ทายาทรุ่น 3 สวนสุขเกษม ใช้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ สร้างโอกาสตลาดทุเรียนโตยั่งยืน
สวนสุขเกษม ปรับตัวจากสวนผลไม้เชิงผสม มาเป็นสวนผลไม้เชิงเดี่ยวมูลค่าสูง เน้นพัฒนาคุณภาพผลผลิตที่มีคุณภาพ และมองการเติบโตในระยะยาว ทำให้หลายปีที่ผ่านมาได้ปรับรูปแบบการทำสวนผลไม้แบบภูมิปัญญา มาเป็นสวนเกษตรแม่นยำ ใช้การจัดการแบบนักธุรกิจเกษตร ผสานการนำองค์ความรู้จากงานวิจัย เครื่องมือ เครื่องจักร และเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ มาปรับใช้เพื่อลดข้อจำกัด หรือแก้ปัญหาในกระบวนการผลิต และพัฒนาผลผลิตคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
รวมถึงการเป็นสมาชิกกลุ่มคนหัวก้าวหน้าที่ต้องการสร้างอนาคตตลาดทุเรียนไทยให้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการร่วมทำงานในนาม สมาคมทุเรียนไทย (TDA) มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพผลผลิตทุเรียนจากไทยที่ผู้ซื้อเชื่อมั่น
คุณวุฒิชัย คุณเจตน์ เจ้าของสวนทุเรียน สวนสุขเกษม อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เข้ามารับช่วงธุรกิจครอบครัว สวนสุขเกษมซึ่งสืบทอดกันมาถึงรุ่นที่ 3 มีดีกรีการศึกษาปริญญาตรี สาขาพืชสวน และปริญญาโท สาขาธุรกิจเกษตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ครบเครื่องทั้งองค์ความรู้ด้านพืช และความรู้ในการทำธุรกิจ ที่มองเห็นโอกาสในอาชีพเกษตรไทยยังไปต่อได้ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่
เขาเล่าว่า ย้อนไปเมื่อ 13 ปี ก่อน ช่วงแรกที่เข้ามาดูแลกิจการสวนสุขเกษม ที่เป็นธุรกิจครอบครัว เริ่มจากช่วยแบ่งเบางานทางบ้าน และมองหาลู่ทางใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาส หรือเพิ่มรายได้โดยนำความรู้ด้านเกษตร และการบริหารธุรกิจ มาวิเคราะห์ธุรกิจภายใต้โจทย์ คือ ในอนาคตอาชีพเกษตรจะไปต่อได้ ต้องมุ่งไปในทิศทางใด
ปรับตัวอย่างไร
เนื่องจากสวนสุขเกษม เป็นการปลูกผลไม้เชิงผสม ที่มองได้ว่ามีความเสี่ยงต่ำ เพราะเราปลูกผลไม้หลายประเภท เน้นผลไม้ขึ้นชื่อของ จังหวัด เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ แต่ด้วยเป็นการปลูกตามราคาตลาด ทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เหมือนการปลูกเฉพาะอย่างได้ และที่เห็นได้ชัดอีกเรื่องคือ การบริหารจัดการทำได้ยาก ต้องใช้แรงงานเยอะ ทำให้ภายหลังเราลองเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนอย่างเดียว เพราะมองว่าเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เกิดมูลค่าสูงขึ้น เราเน้นลงทุนเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ประหยัดต้นทุนและเวลา ใช้แรงงานน้อยลง ตอบโจทย์ด้านข้อจำกัดของสวนผลไม้ในตอนนั้นได้ดีขึ้น
การออกแบบธุรกิจเกษตรภายใต้แนวคิดของ คุณวุฒิชัย ที่เริ่มจากเปลี่ยนเป็นแปลงผลไม้เชิงเดี่ยว โดยพิจารณาจากราคา โอกาส และต้นทุนด้านแรงงานที่ลดลง จึงเป็นปัญหาสำคัญของสวนผลไม้ในช่วงเวลานั้น ซึ่งในอดีตหากมีแรงงานไม่เพียงพอ อาจกระทบต่อคุณภาพของผลไม้ในฤดูกาลนั้น
ที่ผ่านมาจึงออกแบบธุรกิจเกษตรให้สามารถปรับใช้ระหว่างแรงงานคนและเครื่องมือ อาทิ การนำเครื่องมือ เครื่องจักร และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ลดต้นทุนเวลา ลดแรงงาน สิ่งเหล่านี้ เป็นคอนเซ็ปต์ที่ออกแบบและพัฒนาธุรกิจครอบครัวตั้งแต่เข้ามารับช่วงธุรกิจเมื่อ 13 ปีที่แล้ว
