตนเอง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงจากที่เคยให้ให้กับการไฟฟ้า
2. สามารถผลิตขายให้กับเอกชน เป็นการสร้างรายได้พิเศษให้แก่เจ้าของอาคาร
3. แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาช่วยบังแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบหลังคา
ช่วยลดความร้อนหลังคา ลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้า
ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ
1. เป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ซึ่งไม่มีต้นทุนของเชื้อเพลิง และเป็นพลังงานสะอาด
ไม่มีมลภาวะในขณะกำลังผลิตไฟฟ้าช่วยลดภาวะโลกร้อน
2. ช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในเวลากลางวัน
3. ชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิล โรงไฟฟ้าน้ำ และนิวเคลียร์ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคม
4. สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศชาติ
อย่างไรก็ตามการลงทุนใน Solar Roof มีประเด็นที่ต้องศึกษาในหลายด้าน
สำคัญมากสุดคือเรื่องของการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ดังนั้นการคิดถึงจุดคุ้มทุน อาจต้องคำนวณการดูแลรักษาอุปกรณ์ต่อไปเข้าไปด้วย
แหล่งอ้างอิง