สุดยอดเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ‘ไทยทิชชูคัลเจอร์’ จากความชอบไม้ด่าง สู่ธุรกิจรายได้งาม
จากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ สู่เจ้าของฉายา ‘ตำรวจเนื้อเยื่อ’ ส.ต.อ.อนุวัช อินปลัด ที่ปรึกษาบริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้คิดค้นระบบการผลิตกล้าพันธุ์ไม้ด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช สู่ธุรกิจรายได้งามที่กำลังเติบโต กับการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์เพื่อเพิ่มจำนวนต้นพืช และพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้พืชที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและให้ผลผลิตสูงในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยสามารถคิดค้นและพัฒนาพืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้นรวมแล้วกว่า 150 สายพันธุ์ และไม้ด่างอีกกว่า 140 สายพันธุ์ สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจและชุมชนในท้องถิ่น
ด้วยการมองเห็นโอกาส เมื่อตลาดมีความต้องการสูง แต่สินค้ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ที่การันตีด้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยประจำปี 2564 รอบภูมิภาค (Thailand INNO BIZ Champion 2021 Regional Round) ภายใต้ ‘นิลมังกรแคมเปญ’ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA

มองเห็นโอกาส พร้อมต่อยอด
คุณอนุวัช เล่าว่า ใช้เวลาว่างในการดำเนินธุรกิจจากอาชีพตำรวจ ซึ่งเดิมทีทำธุรกิจเห็ดถั่งเช่ามาก่อน ก่อนที่จะมาทำธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งตอนนั้นเห็ดถั่งเช่ายังไม่เป็นที่นิยม จนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นมีพืชเศรษฐกิจที่มีราคาขึ้นสูง คือกล้วยน้ำหว้า และกล้วยหอม จึงมองเห็นโอกาสอยากจะนำขยายพืชเหล่านี้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูก
ข้อดีของการขยายพันธุ์ในลักษณะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อง คือ สามารถผลิตต้นพันธุ์พืชปริมาณมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ต้นพืชที่ผลิตได้จะปลอดโรค ต้นพืชที่ผลิตได้จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแม่คือ มีลักษณะตรงตามพันธุ์ด้วยการใช้เทคนิคของการเลี้ยงจากชิ้นตาพืชให้พัฒนาเป็นต้นโดยตรง ต้นพืชที่ผลิตได้จะมีขนาดสม่ำเสมอ จึงให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้คราวละมากๆ พร้อมกัน หรือในเวลาเดียวกัน
“ไปขอซื้อต้นพันธุ์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ประมาณ 3,000 ต้น แต่แบ่งขายให้ได้แค่ 5 ต้น เนื่องจากพืชชนิดนี้ในตอนนั้นมีความต้องการทางการตลาดค่อนข้างสูง ทำให้ได้สินค้ามาแค่นั้น จากนั้นจึงมองเห็นโอกาส จึงได้เข้าไปขออบรมในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ”
จึงเป็นแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเข้าอบรมเพื่อให้เกิดความรู้ หลังจากนั้นก็เกิดการลองผิดลองถูกเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อประมาณ 2 ปี จากนั้นก็ขอขึ้นจดทะเบียนพาณิชย์ในนามเกษตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์เกษตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
จากนั้นก็ได้ทำการบ่มเพาะในเรื่องธุรกิจจากศูนย์ความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จนเกิดเป็นบริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

สร้างพืชท้องถิ่น ใช้นวัตกรรมพัฒนาสายพันธุ์ให้หลากหลาย
พัฒนาสายพันธุ์จากพืชที่ไม่สามารถเพาะปลูกภายในประเทศโดยผ่านวิธีการเลี้ยงเนื้อเยื่อ หลังจากนั้นก็ทำการฉายรังสีให้เกิดการกลายพันธุ์ และพัฒนาให้พืชสามารถปลูกในประเทศได้ จากการนำพืชต่างประเทศที่เป็นพืชทั่วไปมาสร้างให้เกิดมูลค่าของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังได้นำพืชท้องถิ่นของประเทศไทยที่คนไม่ค่อยนิยม มาทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแบบไฮโดโปนิกส์ด้วยการนำนุ่นมาใช้ ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า สามารถทำให้พืชแตกยอดได้เร็ว และขยายตัวได้ถึง 5 เท่าจากปกติ
“สำหรับนวัตกรรมของเราใช้เวลา 10-15 วัน ในการขยายพันธุ์ ซึ่งปกติจะขยายพันธุ์ได้ 1 เดือนต่อครั้ง แต่เราสามารถขยายได้ 2 ครั้ง ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว”