นำงานวิจัยเข้ามาใช้ในสวนทุเรียน
สวนสุขเกษม โดดเด่นเรื่องการสร้างงานวิจัยใหม่ ๆ ร่วมกับสถาบันการศึกษา เพราะนอกจากปัญหาเรื่องแรงงานจากการทำงานในพื้นที่จริง เรายังเจอปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตลดลง จึงคิดค้นและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ มาแก้ปัญหาและจัดการข้อจำกัดในสวนทุเรียน รวมถึงตอบโจทย์การพัฒนาธุรกิจเกษตรในอนาคต
คุณวุฒิชัย กล่าวว่า นำเครื่องมือ เครื่องจักร เทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนการสร้างงานวิจัยใหม่ ๆ เพื่อให้เราเข้าใจพืชให้มากขึ้น และนำมาปรับใช้ภายในสวน มีทั้งที่ได้ผลดี และไม่แตกต่างจากเดิมบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นองค์วามรู้ใหม่ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจครอบครัว
“เราออกแบบให้มีการจัดการแบบธุรกิจเกษตร วางแผน กำหนดเป้าหมายชัดเจนแต่แรก เพื่อปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจ สิ่งเหล่านี้เป็นข้อแตกต่างระหว่างเราและสวนเกษตรทั่วไป”
4 Keys Success ธุรกิจเกษตรยั่งยืน
สำหรับ องค์ประกอบสำคัญในการออกแบบธุรกิจเกษตรให้มีการปรับตัว พัฒนา เติบโตอย่างสมดุล และยั่งยืน สวนสุขเกษม ให้ความสำคัญใน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. ความต้องการของตลาด มุ่งพัฒนาผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ที่อาจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น การปรับตัว ปรับเปลี่ยน และพัฒนาอยู่เสมอ จึงเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนาธุรกิจสวนสุขเกษม
2. การวางแผนขั้นตอนการผลิต จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน อาทิ การตัดแต่งทรงพุ่มต้นทุเรียนเพื่อลดแรงงานเก็บเกี่ยว ขั้นตอนการผลิตที่มีต้นทุนแฝงมากมาย สภาพอากาศที่แปรปรวน เกิดโรคพืชหรือแมลงศัตรูพืช ตลอดจนปัจจัยการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต ตัวอย่างเช่น การขาดแคลนน้ำในภาคเกษตร
3. สภาพแวดล้อม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการผลิต ดังนั้นด้วยความเป็น Smart Farming ของสวนสุขเกษม ที่มีการบริหารจัดการแบบเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) จึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ เพื่อนำไปปรับใช้กับเทคโนโลยี เช่น ข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำมีผลต่อการบริหารจัดการผลผลิต ทำให้สามารถวางแผนจัดการได้อย่างเหมาะสม
4. ปัจจัยการผลิต พิจารณาทั้งในแง่ของปัจจัยพื้นฐาน อาทิ น้ำ สารอาหาร ตลอดจนเครื่องมือ เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บางปีอาจจะเป็นเรื่องของแรงงาน บางปีอาจเป็นเรื่องสภาพอากาศ หรือน้ำ ดังนั้นต้องมีการบริหารจัดการที่มีความแม่นยำสูงเพื่อลดข้อจำกัดและอุปสรรคในการสร้างผลผลิตเกษตรที่มีคุณภาพ
องค์ประกอบสำคัญทั้ง 4 ข้อนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การนำเครื่องมือ เครื่องจักร และเทคโนโลยี รวมถึงการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลมาปรับใช้ จะช่วยลดข้อจำกัดปัญหาต่าง ๆ และพัฒนาผลผลิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำมากยิ่งขึ้น และง่ายขึ้น นั่นเอง
