พลาสติกถือเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันและมีแนวโน้มการใช้งานมากขึ้น
เนื่องจากพลาสติกมีคุณสมบัติเบา แข็งแรง ทนทาน และราคาถูก
สามารถผลิตให้มีรูปแบบต่างๆ
ตามที่ต้องการได้ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าและทันสมัย ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์พลาสติกหลากหลายรูปแบบและมีสีสันสวยงามให้เลือกใช้อย่างมากมาย
ส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกในปริมาณมากขึ้น
โดยสำคัญขยะพลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายด้วยตัวเอง จากข้อมูลพบว่า โดยเฉลี่ย “ถุงพลาสติก” จะเป็นขยะที่มีปริมาณมากที่สุดและถูกทิ้งมากในทุกๆ วันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองและชุมชนขนาดใหญ่ รองลงมาจะเป็น “หลอดเครื่องดื่ม ฝาพลาสติก และภาชนะบรรจุอาหาร” ด้วยเหตุนี้ ทั่วโลกจึงวางแนวทางในการลดใช้พลาสติกและส่งเสริมให้เกิดการนำมาใช้ซ้ำและรีไซเคิลมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างตระหนักอย่างยิ่ง
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
จากกรณี World Economic Forum (WEF) ได้เผยแพร่สมุดปกขาว (White
paper) ว่าด้วยการวิเคราะห์โอกาสเพื่อส่งเสริมให้พลาสติกมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
(Circular Economy) มากขึ้น
โดยได้นำผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและการค้ามาร่วมวิเคราะห์และชี้แนวทางสำหรับการค้าและการลงทุน
เพื่อจัดการกับความท้าทายของปัญหาขยะพลาสติกข้ามพรมแดน และการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน
โดยระบุถึงสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งโลกผลิตพลาสติกมากกว่า
400 ล้านตันต่อปี มีเพียงร้อยละ 14–18
เท่านั้นของขยะพลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างถูกต้อง
และส่วนมากมักจะส่งออกไปต่างประเทศเพื่อไปรีไซเคิล
จากบริบทนี้ทำให้ต้องมีการหาแนวทางระเบียบข้อบังคับเพื่อทำให้การค้าขายเป็นไปอย่างถูกต้อง
และอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) สำหรับการรีไซเคิล อย่างไรก็ตามในปัจจุบันความท้าทายเพื่อขยายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติก
ยังมี 4 ความท้าทายหลัก ดังนี้
1. กฎระเบียบ เช่น การห้ามหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำเข้าขยะพลาสติก
2. มาตรฐานและข้อมูล เช่น มาตรฐานด้านฉลาก หรือภาครัฐต้องการให้ผู้รีไซเคิลผลิตพลาสติกรีไซเคิลในหลายเกรด
ซึ่งทำให้ต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้น
3. การลงทุน คือการส่งเสริมภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อทำให้เกิดการคุ้มค่าในการลงทุน
4. กระบวนการ เช่น ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปในอนุสัญญาบาเซลจะควบคุมการค้าขยะพลาสติกข้ามพรมแดนผ่านขั้นตอนการขอความยินยอมล่วงหน้า
(PIC)
นอกจากนี้ White paper ยังมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวเนื่องกับการระบาดของโควิด
19 ด้วยว่ามีความต้องการพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพิ่มขึ้น ทั้งอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
(PPE) บรรจุภัณฑ์จากการสั่งออนไลน์
บรรจุภัณฑ์จากบริการส่งอาหาร แต่ในขณะเดียวกันโควิด 19
ได้ทำให้ความสามารถในการรีไซเคิลลดลงจากการล็อคดาวน์
รวมทั้งรัฐบาลในบางประเทศได้มีการ
“ยกเลิกการห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง” เพื่อรักษาอัตราการติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำ
ในขณะที่หลายประเทศก็ได้ระงับหรือชะลอการห้ามใช้ถุงพลาสติก และสุดท้ายได้มีการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการวางแผนและดำเนินการในระยะยาว
เพื่อแก้ไขปัญหาจากพลาสติกด้วย
ในบทสรุปมีการนำเสนอนโยบายการค้าเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่มากขึ้นของทั่วโลกแบ่งออกเป็น
3 นโยบาย ได้แก่
1. มาตรการระหว่างพรมแดน (border measures) เช่น
อนุสัญญาบาเซล การสร้างระบบการจำแนกขยะพลาสติกที่สอดคล้องกัน การลดภาษี