กลยุทธ์การหว่านแหยังใช้ได้ รองรับตลาดที่กำลังเติบโต
จากการที่เรียนรู้และเกิดแนวคิดในการพัฒนาอยู่เสมอทำให้ บวกกับการเล่นกับกระแสของพันธุ์ไม้ประดับ ไม้ด่าง บอนดี ทำให้ในปัจจุบัน บริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สามารถคิดค้นและพัฒนาพืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้นรวมแล้วกว่า 150 สายพันธุ์ และไม้ด่างอีกกว่า 140 สายพันธุ์
“เราไม่รู้ว่าพืชตัวไหนจะบูมขึ้นมา ดังนั้นกลยุทธ์การว่านแหด้วยการเพาะเนื้อเยื่อพืชที่หลากหลาย เวลาที่พืชชนิดนั้นบูมขึ้นมาเราก็มีขาย ซึ่งตอนนี้ไม้ด่างก็กำลังขายได้ราคาดี”
คุณอนุวัช ยังเล่าอีกว่า มีการร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในการนำพืชจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไปตีตลาดต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยเฉพาะไม้ด่างที่ได้รับความนิยมสูง
เขามองว่า เมื่อทุกประเทศทั่วโลกเปิดให้เดินทางเข้าออกอย่างเสรีมากขึ้น โอกาสของราคาต้นไม้จะพุ่งขึ้นสูงอีก เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นอีก

‘แอปเปิ้ลฟูจิ’ พืชเศรษฐกิจใหม่แดนอีสาน
จากสถิติประเทศไทยนำเข้าแอปเปิ้ลแต่ละปีอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท และยังมีการส่งออกด้วยประมาณ 100 กว่าล้านบาท ส่วนพันธุ์ที่นำเข้ามากที่สุดคือ พันธุ์ฟูจิ จึงตั้งโจทย์วิจัยขึ้นมาว่า เป็นไปได้หรือไม่ถ้าจะทำการปลูกแอปเปิ้ลเอง และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในประเทศไทย นำไปสู่การต่อยอดธุรกิจเพาะเนื้อเยื่อแอปเปิ้ลสายพันธุ์ฟูจิ
โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งเป้าในปี 2565 จะสามารถผลิตต้นแอปเปิ้ลให้ออกสู่ตลาดจำนวน 500,000 ต้น ปัจจุบันเริ่มปลูกที่จังหวัดมหาสารคาม ในอนาคตพร้อมนำร่อง 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น หนองบัวลำพู อุดรธานี สกลนคร
“อนาคตแพลนไว้แล้วว่าสมาชิกทั้งหมดกว่า 40 กว่ารายต้องแบ่งพื้นที่มาปลูกแอปเปิ้ล รวมตัวกันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สามารถมาชมสวนแอปเปิดได้ มาเก็บแอปเปิ้ลได้ ซึ่งศูนย์เพาะเนื้อเยื่อแห่งนี้จะเป็นแหล่งกระจาย พร้อมหาตลาดให้กับสมาชิก”

‘เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ’ สร้างธุรกิจได้หลายอาชีพ
ข้อดีในการเลี้ยงเนื้อเยื่อนอกจากสามารถเพาะพันธุ์พืชได้ทุกชนิดแล้ว อีกอย่างที่คุณอนุวัชมองว่า แม้กระทั่งเซลล์ ต่างๆ ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสามารถที่นำมามาสกัด และทำเป็นเครื่องสำอางได้ รวมไปถึงพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ ดังนั้นธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมันสามารถเติบโตและแตกแขนงไปได้อีกหลายธุรกิจ
เขาคาดว่า สามารถช่วยการตลาดในหลายภาคส่วน สามารถสร้างอาชีพเสริมให้กับบุคคลอื่นได้มากพอสมควร เช่น อาชีพคุณครู ตำรวจ ทหาร หรืออาชีพอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดออนไลน์เติบโตทำให้การค้าขายสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น
“หลายอาชีพก็เข้ามาทำการตลาดเนื้อเยื่อ ในการรับต้นพืชที่เป็นของเราในราคาส่ง แล้วก็ไปทำการตลาดออนไลน์ ปัจจุบันลูกค้าก็โทรมาเล่าให้ฟังว่า รายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อเดือน”

ไม่เพียงเท่านี้ ยังกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วยการจ้างงานคนในชุมชนในเรื่องของการอนุบาลต้นไม้ และร่วมทำงานภายใต้วิสาหกิจชุมชน จนเกิดการกระจายรายได้สู่เกษตรกร
“พนักงานที่อยู่ในห้องแลบ ส่วนมากก็เป็นชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน เป็นสมาชิกของวิสาหกิจชุนชน ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ จนได้รับการยกย่องว่าสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เก่ง”
นอกจากนี้ยังเปรียบตนเองเหมือนโรงงานผลิตต้นไม้ ซึ่งผลิตและส่งสินค้าให้กับลูกค้าทำการตลาดด้วยตนเอง และยังได้พัฒนาทำโรงเรือนระบบอีแวป (EVAP) ด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย เพื่อรองรับธุรกิจที่กำลังเติบโตในอนาคต
ด้วยความพยายามและความมุ่งมั่นพร้อมต่อยอดทั้งตัวแบรนด์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ามาโดยตลอด และการไม่หยุดที่จะมองหาโอกาสและพัฒนาต่อเติมความรู้ให้ตัวเอง บวกกับธุรกิจขายต้นไม้ ยังสามารถงอกงามและเติบโตสวนกระแสวิกฤติโควิด 19 ส่งผลให้ บริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สามารถประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
รู้จัก ‘บริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด’ ได้เพิ่มเติมที่ : https://www.facebook.com/Center.For.Plant.Tissue.Culture.1/