“การจัดการเพื่อพัฒนาภายในสวนทุเรียน จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการนำมาจัดดระบบให้ชัดเจนขึ้น เหมือนโรงงานผลิต ที่มีการจัดการในส่วนต่าง ๆ ให้เป็นระบบ”
Big Data สู่ Data Mining
คุณวุฒิชัย กล่าวว่า ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลต่อการผลิตทุเรียน ทำให้ที่ผ่านมาได้ร่วมทำวิจัย รวมถึงนำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สามารถลดผลกระทบได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การเตรียมการรับมือสภาพอากาศที่อาจเกิดโรคพืชและแมลงศัตรูพืช การจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสมในช่วงที่เกิดวิกฤตของขาดแคลนน้ำของพืชได้ดี
งานวิจัยที่ทำร่วมกับสถาบันการศึกษาทำให้ทราบว่า เรายังมีความรู้ค่อนข้างน้อยสำหรับพืช ดังนั้น จึงต้องทำงานอีกมากเพื่อให้สามารถเข้าใจพืชได้ดียิ่งขึ้น เพราะแม้มีเทคโนโลยี แต่ยังขาดข้อมูล หรือองค์ความรู้ ก็คงไม่สามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องประกอบด้วยความรู้ และข้อมูลที่สังเคราะห์แล้ว
สำหรับงานวิจัยที่ผ่านมา อาทิ การสังเกตพฤติกรรมของพืชตามสภาพอากาศ โดยใช้รีโมทเซนซิ่งเข้ามาสังเกต เก็บข้อมูลเพื่อประเมินสุขภาพพืช รวมถึงอีกหลาย ๆ โปรเจคที่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง เพื่อทำความเข้าใจพืชและสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้มาแปรค่าต่าง ๆ แปรข้อมูล และปรับใช้กับเทคโนโลยี ลดข้อจำกัดและเพิ่มคุณภาพผลผลิต และนำไปใช้งานที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ
เทคโนโลยีในปัจจุบัน การเก็บข้อมูลเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก แต่การแปรรูปข้อมูล สังเคราะห์ จับคู่หรือผสานข้อมูลเพื่อให้สามารถตกผลึกเป็นองค์ความรู้ใหม่ โดยจำแนกข้อมูลจาก Big Data ที่เก็บรวบรวมมา และใช้งานข้อมูลนั้น ๆ ได้จริง (Data Mining) ยังเป็นความท้าทายของนักธุรกิจเกษตร แต่ก็เป็นโอกาสด้วยเช่นกัน เพราะหากใครทำได้ อาจจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้เลย
ตลาดออนไลน์ ทำให้รู้จักสินค้าและลูกค้า ชัดเจนขึ้น
สวนสุขเกษม เน้นพัฒนาผลผลิตคุณภาพ ราคาสูง และให้ความสำคัญในเรื่องของรสชาติ มากกว่ามุ่งผลิตจำนวนมาก รูปลักษณ์ดูดี แต่ผลผลิตไม่มีคุณภาพ จึงเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างจากผลผลิตทั่วไป โดยเรามีการออกแบบแปลงปลูกและคำนวณต้นทุนผลิตในแต่ละรอบเก็บเกี่ยว คำนวณการให้น้ำ ให้ธาตุอาหารเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ตรงความต้องการ มูลค่าสูง ทำให้ผลผลิตสามารถแข่งขันในตลาดได้ ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ
ที่ผ่านมา ได้พัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ เริ่มจากการขายผลไม้ออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook จากเดิมที่ขายทุเรียนส่งอออไปตลาดจีนเป็นหลัก ราคาขึ้นลงตามดีมานด์และซัพพลายของตลาด เน้นผลิตปริมาณมาก ซึ่งก่อนนี้เราไม่ทราบมูลค่าจริง ๆ ของผลผลิตที่ขายไป หรือไม่ทราบว่าผลผลิตขายไปที่ไหนบ้าง
