ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

SME in Focus
25/03/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 2218 คน
ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง
banner



โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ แห่งแรกของไทย


โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ หรือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ผู้ผลิตเครื่องจักร และอุปกรณ์โรงสีข้าว รูปแบบธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่ก่อตั้งในปี 2493 ปัจจุบันบริหารโดยทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 คุณกานต์ จิตสุทธิภากร สานต่อวิสัยทัศน์การพัฒนาเครื่องจักรสีข้าวคุณภาพดีของคนไทย โดยนำเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตเครื่องสีข้าว จนสามารถปรับตัวและเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทั้งยังวางเป้าหมายจะยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง ตั้งแต่ชาวนา ผู้ประกอบการโรงสี วิสาหกิจชุมชน พ่อค้า ไปจนถึงผู้บริโภคลำดับสุดท้าย (End-user) ให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน สร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศ อย่างยั่งยืน

ลิงก์บทสัมภาษณ์: ผู้พัฒนาเครื่องจักรอุตสาหกรรมการผลิตข้าวครบวงจร ‘ยนต์ผลดี’ ชูจุดเด่นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยจนครองใจลูกค้า


https://www.bangkokbanksme.com/en/6focus-yontpholdee-rice-production-industry




คุณกานต์ จิตสุทธิภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด กล่าวถึงที่มาของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯว่า เริ่มก่อตั้งในปี 2565 เปิดสอนรุ่นแรกเมื่อต้นปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของรัฐทุกอย่าง โดยบริษัทฯ ตั้งใจรวบรวมองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องสีข้าวมากว่า 74 ปี ถ่ายทอดให้บุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมข้าว เปิดหลักสูตรฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการและ SME หรือผู้ที่สนใจทั่วไปได้ทดลองปฏิบัติในโรงสีข้าวจริงที่สร้างขึ้นมาภายในศูนย์ฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา ซึ่งจะช่วยยกระดับองค์ความรู้การจัดการข้าวด้านต่าง ๆ หลังเก็บเกี่ยว ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ทำให้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวลดการสูญเสีย และทำกำไรมากขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)


ที่ผ่านมา เปิดสอนมาแล้ว 6 รุ่น เน้นการบริหารจัดการโรงสีข้าวแบบทันสมัย พร้อมสร้างระบบนิเวศภายใน ให้ผู้เรียนเกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ เพื่อต่อยอด ปัจจุบันมีเครือข่ายนักเรียน 108 ราย โดยจะเปิดคอร์สสอนทุก 2 เดือน/รุ่น ใช้เวลาเรียนรุ่นละ 3 วัน


ทั้งนี้ 90% ของผู้เข้าอบรม มีพื้นฐานมาจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงสีข้าว และในจำนวนนี้ 70% เป็นธุรกิจโรงสีขนาดกลางไปถึงใหญ่ เป็นกลุ่มที่ใช้เครื่องจักรที่บริษัทฯ ผลิต ส่วนรายอื่น อาทิ โรงสีข้าวขนาดเล็ก วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ที่ยังใช้เครื่องจักรสีข้าวเทคโนโลยีแบบเก่าอยู่ ก็เข้ามาเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจต่อได้


สร้างการรับรู้ (Awareness)


คุณกานต์ บอกว่า ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ


1.อยากให้ผู้เรียนได้รู้จักทฤษฎีของการแปรรูปข้าว การสีข้าวที่ปลอดภัย เราเป็นโรงเรียนโรงสีแห่งแรกของไทย วิชาการทำโรงสีข้าวนั้น เป็นองค์ความรู้ที่ยังขาดผู้รวบรวมและนำมาเรียบเรียงเพื่อให้เกิดเป็นตำรา และถ่ายทอดอย่างเป็นทางการ ขณะที่ตนเรียนจบทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว จึงมั่นใจว่าจะนำความรู้และประสบการณ์ที่มี มาถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจได้ประโยชน์มากที่สุด


