5G จะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย ปี 2020

SME in Focus
09/01/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 3982 คน
5G จะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย ปี 2020
banner

เทคโนโลยียุคที่ 5 หรือ 5G เกิดขึ้นในประเทศไทยแน่นอนปี 2020 หลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้ภาคเอกชนยื่นซองประมูลอย่างเป็นทางการวันที่ 16 ก.พ.2563 และคาดใช้งานได้อย่างเป็นทางการภายในเดือน พ.ค.ปีเดียวกัน นับเป็นมิติใหม่แห่งการนำเทคโนโลยีชั้นสูงขับเคลื่อนประเทศไทย เข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาเต็มตัวและเพื่อผลักดันเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชีย

นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 4G ซึ่งเป็นยุคที่ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกได้ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5G ที่ทันสมัยและสมบูรณ์มากที่สุด

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

 

การเข้ามาของ 5G ของไทยจะมีความสอดคล้องกับการผลักดันเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล เพราะพื้นฐานของ 5G ไม่ได้ใช้เพื่อการโทรคมนาคมทางด้านเสียง หรือ แค่ส่งผ่านข้อมูลสำหรับสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ 5G คือ ยุคของการเชื่อมโยงทุกอุปกรณ์ทุกชนิดเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ ( IoT) ที่จะช่วยเชื่อมโยงอุปกรณ์และแอปพลิเคชั่นทุกแฟลตฟอร์มทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด

จุดเด่นของโครงข่าย 5G แตกต่างจาก 4G อย่างสิ้นเชิง นอกจาก 5G มีความเร็วรับส่งข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น 15 เท่าแล้ว สิ่งที่ 5G จะทำให้เกิดนวัตกรรมหรือบริการใหม่นั่นคือการตอบสนองสัญญาณ (Latency) ที่เร็วมากเพียงเสี้ยววินาที หรือ 1 ใน 1,000 ของวินาที ซึ่งจะทำให้การควบคุมอุปกรณ์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น และยังรองรับอุปกรณ์ IoT ได้นับล้านชิ้นในหนึ่งตารางกิโลเมตร นี่คือสิ่งที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ยุค 5G ในการออกแบบให้บริการต่างๆจากภาคธุรกิจสู่ธุรกิจด้วยกัน จนถึงภาคธุรกิจสู่ผู้ใช้งานทั่วไป

 

ลดเหลี่ยมล้ำทางสังคม-ทัดเทียมนานาชาติ

การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทยนั้น นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยืนยันว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยพัฒนาทางสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษา การแพทย์ สาธารณสุข และการยกระดับสวัสดิการทางสังคม โดยเทคโนโลยีจะเชื่อมประสานระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทอย่างไร้พรมแดน ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการเข้าถึงทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลผ่านทางไกล เท่ากับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างแน่นอนตามนโยบายของรัฐบาล

ขณะเดียวกันการเกิดเทคโนโลยี 5G จะทำให้ประเทศไทยมีความทัดเทียมกับนานาชาติและชาติเอเชียด้วยกันกัน เช่น ต้นปี 2563 ประเทศเวียดนาม มาเลเชีย ลาว เมียนมา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ได้ประกาศแล้วว่าจะเริ่มต้นใช้เทคโนโลยี 5G ภายในปี 2020 โดยมุ่งมั่นพัฒนาประเทศก้าวสู่ความเป็นเลิศ ส่วนประเทศญี่ปุ่นจะใช้เทคโนโลยี 5G ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนำร่อง ไม่แตกต่างกับอีกหลายประเทศในโลกที่จะเริ่มต้นนำเทคโนโลยี 5 G มาใช้เพื่อจูงใจนักลงทุนในประเทศเพราะเทคโนโลยี 5G จะช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่างๆทั้งอุตสาหกรรม การแพทย์ การเกษตร โลจิสติกส์ และอื่นๆ

"รัฐบาลไทยได้ประกาศเมื่อช่วงปลายปี 2562 ว่าจะเริ่มใช้เทคโนโลยี 5G ภายในต้นปี 2563 เชื่อว่าการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาประเทศจนกลายเป็นผู้นำอาเซียน ที่มีส่วนช่วยเหลือสังคมได้มากกว่าการเป็นเครือข่ายโมบายหลักเท่านั้น"

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง กสทช. จะนำคลื่นออกมาประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563 จำนวน 3 คลื่น ได้แก่ คลื่น 1800,2600 เมกะเฮิรตช์ และ 26 กิกะเฮิรตช์ รวมทั้งสิ้น 53 ใบอนุญาต ราคาประมูลโดยรวม 134,201 ล้านบาท โดย กสทช.คาดว่า จะสามารถนำเงินเข้ารัฐจากการประมูลได้คิดมูลค่าจำนวน 37,070 ล้านบาท ส่วนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตช์ คาดว่าจะไม่มีผู้สนใจประมูล

