เศรษฐกิจไทยยังคงทรงและทรุด ผู้บริโภคมีกำลังซื้ออ่อนแอจากการไม่มีรายได้ช่วงล็อกดาวน์
ส่วนใหญ่ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคต และบางส่วนยังว่างงานไม่มีงานทำ
โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กบง.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยหดตัวจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ปัญหาการว่างงาน และหนี้ภาคเอกชน
ถึงแม้จะมีรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่า
เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2563 ปรับดีขึ้นจากเดือนพฤษภาคม
จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ
เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
หากแต่ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวสูงต่อเนื่อง
จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล
ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบ
สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ขณะที่ในส่วนของตลาดแรงงานจำนวนผู้ว่างงานยังเพิ่มสูงขึ้น
โดยประมาณการก่อนเปิดล็อกดาวน์มีแรงงานว่างงาน 8.4-9 แสนคน หลังคลายมาตรการล็อกดาวน์คาดจะมีประมาณ
3.2 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนว่างงานตามมาตรา 33
ยื่นขอรับสิทธิการว่างงานช่วงต้นเดือนมิถุนายน ถึง 1.44 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมเด็กจบใหม่อีก
5.5 แสนคน
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
เศรษฐกิจไทยดำดิ่ง คนจนลง
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563
มีการหดตัวสูงจากผลของมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ
ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว
โดยอุปสงค์ต่างประเทศหดตัวสูง
ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
และภาคการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลงมาก
ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
โดยเฉพาะเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน
รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวสูง อย่างไรก็ดี
การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้และมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นบวกเล็กน้อย
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยจากที่เกินดุลสูงในไตรมาสก่อน
จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงมาก ประกอบกับเป็นฤดูกาลส่งกลับกำไรและเงินปันผลกลับต่างประเทศของบริษัทต่างชาติในไทย
ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน
ประเทศไทยยังคงมีคนจนมากขึ้นหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์
และหมดเงินช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐบาล ร้านค้ากลับมาเงียบเหงา
จากการขาดสภาพคล่องทางการเงินของผู้บริโภค
เนื่องจากในแง่ความเป็นจริงแล้วในระดับครัวเรือนต่างมีแรงงานที่ทำงานในภาคบริการ
ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ตกงานและว่างงานมากสุดในขณะนี้
ต่อให้ธุรกิจจะเปิดให้บริการแล้วก็ตาม
หลายธุรกิจยังคงเซฟค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นการลดอัตราคนทำงานลง
นับตั้งแต่ช่วงวิกฤติล็อกดาวน์เมือง
และยังคงอัตราเท่าเดิมแม้ว่าจะคลายสู่สถานการณ์ปกติแล้ว
เนื่องจากสามารถปรับตัวรับมือกับอัตราแรงงานที่ลดลงได้ รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ
เข้ามาใช้ช่วยดำเนินกิจการเพื่อลดอัตราการจ้างแรงงานลง
นอกจากนี้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังคงซบดิ่งลงจากการส่งออกได้ไม่เต็มที่
และยังเปิดให้บริการในส่วนภาคการท่องเที่ยวไม่ได้ ด้วยที่ผ่านมามีการพึ่งพาการส่งออกราว
60% ของจีดีพีประเทศ แถมยังพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงติดอันดับโลกราว
15% และเน้นการส่งออกเป็นหลัก
ดังนั้นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและยังคงถาวรในครั้งนี้
คือกลุ่มคนชนชั้นกลางรายได้สูง (upper-middle) กลุ่มครัวเรือนที่เป็นชนชั้นกลางและกลุ่มครัวเรือนที่ยากจน
ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขชี้วัดรายได้ต่อวันของจำนวนผู้ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตามมาตรฐานการชี้วัดของธนาคารโลกที่กำหนดไว้ว่า
ผู้ที่มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์สหรัฐ คือผู้ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ซึ่งประไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเพิ่มจาก 4.7 ล้านคนในไตรมาสแรก มาเป็น 9.7 ล้านคนในไตรมาส
2 ของปี
ขณะที่สัดส่วนครัวเรือนชั้นกลางที่มีสมาชิกเป็นแรงงานในภาคธุรกิจบริการและการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากถึง
40% ก่อนลดลงเหลือ 24%
และสัดส่วนของคนที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลาง ในส่วนภาคการผลิตและภาคบริการของไทย
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตัวจากประมาณ 6% เป็น 20%
นอกจากนี้ยังมีภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและธุรกิจค้าปลีกบริการอย่างภัตตาคาร
ร้านอาหาร ที่อุ้มซับแรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมอีก 8-9 ล้านคนกำลังได้รับผลกระทบ
จากสถานการณ์การขายฟื้นตัวขึ้นมาเพียง 20% หลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ขั้นที่ 4
และมีการคาดว่าการเติบโตของภาคธุรกิจค้าปลีกในครึ่งปีแรกของปี 2563 น่าจะติดลบ
25-45% ในช่วงไตรมาสที่ 3 เมื่อสิ้นสุดเงินชดเชยประกันสังคม
คาดว่าภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ จะมีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นประมาณ 20%
ของการจ้างงานปกติ
ตลาดแรงงานไทยนับจากนี้ไปจึงเข้าขั้นวิกฤติ
เพราะรายได้จากภาคแรงงานนั้นเป็นส่วนสำคัญในในการกระตุ้นกิจกรรมด้านเศรษฐกิจของประเทศ
ที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายและกำลังการซื้อภาคครัวเรือน โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังคงไม่ฟื้นตัวได้ในระยะเวลาสั้นๆ
แม้จะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ก็ตาม
เนื่องจากต้องอ้างอิงเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้กลางปีหน้า และคาดว่าจะได้เห็นภาคเอกชนไทยปลดแรงงานลงอีกเป็นระลอกคลื่นไปจนถึงเดือนกันยายน
หากสถานการณ์โควิด 19 ไม่กลับไปเลวร้ายลงไปอีกถึงสิ้นปี 2563 นี้ จะมีแรงงานตกงานประมาณ
3.2 ล้านคน มีอัตราการว่างงานจากเด็กจบใหม่อีก 4.4 แสนคน
และอัตราการว่างงานโดยรวมจะอยู่ที่ 10% ซึ่งเลวร้ายกว่า วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี
2540 และอาจกลายเป็นหายนะของเศรษฐกิจไทย
ทั้งยังต้องรอลุ้นว่าการระบาดรอบสองจะเกิดขึ้นหรือไม่
และหากเกิดขึ้นจะมีความรุนแรงแค่ไหน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ยังเพิ่งเริ่มต้น
สถานการณ์ยังมีความเป็นไปได้หลายรูปแบบ ผู้ประกอบการเองควรมีการประเมินในทางที่ร้ายไว้และปรับแผนรับมืออย่างรอบคอบ
เพราะนี่อาจแค่เริ่มต้นเท่านั้น
แหล่งอ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/