2. เน้นความรู้ภาคปฏิบัติ แม้ที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานของรัฐ มอบองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวอยู่เรื่อย ๆ แต่ที่เข้าถึงส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการโรงสีข้าวขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ขณะที่รายเล็ก และวิสาหกิจชุมชนอาจเข้าไม่ถึง อีกทั้งการอบรมยังเน้นหนักทางทฤษฎี อาทิ การบัญชี การเงิน การตลาด แต่ยังขาดองค์ความรู้ในภาคปฏิบัติ เช่น การทดสอบคุณภาพการสีข้าว คุณภาพโรงสี การใช้อุปกรณ์ หรือภาคปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องจักรในโรงสี ที่ผู้ประกอบการยังเข้าไม่ถึง เราเน้นสอนเหมือนมหาวิทยาลัย คือ ถ่ายทอดความรู้ในทางทฤษฎี พร้อมลงมือทดลองทำในภาคปฏิบัติด้วย


3. สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการโรงสีข้าว ที่ผ่านมา มีการรวมกลุ่มของผู้เรียนเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการโรงสีข้าว สามารถช่วยเหลือหรือส่งเสริมกันและกันได้ ภายในศูนย์จะจัดบรรยากาศการเรียนที่เปิดกว้างให้ผู้เรียนได้ร่วมทำกิจกรรมและพบปะเพื่อพูดคุย และ ทำความรู้จักกัน



สำหรับด้านธุรกิจ


ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว มีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการโรงสีข้าวที่เป็นกลุ่มลูกค้า รวมถึงพัฒนาในส่วนลูกค้าใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา เราเป็นธุรกิจที่ให้บริการโรงสีขนาดกลางถึงใหญ่มาตลอด แต่ภายใต้ปัจจัยการแข่งขันทางการค้า การประกอบธุรกิจในปัจจุบัน และนโยบายของรัฐ ส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจโรงสีข้าวในประเทศไทยเปลี่ยนไป โดยโรงสีขนาดกลางและขนาดใหญ่มีจำนวนลดลง และขยายตัวได้น้อยลง




ในทางกลับกัน โรงสีข้าวชุมชน โรงสีขนาดเล็ก วิสาหกิจชุมชนที่ภาครัฐเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่ม มีศักยภาพในการแปรรูปข้าว หรือสีข้าวได้เอง ดังนั้น เราจึงต้องมีการปรับตัวให้สอดรับความเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา โดยมุ่งสร้างการรับรู้ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ธุรกิจ


อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยปัจจุบัน โรงสีรายเล็ก ยังใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีการสีข้าวแบบเก่า การที่เรามีโรงเรียนสอน จึงเป็นโอกาสได้พบเจอกับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ด้วย เป็นการสร้างการรับรู้สำหรับลูกค้าในอนาคต ที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น การสอนไม่ได้เน้นขาย แต่เน้นถ่ายทอดความรู้อย่างเปิดกว้างสำหรับสินค้า เทคโนโลยี หรือบริการทุกแบรนด์




คนที่มาเรียนจะได้อะไร?


คุณกานต์ อธิบายว่า สิ่งสำคัญในขั้นตอนแรก หลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าว คือ ต้องลดความชื้นข้าว เป็นองค์ความรู้ที่แม้จะมีข้อมูลทางวิชาการอยู่ แต่ยังเข้าถึงยาก ที่ผ่านมา โรงสีส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ยังใช้องค์ความรู้แบบภูมิปัญญา แต่ขาดเหตุผลหรือคำอธิบายว่าทำไมต้องทำแบบนี้


ดังนั้น ศูนย์ฯ จะพยายามนำองค์ความรู้ระดับภูมิปัญญา มาอ้างอิง อธิบายในมุมวิชาการและทฤษฎี เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจได้มากกว่าการจดจำ และภายหลังเรียบจบหลักสูตร ผู้เรียนจะเข้าใจที่มาที่ไปของขั้นตอนการสีข้าว และลงมือทำตามมาตรฐานการสีข้าวที่ปลอดภัย รวมถึงการแปรรูปข้าวสารคุณภาพดี



