Sustainability 101: เริ่มต้นธุรกิจ SME อย่างไรให้ยั่งยืน อยู่รอด สอดรับเทรนด์โลก

SME Update
17/02/2025
รับชมแล้วทั้งหมด 2 คน
Sustainability 101: เริ่มต้นธุรกิจ SME อย่างไรให้ยั่งยืน อยู่รอด สอดรับเทรนด์โลก
banner
ในอดีต ‘Sustainability’ หรือ ‘ความยั่งยืน’ อาจนิยามถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้แก้ปัญหาโลกร้อนเท่านั้น แต่ปัจจุบัน Sustainability กลายเป็นแนวทางประกอบธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาไว้ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ในบทความนี้ Bangkok Bank SME จึงรวบรวมองค์ความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจยั่งยืน มาจัดทำเป็นคัมภีร์ ‘Sustainability 101’ ฉบับปูพื้นฐานเบื้องต้นเพื่อเจ้าของธุรกิจ SME มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน!

Sustainability คืออะไร?  
UCLA Sustainability Committee นิยามความหมายของ Sustainability เอาไว้ว่า “การบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางสังคม และเศรษฐกิจ เพื่อสร้างชุมชนที่เจริญรุ่งเรือง มีความหลากหลาย ยืดหยุ่นสำหรับคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป” 


สาเหตุที่ประชาคมโลกเริ่มหันมาสนใจเรื่อง Sustainability ก็เนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะยิ่งแสดงผลชัดขึ้น สอดคล้องกับผลวิจัยต่าง ๆ ที่ยืนยันว่าทรัพยากรบางส่วนกำลังจะหมดไป มนุษย์จำเป็นต้องหาวิธีรับมือ และพยายามใช้ทรัพยากรที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะทำได้ การเผยแพร่ความรู้เรื่องการประหยัดไฟฟ้า การลดใช้ถ่านหิน การรณรงค์เรื่องพลังงานสะอาด จึงถือกำเนิดขึ้นในเวลาต่อมา
Sustainability สำคัญกับภาคธุรกิจอย่างไร?  

การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิธีการลดการใช้พลังงาน อาจทำให้คนเข้าใจ ‘สภาวะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม’ ที่โลกกำลังเผชิญมากขึ้น แต่ไม่อาจแก้ปัญหาที่ต้นตอได้ เพราะถ้าเราลองวิเคราะห์กันดูดี ๆ “ภาคธุรกิจมีแนวโน้มว่าจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด” การปลูกฝังรากฐานเรื่องความยั่งยืน การคำนึงถึงผลกระทบด้านระบบนิเวศ และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลงไปในโมเดลธุรกิจเลย จึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

SME เป็นเพียงธุรกิจขนาดย่อม - ทำไมต้องรู้เรื่อง Sustainability?  
ในฐานะเจ้าของธุรกิจขนาดย่อม ที่ขับเคลื่อนโดยทีมงานไม่กี่คน คุณอาจมองว่าธุรกิจของตัวเองไม่น่ามีส่วนในการใช้ทรัพยากรของโลกใบนี้มากเท่าธุรกิจขนาดใหญ่ แต่รู้หรือไม่? ปัจจุบันธุรกิจ SME มีสัดส่วนมากถึง 90% ของทุก ๆ ธุรกิจบนโลก (อ้างอิง: Forbes) และเฉพาะในประเทศไทยเอง ก็มีธุรกิจ SME มากถึง 3.2 ล้านธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 90 ของวิสาหกิจทั้งหมดเช่นกัน (อ้างอิง: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ดังนั้น แม้ธุรกิจ SME เพียง 1 แห่งจะใช้ทรัพยากรไม่มากเท่าไหร่ แต่หากมองในภาพใหญ่ ธุรกิจ SME มีสัดส่วนมากกว่าธุรกิจไซซ์อื่น ๆ การปลูกฝังแนวคิดเรื่อง Sustainability ให้กับธุรกิจ SME จึงตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนมากที่สุด 

รู้จัก Sustainability 3 เสาหลัก 
เมื่อองค์ความรู้เรื่อง Sustainability ได้รับการวิเคราะห์ในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น ประชาคมโลกจึงเห็นพ้องต้องกันว่า การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความยั่งยืนเท่านั้น จนในที่สุดก็มีการคิดค้น ‘3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (3 Pillars of Sustainability)’ ขึ้น เพื่อเป็นกรอบการประเมินความยั่งยืนสำหรับองค์กร โดยมีองค์ประกอบดังนี้


