เราทราบกันดีว่า มีรายได้ ก็ต้องจ่ายภาษี
เพื่อให้รัฐนำเงินดังกล่าวไปพัฒนาประเทศ
แต่จะดีมั้ยถ้าเราสามารถจ่ายภาษีอย่างถูกต้องแต่จ่ายน้อยลงซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ เพียงแค่รู้วิธีลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้องซึ่งเป็นประโยชน์มากทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
โดยการลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษีเงินได้เป็นสิทธิทั่วไปที่ผู้มีเงินได้ตามที่กรมสรรพากรระบุ ซึ่งสิทธิลดหย่อนภาษีก็มีอยู่มากมายหลายข้อตามที่ระบุไว้ในรายการลดหย่อนภาษี สำหรับบุคคลทั่วไปก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ง่ายๆ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. ผู้มีเงินได้ ก็ได้รับการลดหย่อนภาษีทันที 60,000 บาท (แค่จ่ายภาษีก็ได้ลดหย่อน)
ทั้งหากแต่งาน แต่คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) สามารถได้รับการลดหย่อนอีก 60,000 บาท
แต่ในกรณีที่คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000
บาท
2. มีบุตรและบุตรบุญธรรม หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
และรัฐยังส่งเสริมคนไทยมีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปโดยลดหย่อนภาษีได้อีก 30,000 บาท/คน รวม 60,000 บาท สำหรับบุตรคนที่
2 ขึ้นไปเริ่มตั้งแต่ปีภาษี 2561 เป็นต้นไป โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร
ส่วนบุตรบุญธรรม หักลดหย่อนได้ไม่เกิน
3 คน กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่จำนวนตั้งแต่ 3 คน
จะนำบุตรบุญธรรมมาหักอีกไม่ได้ แต่หากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่ถึง 3 คน
ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้รวมกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
บุตรที่นำมาหักลดหย่อนต้องไม่มีเงินได้ตั้งแต่
30,000 บาทขึ้นไปและเข้าหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
- เป็นผู้เยาว์
- บุตรมีอายุไม่เกิน 25 ปี
และกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษา
-
เป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู
3. เลี้ยงดูพ่อแม้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยพ่อแม่ต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน
30,000 บาท หักค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาท
และสามารถหักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
4. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท
5. ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ
10 ปีขึ้นไป)
ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน
100,000 บาท ทั้งนี้หากคู่สมรสมีการประกันชีวิต
และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี(หมายถึงในปีรอบภาษีนั้นยังไม่หย่ากัน)
ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อน
สำหรับเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน
10,000 บาท
ในกรณีที่ คู่สมรสต่างมีเงินได้ ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง
เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท
ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย
6. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส นำมาหักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน
30,000 บาท
7. เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000
บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 490,000 บาท ซึ่งไม่เกินร้อยละ 15
ของค่าจ้างให้หักจากเงินได้
8. เงินค่าซื้อ RMF และLTF ได้รับยกเว้นเท่าที่จ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ
ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น
และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
สำหรับ LTF หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น
แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
และต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมระยะยาวต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนรวมหุ้นระยะยาว
เพราะทุพพลภาพหรือตาย
9. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15
ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี แต่ต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85
ปีหรือกว่านั้น และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน
500,000 บาท
10. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
และเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
11. ดอกเบี้ยกู้ยืม ที่จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์
หรือนายจ้าง สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย
โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืม
หักค่าลดหย่อนตามจำนวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
12. เงินสมทบ/ค่าเบี้ยประกัน เงินสบทบประกันสังคมสามารถหักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
ส่วนค่าเบี้ยประกันสุขภาพหักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดตั้งแต่ 10
ปีขึ้นไป
และเงินฝากที่จ่ายไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะแล้วต้องไม่เกิน
100,000 บาท
13. เงินบริจาค กรณีนี้เงินบริจาคทั่วไป หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น หากบริจาคสนับสนุนการศึกษาหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ส่วนกรณีเงินบริจาคสาธารณประโยชน์ หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
โครงการรัฐหักลดหย่อนภาษีจากภาครัฐในปี
2562
โดยในปี 2562 ทางฝั่งภาครัฐบาลออกมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาแบ่งออกเป็น
3 กลุ่มดังนี้
1.
กลุ่มลดหย่อนเพื่อการท่องเที่ยวทั่วไทย
แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ค่าลดหย่อนท่องเที่ยวเมืองหลัก 15,000 บาท
และค่าลดหย่อนท่องเที่ยวเมืองรองจำนวน 20,000 บาท
และทั้งสองตัวนี้มีเงื่อนไขร่วมกัน คือ ค่าลดหย่อนรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 20,000
บาท
2. กลุ่มค่าลดหย่อนเพื่อการใช้จ่าย มี 3 ประเภท คือ ค่าลดหย่อนซื้อสินค้า OTOP ค่าลดหย่อนซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา
และค่าลดหย่อนซื้อหนังสือและอีบุ๊ค ได้รับการลดหย่อนประเภทละ
15,000 บาท
3. ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ นั่นคือ ค่าลดหย่อนซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรก ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด
200,000 บาท สำหรับบ้าน (พร้อมที่ดิน) หรือคอนโดหลังแรก(ไม่จำกัดว่ามีบ้านกี่หลัง)แต่มีเงื่อนไขไว้ว่า
ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท และต้องซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 30 เมษายน - 31
ธันวาคม 2562
ข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้รอบจ่ายภาษีที่กำลังจะมาถึงนี้จะทำให้คุณวางแผนภาษีได้ดีขึ้น