สำหรับการขายในช่องทางออนไลน์ แม้ไม่ได้มีกำไรมากนัก แต่พิจารณาสิ่งที่ได้ คือ การรู้จักสินค้า และลูกค้าชัดเจนขึ้น เช่น ทุเรียนพันธุ์ไหนมูลค่าสูง ทุเรียนพันธุ์ไหนอนาคตตลาดต้องการน้อย ข้อมูลเหล่านี้ได้จากการเข้ามาขยายช่องทางออนไลน์ ทุกวันนี้เราทราบแล้วว่า ลูกค้าต้องการเนื้อทุเรียนแบบไหน หรือทุเรียนแบบไหนที่ลูกค้าให้มูลค่าสูง สินค้าที่มีปัญหาคืออะไร ควรปรับแก้ตรงไหน สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์มากต่อการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
ทุเรียนใน ‘ตลาดจีน’ ตอนนี้เป็นอย่างไร
ตลาดส่งออกทุเรียนไทยไปตลาดจีนยังเป็นเรื่องของปริมาณ ซึ่งเดิมทีผู้บริโภคขาดข้อมูลในตัวสินค้า หรือไม่รู้จักสินค้าดีพอ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลสินค้ามากขึ้น เข้าใจว่าทุเรียนมีพันธุ์ไหน แบบไหน เนื้อในแบบไหน จึงสามารถเลือกได้ตามความต้องการ
เหตุนี้ ความรู้ของผู้บริโภค จะเป็นสิ่งผลักดันให้ตลาดหันมาพัฒนาทุเรียนคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น วันนี้รูปแบบการค้าปลายทางในตลาดต่างประเทศเริ่มเปลี่ยนไป เนื่องด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้เกิดระบบการรับประกันสินค้า จากเดิมที่เกิดปัญหาทุเรียนอ่อนหรือกินไม่ได้ ค่อย ๆ หมดไป ทำให้ผู้ซื้อที่เป็นผู้บริโภคปลายทางเชื่อมั่นในการซื้อสินค้า ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ตลาดทุเรียนมีคุณภาพเติบโตยิ่งขึ้น
ในภาพของตลาดทุเรียนในจีนจึงเริ่มชัดเจนขึ้น ทั้งในแง่ของความเชื่อมั่น และความรู้ของผู้บริโภค ล่าสุด ตลาดจีนยังเกิดระบบการรับประกันสินค้าที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ความเสี่ยงจึงตกไปอยู่ที่ผู้ค้าส่ง หรือพ่อค้าชาวจีนที่ตลาดปลายทาง แต่เชื่อว่าจะยิ่งกระตุ้นการบริโภคทุเรียนในจีนได้ดียิ่งขึ้น
ในทางกลับกัน ทุเรียนที่ด้อยคุณภาพ จะถูกลดโอกาสลงไปด้วย เนื่องจากเกิดระบบการรับประกันสินค้า ความเสี่ยงในกรณีทุเรียนเน่าเสีย หรือ ทุเรียนอ่อน กินไม่ได้ จะตกไปอยู่ที่พ่อค้าปลายทาง ทิศทางต่อไป คือ พ่อค้าคนกลางจะพิจารณาเรื่องของคุณภาพสินค้ามากกว่าในอดีต ซึ่งกลไกนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนตลาดทุเรียนไทยไปตลาดจีน
ซัพพลายเชนของทุเรียนเปลี่ยนไปอย่างไร
เมื่อความต้องการทุเรียนไทยในตลาดจีนมีสูง ขณะที่ปริมาณทุเรียนไทยในแต่ละปียังไม่เพียงพอ เหตุนี้ การคัดกรองคุณภาพตั้งแต่ต้นทางที่ยังเน้นเชิงปริมาณ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดช่วงเวลานั้น จึงทำได้ยาก และเมื่อราคาทุเรียนสูง มักจะเกิดนักลงทุนรายใหม่ ที่เข้ามาแสวงหาโอกาสในตลาดทุเรียนไทยมากมาย เกิด ‘ล้ง’ (ผู้รวบรวบผลผลิตเกษตรตามฤดูกาลเพื่อขายส่ง) ขึ้นเป็นจำนวนมาก เกิดการแข่งขันสูงเพื่อให้ได้สินค้าส่งทันตามออร์เดอร์
เหตุนี้ การจะคัดกรองคุณภาพจึงทำได้ยาก ท่ามกลางดีมานด์และซัพพลายของตลาดทุเรียนที่ยังไม่สอดคล้องกัน เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพตลาดทุเรียนไทยตั้งแต่ต้นทาง ปัญหาที่เห็นได้ชัดจากการที่ทุเรียนไทยด้อยคุณภาพ ทำให้พ่อค้าชาวจีนปลายทางเริ่มหันไปซื้อทุเรียน(ไทย)จากประเทศเวียดนามแทน เชื่อว่าหากเป็นแบบนี้ต่อไปซัพพลายเชนทุเรียนไทยอาจเปลี่ยนไป เราอาจต้องขายทุเรียนผ่านล้งในเวียดนามก่อนเข้าตลาดจีน