1. มิติด้านสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎระเบียบ เพื่อควบคุมและจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการคิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อบริหารจัดการที่ดิน น้ำ การปล่อยมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศ การจัดการขยะ ไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน
2. มิติด้านสังคม
การริเริ่มนโยบายสาธารณะ หรือการกำกับดูแลสังคมก็สำคัญไม่แพ้กัน อาทิ การเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงการดูแลเรื่องสุขภาพ การสนับสนุนเรื่องความยุติธรรม ฯลฯ
3. มิติด้านเศรษฐกิจ
นอกเหนือจากการแสวงหาผลกำไรแล้ว ธุรกิจควรผนวกวิธีการทางเศรษฐกิจให้เข้ากับความยั่งยืน เช่น สนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ซ้ำ การซ่อมแซม การดัดแปลง เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้ได้มากที่สุด 

กรอบแนวคิดทั้ง 3 เสาหลักนี้ ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกใน Brundtland Report ปี 1987 เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางสังคม และผลกำไรทางเศรษฐกิจดำเนินไปควบคู่กัน และยังคงเป็นกรอบแนวคิดที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดเสมอมาเมื่อพูดถึงความยั่งยืน

7 วิธีเริ่มต้นธุรกิจ SME ให้สอดคล้องกับแนวคิด Sustainability
จากองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เรารวบรวมมา คงพอจะทำให้เจ้าของธุรกิจ SME เข้าใจว่า แนวคิดเรื่อง Sustainability สำคัญกับธุรกิจ SME มากแค่ไหน และนับจากวันนี้ หากเจ้าของธุรกิจท่านใดต้องการจะออกสตาร์ทก้าวใหม่สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน Bangkok Bank SME มี 7 เคล็ดลับมาฝากทุกท่าน ดังนี้



1. วางนโยบายใหม่ สนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
เสาหลักแห่งความยั่งยืนข้อแรก ‘มิติด้านสิ่งแวดล้อม’ แสดงให้เราเห็นว่า ไม่ว่าอย่างไร การรักษาสิ่งแวดล้อมก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของ Sustainability อยู่ดี ดังนั้น ธุรกิจ SME ที่ต้องการเดินตามทางสู่ความยั่งยืนจึงต้องไม่ลืมเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย แนะนำให้ลองวางกรอบนโยบายเรื่องการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิต หรือการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กรใหม่ ตัวอย่างเช่น การทดลองใช้แผงโซล่าร์เซลล์ หลอดไฟ LED การออกแบบกระบวนการผลิตให้ใช้ไฟ น้ำ หรือวัตถุดิบน้อยลงกว่าเดิม ตลอดจนสนับสนุนให้มีการ Reduce, Reuse และ Recycle วัสดุต่าง ๆ ในองค์กร เป็นต้น


2. พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับธุรกิจเครื่องอุปโภคและบริโภค คุณอาจลองนำเสนอ Eco-friendly Product เป็นทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น เปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือบรรจุภัณฑ์ที่เน้นการใช้ซ้ำ หรือธุรกิจบริการเอง ก็อาจนำเสนอ Eco-friendly Service เช่น การรีไซเคิลภายในโรงแรม ธุรกิจห้องพักที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือเมนูอาหารที่ปรุงด้วยผัก - ผลไม้จากแปลงเกษตรยั่งยืน เป็นต้น 

3. ลดของเสียในกระบวนการการผลิต
ลองการวิเคราะห์การใช้พลังงาน น้ำ วัตถุดิบ และทรัพยากรอื่น ๆ ในกระบวนการ เพื่อสำรวจว่าขั้นตอนใดบ้างที่สามารถจัดการของเสีย หรือนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์อาจลดการใช้ไม้โดยการออกแบบให้ใช้วัสดุน้อยลง โดยนำเศษไม้กลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ คัดแยกขยะ รีไซเคิล และกำจัดของเสียอย่างถูกวิธี ก็สามารถช่วยลดของเสียได้

4. การสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน
การสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน (Sustainable Supply Chain) คือ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานโดยคำนึงถึงผลกระทบใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งควรบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง กล่าวคือ เลือกซัพพลายเออร์ที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี เช่น ซัพพลายเออร์ที่ใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการจัดการแรงงานที่เป็นธรรม และมีการจัดการของเสียอย่างเหมาะสม ตลอดจนสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบมาจากแหล่งที่ยั่งยืนและไม่ผิดกฎหมาย และส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตเสื้อผ้าเลือกใช้ผ้าฝ้ายออร์แกนิกที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี หรือร้านอาหารที่เลือกใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในท้องถิ่นที่ทำเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