การห้ามส่งออก การเอื้ออำนวยด้านการค้า และการจัดการกับการค้าที่ผิดกฎหมาย
2. กลไกภายใน เช่น การบริการด้านรีไซเคิล การเอื้ออำนวยต่อการลงทุน
การสนับสนุนด้านเทคนิคเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
3. การเพิ่มความโปร่งใส เช่น กฎระเบียบภายในประเทศ การแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด
และระบบการตรวจสอบข้อมูล
White paper ยังได้มีการแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการจำแนกระหว่างประเทศ
ว่าด้วยการจำแนกความแตกต่างของพลาสติกประเภทต่างๆ เพื่อทำให้ประเทศต่างๆ
นำไปกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจทางการค้าได้อย่างถูกต้อง และเอื้อต่อการรวบรวมข้อมูลได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นด้วย
โดยสรุปแก่นหลัก คือหากต้องการทำให้พลาสติกเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น
“ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในด้านการจัดการขยะและการรีไซเคิลนั่นเอง”
รวมทั้งการใช้แนวทางองค์รวมในการจัดการพลาสติกผ่านการลด การนำกลับมาใช้ใหม่
และการรีไซเคิลพลาสติก
ธุรกิจไทยกับการจัดการขยะพลาสติก
เห็นชัดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกต่างหาวิธีการแก้ไขอย่างยั่งยืน
ย้อนมองกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลในปี 2562 ระบุว่าเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
มีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกถึง 80 ล้านใบต่อวัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก ว่าถุงพลาสติกพวกนั้นจะเป็นขยะพลาสติกในอนาคตอันใกล้
ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศที่มีปัญหาขยะพลาสติกปริมาณมากและทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ
ของโลก ส่งผลให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรการให้ลดเลิกและงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
100% รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้เลือกใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลไทยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี ค.ศ.
2022 ประเทศไทยจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78
ล้านตันต่อปี
ทว่าสิ่งดีๆ
ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน คือคนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นชินกับการพกถุงผ้า
และงดรับถุงจากห้างร้าน
ถือเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ตอนเริ่มต้นอาจจะมีเสียงบ่นบ้าง
แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ ผู้บริโภคคุ้นชินกับการลดใช้ถุงพลาสติก และตระหนักต่อปัญหาการจัดการขยะมากขึ้น
ขณะที่ภาคธุรกิจความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจส่งผลในด้านของการพัฒนานวัตกรรม
เพื่อการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาด
และผู้บริโภคก็ใช้ความสนใจ ดังนั้นหากธุรกิจกำลังคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างตอนนี้
ควรปรับเปลี่ยนหรือใช้เทคโนโลยีผลิตนวัตกรรมในการออกแบบ บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้
เพราะการทำธุรกิจแนว Green Business รักษ์โลก
ลดขยะพลาสติก นับเป็นเทรนด์ที่จะมีแนวโน้มสดใสมาก เพราะไม่ใช่เฉพาะในประเทศ
แต่ตามที่ระบุในข้างต้น ทั่วโลกก็ต่างตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้เช่นกัน
ดังนั้นธุรกิจยุคใหม่ต้องใส่ใจเรื่องปัญหาขยะและเป็นมิตรต่อโลก
เพราะเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
ครั้งหนึ่งลูกค้าเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนไปออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ
โดยสินสินค้าที่ออกแบบแพ็คเก็จจิ้งไว้อย่างสวยงาม แต่สุดท้ายฝรั่งที่สนใจออร์เดอร์สินค้าไปขายกลับถามว่า
“แพ็คเก็จจิ้งคุณสวยงามมาก
แต่ถามหน่อยมีวิธีการทำลายหรือนำกลับมาใช้ใหม่อย่างไร?”
ลองคิดเล่นๆ
ดูถ้าเป็นธุรกิจของคุณตอนนี้ “คุณจะตอบคำถามนี้อย่างไร”
แหล่งอ้างอิง : http://sdg.iisd.org/