ขณะที่คลื่นที่ได้รับความสนใจพิเศษ คือ คลื่น 2600 เมกะเฮิรตช์ ขนาด 190 เมกะเฮิรตช์ จำนวน 19 ใบอนุญาตๆละ 10 เมกะเฮิรตช์ ราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 1,862 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถประมูลได้ทั้งหมด 19 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่าการประมูล 35,378 ล้านบาท และคลื่น 26 กิกะเฮิรตช์ ขนาด 2,700 เมกะเฮิรตช์ จำนวน 27 ใบอนุญาตๆ ละ 100 เมกะเฮิรตช์ ราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 423 ล้านบาท คาดว่าจะประมูลได้จำนวน 4 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่าการประมูล 1,692 ล้านบาท

 

ผลักดัน 5G เติบโตทีละก้าวให้ภาคธุรกิจปรับตัว

เทคโนโลยียุคที่ 5 จะเกิดขึ้นในประเทศไทยและรวดเร็วตามนานาประเทศได้นั้น นายอเล็กซานดร้า ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค บอกว่า ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมในการสร้างสรรค์รูปแบบการใช้งาน 5G ขึ้นมา เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทยได้

จากรายงานของ กสทช. พบว่า หากประเทศไทยยังขาดซึ่งระบบนิเวศสำหรับ 5G ภายในปี 2573 จะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสถึง 2.3 ล้านล้านบาท ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์การใช้งาน 5G อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม นายไรซ์ แนะว่าการนำ 5G มาใช้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้ประเทศไทยมีเวลาในการเตรียมตัวเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างสมบูรณ์แบบ และปี 2563 เมื่อถึงเวลาเริ่มต้นการนำ 5G มาใช้แล้ว อุตสาหกรรมต้องระบุความต้องการประโยชน์ของ 5G ที่สอดคล้องกับแนวของอุตสาหกรรมนั้นๆ และจะต้องลงทุนทรัพยากรที่พัฒนาสู่ 5G ซึ่งอุตสาหกรรมจะต้องยอมรับวิธีการทำงานที่มุ่งเน้นความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงในขณะเดียวกันการนำ 5G มาใช้กับองค์กรต้องทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้จริง

“แต่ต้องบอกว่าการขับเคลื่อน 5G ไม่ใช่เรื่องของเอกชนเพียงฝ่ายเดียว รัฐบาลต้องสนับสนุนด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติต้องเกิดขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายต่างๆ ตลอดทั้งให้รู้ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและลงทุน 5G ได้ตรงความต้องการ ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส บอกว่า ภาคเอกชนพร้อมให้สนับสนุนรัฐบาลในการประมูล 5G เต็มที่ แต่มีความเห็นว่า กสทช.ไม่ควรรีบเปิดประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตช์ เพราะกว่าจะใช้งานได้ต้องรอ 2 ปี เนื่องจากคลื่นยังมีปัญหา ส่วนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตช์ ที่เหลืออยู่ก็แพงเกินไป แม้ว่าคลื่น 2600 เมกะเฮิรตช์ ถือว่าเป็นคลื่นที่ดีที่สุด แต่ไม่สากลเท่าคลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์ และคลื่น 26 กิกะเฮิรตช์ เทคโนโลยียังไม่พร้อม ดังนั้นจึงเสนอให้เปิดทดลองใช้ก่อนการประมูล เพื่อหาข้อบกพร่องเสียก่อน

การขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ให้ประสบความสำเร็จได้ หัวใจหลักไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐ หรือหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น เพราะการจัดสรรคลื่นความถี่นั้นเป็นแค่ส่วนเดียวของ 5G โดยในอนาคต กสทช. จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้งาน 5G คลื่น 700, 2600, 3500 เมกะเฮิรตซ์ และ 28 กิกะเฮิรตซ์ แต่หากจะให้มันขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องเกิดความร่วมมือทั้งเอกชน และภาควิชาการ รวมกันเป็น 3 พลังประสานงานภาครัฐ ช่วยในเรื่องข้อกฎหมาย อำนวยความสะดวก วางกติกา จัดสรรคลื่นอย่างเป็นธรรม ราคาไม่สูงเกินไป เพื่อเอื้อเอกชนนำมาพัฒนาบริการให้กับลูกค้า ส่วนภาควิชาการอาจจะนำความรู้ใหม่มาเสริม เพื่อสร้างให้การนำ 5G ไปใช้ได้ประโยชน์สูงสุด

ทว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่สังคมกำลังเฝ้าจับตารอและตั้งคำถามคือ  เมื่อไหร่คนไทยถึงจะได้ใช้ 5G ที่สำคัญจะเกิดประโยชน์ต่อคนไทยและภาคธุรกิจส่วนใหญ่มากแค่ไหน



แนวโน้มโลกต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5G

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยได้ใช้ 5G


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
81 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
589 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
532 | 10/04/2024
5G จะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย ปี 2020