5. สร้างความโปร่งใสในธุรกิจ
เพื่อให้พาร์ทเนอร์ คู่ค้า และผู้บริโภค ได้ทำความรู้จักกับคุณใหม่ในฐานะ ‘ธุรกิจ SME แห่งความยั่งยืน’ และเชื่อถือในวิธีการของคุณ พึงให้ความสำคัญกับความโปร่งใสที่พิสูจน์ได้ว่า คุณดำเนินการตามนโยบายเรื่อง Sustainability จริง ๆ ด้วยรายงานเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ฉบับเป็นตัวเลข วัดผลได้ เช่น จำนวนการลดใช้พลาสติก หรือปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงจากการผลิต (เทียบกันปีต่อปี) เป็นต้น 

6. ส่งเสริมความยั่งยืนในองค์กร
การดำเนินนโยบายเรื่อง Sustainability จะเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพได้ ก็ต่อเมื่อคนในองค์กรเห็นความสำคัญของสิ่งนี้จริง ๆ จากใจ ดังนั้น ในฐานะผู้ประกอบการ คุณจึงควรจัดโปรแกรมฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับแนวทางนี้ รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมชวนปลูกต้นไม้ ลดการใช้พลาสติกในสำนักงาน รวมทั้งมีรางวัลตอบแทนให้กับคนที่ให้ความร่วมมือ เพื่อสร้างแรงจูงใจ

7. ผสานความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ
แนะนำให้ผสานความร่วมมือกับคู่ค้าที่มีแนวทางเรื่อง Sustainability ชัดเจน หรือร่วมมือกับชุมชน หรือหน่วยงานรัฐ ที่สนับสนุนเรื่องความยั่งยืน เช่น เกษตรกรท้องถิ่น การปลูกป่า การพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อให้ธุรกิจของคุณเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะธุรกิจยั่งยืน และยังเป็นการรวบรวมแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อพัฒนานโยบายเรื่อง Sustainability ของคุณให้ก้าวหน้า ไม่หยุดอยู่กับที่อีกด้วย

ทั้ง 7 วิธีนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณเดินทางบนถนนสาย Sustainability ตามเทรนด์โลกได้อย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกด้วย มาเป็นหนึ่งในธุรกิจ SME ที่ร่วมพัฒนาโลกนี้ให้น่าอยู่ไปด้วยกันเถอะ!

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Sustainability 101: เริ่มต้นธุรกิจ SME อย่างไรให้ยั่งยืน อยู่รอด สอดรับเทรนด์โลก

Sustainability 101: เริ่มต้นธุรกิจ SME อย่างไรให้ยั่งยืน อยู่รอด สอดรับเทรนด์โลก

ในอดีต ‘Sustainability’ หรือ ‘ความยั่งยืน’ อาจนิยามถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้แก้ปัญหาโลกร้อนเท่านั้น แต่ปัจจุบัน Sustainability กลายเป็นแนวทางประกอบธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาไว้…
pin
2 | 17/02/2025
ส่องอนาคต ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ทำไม? ถึงกลายเป็นแหล่งพลังงานใหม่ของไทย ไปสู่ Net Zero ไวขึ้น

ส่องอนาคต ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ทำไม? ถึงกลายเป็นแหล่งพลังงานใหม่ของไทย ไปสู่ Net Zero ไวขึ้น

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีโจทย์สำคัญต้องเร่งแก้ นั่นคือ ภาวะโลกเดือด และปัญหาด้านพลังงาน ซึ่งทั้ง 2 เรื่อง เป็นปัญหาใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงกัน…
pin
37 | 15/12/2024
8 สูตรลับ Festive Marketing เพิ่มยอดขายแบบประหยัด แต่ครองใจลูกค้าทุกเทศกาล

8 สูตรลับ Festive Marketing เพิ่มยอดขายแบบประหยัด แต่ครองใจลูกค้าทุกเทศกาล

กลยุทธ์ Festive Marketing คืออะไร?Festive Marketing หรือการตลาดช่วงเทศกาล เป็นกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเน้นการสร้างแคมเปญและกิจกรรมทางการตลาดที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลต่าง…
pin
33 | 13/12/2024
Sustainability 101: เริ่มต้นธุรกิจ SME อย่างไรให้ยั่งยืน อยู่รอด สอดรับเทรนด์โลก