เป้าหมายในอนาคต


คุณกานต์ คาดหวังว่า ผู้ประกอบการโรงสีทุกระดับ จะยืนหยัดในธุรกิจได้ มีกำไรและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ช่วยสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยความรู้จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพข้าว ขณะที่ธุรกิจโรงสีข้าวที่มีบทบาทสำคัญต่อชาวนา เกษตรกร จะเกิดการพัฒนา ส่งต่อความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอด ทำให้ได้ผลผลิตคุณภาพตรงกับความต้องการของโรงสี และตลาดของผู้บริโภค ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมข้าวของประเทศทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ




ต้นแบบ ‘โรงสีข้าววิสาหกิจเพื่อสังคม’

คุณกานต์ เล่าว่า ในระหว่างอบรมภาคปฏิบัติ เราจะต้องสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้สัมผัสกับเครื่องจักรให้มากที่สุด ที่ศูนย์ฯ จึงมีการทำนาจริงบนพื้นที่กว่า 30 ไร่ นำผลผลิตข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวมาสีเป็นข้าวสารเพื่อใช้ในการอบรมและนำไปจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงตามราคาตลาด นำกำไรที่ได้มาพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนตามหลักของวิสาหกิจเพื่อสังคม




ภายในแปลงนายังเน้นใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีการทำเกษตรสมัยใหม่ อาทิ การปรับพื้นดินให้เรียบด้วยเลเซอร์ ใช้โดรนหว่านเมล็ด และฉีดพ่น (เป็นการร่วมมือเพื่อการประชาสัมพันธ์กับบริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด เทคสตาร์ทอัพชั้นนำด้านธุรกิจหุ่นยนต์และโดรนโซลูชัน) รวมถึงทฤษฎีทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ไม่เผาฟาง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นวิธีการทำนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพ



จากประสบการณ์ในส่วนนี้ ทำให้ทราบว่า ตลาดข้าวมีความหลากหลาย แม้แต่การส่งออกกับการบริโภคภายในก็ยังใช้ข้าวหลายสายพันธุ์ ขณะที่พฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคในตลาดข้าวแต่ละพื้นที่ ยังมีช่องว่างในการทำตลาดอีกมาก


เหตุนี้ หากธุรกิจโรงสีทราบว่าธุรกิจของตนมีศักยภาพ หรือมีลูกค้าแบบไหน ก็สามารถสร้างสัมพันธ์กับชาวนาเพื่อซัพพลายผลผลิตข้าวที่เหมาะสมตรงกับความต้องการ ช่วยลดความสูญเสียของธุรกิจได้




ยกตัวอย่าง ในแปลงข้าวพื้นที่ 30 กว่าไร่ที่ปลูกเองภายในศูนย์ฯ ใช้ข้าวเจ้าขาวพื้นนุ่ม (ข้าวพันธุ์ RJ22) ซึ่งเทรนด์ผู้บริโภคในประเทศนิยม และมีดีมานด์ในตลาดอยู่มาก เพียงแต่ที่ผ่านมา การนำความต้องการของผู้บริโภคตัวจริง (End-user) มาพิจารณาเพื่อทำการตลาดที่เป็นผู้ซื้อโดยตรงยังเกิดขึ้นไม่มาก ปัจจุบัน การขยายตัวของโรงสีขนาดเล็ก รวมถึงโรงสีข้าวที่เป็นรูปแบบสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน จะเป็นทิศทางที่กำหนดตลาดการบริโภคข้าวในประเทศ


“โรงสีที่เราทำยังถือว่ามีขนาดเล็ก มีกำลังผลิตโดยสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารได้ราว 1 ตัน/ชั่วโมง ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสำหรับธุรกิจโรงสีขนาดเล็ก หรือวิสาหกิจชุมชน แต่มีกระบวนการผลิตมาตรฐาน ได้ข้าวสารคุณภาพทัดเทียมกับโรงสีขนาดใหญ่ และลงทุนน้อยกว่า”




ตรารับรอง UTD RF ยกระดับมาตรฐานข้าวสุขภาพ


ภายในศูนย์ฯ มีการติดตั้งเครื่องกำจัดมอดและไข่มอดด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ UTD RF หรือกระบวนการกำจัดมอดและไข่มอดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Uniform Thermal Distribution Radio Frequency) เป็นงานวิจัยที่บริษัทฯ ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี UTD RF ในการผลิตเครื่องจักรและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และประชาสัมพันธ์ข้าวสารที่มีตรารับรอง UTD RF ให้กับผู้บริโภค