ภาพดังกล่าว เริ่มเกิดขึ้นบางแล้ว เนื่องจากหากพ่อค้าผู้ซื้อปลายทางซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพไปทำให้ขาดทุน เพราะตลาดบริโภคเกิดระบบรับประกันสินค้า หันไปซื้อผ่านพ่อค้าชาวเวียดนามแทน กรณีนี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวของตลาดทุเรียนไทยอย่างแน่นอน
TDA สร้างกลไกพัฒนาคุณภาพทุเรียนไทย
คุณวุฒิชัย สะท้อนปัญหาว่า เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และพัฒนาคุณภาพผลผลิต ภายใต้การรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่หลากหลายสาขา ที่ต้องการผลักดันตลาดทุเรียนคุณภาพจากไทย รวมกลุ่มในนาม สมาคมทุเรียนไทย (TDA) เน้นการทำงานเพื่อสร้างอนาคตให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในระยะยาวผ่าน 3 ขั้นตอน
ลำดับแรก พัฒนาการจัดการผลผลิตตั้งแต่ต้นทาง หากสวนทุเรียนมีการจัดการที่ดี จะส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สามารถคัดกรองคุณภาพทำได้ง่ายขึ้น และลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ ออกไปได้ด้วย
ลำดับที่ 2 หากคุณภาพต้นทางไม่ดี จะมีการ สร้างกลไกควบคุมและตรวจสอบหลังการเก็บเกี่ยว อาจมีการพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบคัดกรองคุณภาพทุเรียน เพื่อสร้างกลไกการรับผิดชอบต่อสินค้า อาทิ ระบบแทรกกิ้ง หรือการตรวจสอบย้อนกลับผลผลิต และจะเป็นกลไกในการคัดกรองผลผลิตและพ่อค้าที่ขายสินค้าด้อยคุณภาพจะแข่งขันยากขึ้น
ลำดับที่ 3 คือ สร้างแบรนด์ แยกตลาด โดยมองว่าภาพใหญ่สำหรับตลาดทุเรียนไทยมีทั้งคุณภาพดีและไม่ดี เหตุนี้ หากเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทย ตลาดจะเสียทั้งระบบ การแยกสินค้าคุณภาพออกจากของส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ให้ตัวสินค้า เพื่อสร้างความแตกต่างและมองว่าเป็นโอกาสในอนาคต
คุณวุฒิชัย ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีการปรับตัวและพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น กระนั้น ยังมองว่าเป็นส่วนน้อยที่ตระหนักถึงปัญหาที่จะส่งผลในระยะยาว การทำอะไรเองเพียงลำพัง อาจจะขับเคลื่อนหรือสร้างผลกระทบได้ไม่มากนัก แต่หากรวมกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน และวางแนวทางเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาตลาดทุเรียนระยะยาว สามารถยกระดับคุณภาพตลาดทุเรียนได้ และจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ฝากแง่คิดถึงชาวสวนทุเรียน
คุณวุฒิชัย ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีการปรับตัวและพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น กระนั้น ยังมองว่าเป็นส่วนน้อยที่ตระหนักถึงปัญหาที่จะส่งผลในระยะยาว การทำอะไรเองเพียงลำพัง อาจจะขับเคลื่อนหรือสร้างผลกระทบได้ไม่มากนัก แต่หากรวมกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน และวางแนวทางเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาตลาดทุเรียนระยะยาว จะสามารถยกระดับคุณภาพตลาดทุเรียนได้ และจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่: Sukkasem Orchard - สวนสุขเกษม by SFG
https://www.facebook.com/profile.php?id=100063626708117
https://www.tiktok.com/@sukkasemorchard