คุณกานต์ บอกว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่าในกระบวนการสีข้าว มีการรมยาและสารเคมีกำจัดแมลงในข้าวหลายครั้ง เพื่อลดความเสียหายและยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี UTD RF จะเข้ามาทดแทนกระบวนการรมยาในข้าว ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าข้าวปลอดจากสารเคมีในกระบวนการแปรรูปแบบ 100% โดยข้าวที่ผ่านกระบวนการ UTD RF จะมีราคาสูงขึ้นจากเดิมเพียง 2-3 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น


นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่เราจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ขึ้นมา ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นต้นแบบการทำนาที่รักษาสิ่งแวดล้อม สีข้าวด้วยนวัตกรรม และสร้างโมเดลธุรกิจโรงสีข้าวในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม พร้อมสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ในเรื่องตรารับรอง UTD RFเพื่อสร้างมาตรฐานตลาดข้าวมิติใหม่ ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น


เพิ่มคุณค่าข้าว ส่งต่อความรู้ให้ผู้บริโภค


ความรู้ที่เราต้องการส่งต่อไปยังผู้บริโภค เพื่อได้ทราบและตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพ ทำให้เกิดดีมานด์ในตลาด ซึ่งโรงสีต้องปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการของตลาดภายใต้การแข่งขันที่เกิดขึ้น


อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี UTD RF เป็นนวัตกรรมที่เริ่มต้นจากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ยังมีข้อจำกัดในด้านกำลังผลิตที่น้อยกว่าความต้องการของโรงสีขนาดใหญ่ เรามีแผนวิจัยที่จะเพิ่มกำลังผลิตของเครื่องให้สูงถึง 5 ตันต่อชั่วโมงในปีนี้ พร้อมทั้งได้ทำการสำรวจตลาดผู้บริโภคว่า ถ้ามีข้าวที่ปลอดภัยขึ้น ไม่ผ่านการรมยา แต่ราคาเพิ่มขึ้น 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ผู้บริโภคยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งผลตอบรับ คือผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมรับได้



คุณกานต์ เผยว่า โจทย์ในขั้นแรก เราต้องการส่งเสริมเทคโนโลยี UTD RF นี้ให้แพร่หลายในกลุ่มโรงสีให้ได้มากที่สุด เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่จะไปลดต้นทุนและอันตรายจากการรมยาหรือสารเคมีในกระบวนการกำจัดแมลงในข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ยังเสนอว่าให้ใช้ UTD RF ไปเสริมไลน์ธุรกิจการผลิตข้าว สร้างแบรนด์ข้าวสารที่สามารถตอบสนองความต้องการตลาด เพิ่มคุณค่าของข้าวเพื่อผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพ และช่วยกันให้ความรู้แก่ผู้บริโภค จะยกระดับตลาดข้าวได้มากขึ้นอีกด้วย


ขณะนี้ เครื่องกำจัดมอดฯ UTD RF ผ่านการยอมรับด้านความปลอดภัยในข้าวจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผ่านการทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้า (PTEC, สวทช.) ผ่านการยืนยันว่าไม่ใช้รังสี (สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ) และมีการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ได้มาตรฐาน มอก. (มอก.3127-2563) ได้รับอนุญาติให้ใช้งานตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์ จาก มกอช. เหล่านี้เป็นแนวทางที่ต้องดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกับผู้ประกอบการที่เป็นพันธมิตร



“หากเราทำคนเดียว พลังย่อมน้อย การร่วมมือกันกับผู้ประกอบการในกลุ่มโรงสี จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลเป็นวงกว้าง เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน ขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับประทานข้าวที่ปลอดการรมยา เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกส่วน”


ติดตามเพิ่มเติมที่ : https://www.yontpholdee.com/



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
222 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
290 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
932 | 17/04/2024
ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง