แนวโน้มการขยายของสังคมเมือง (Urban Society)เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ตลอดทั้งหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองรองในต่างจังหวัด
ทำให้ต้องมีการจัดการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรวมทั้งบริการด้านต่างๆ รองรับประชากรจากชนบทย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้น
ประกอบอาชีพ หรือเพื่อการศึกษา การเข้ามาอาศัยร่วมกันเป็นชุมชนใหญ่ย่อมส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป
จากการที่เคยพึ่งพาตนเองกลายเป็นสังคมแห่งการเกื้อหนุน เชื่อมโยงกันของภาคการผลิตและการบริการต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งโอกาสในการเติบโตของธุรกิจบริการเพื่อการอุปโภคบริโภค
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
การเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงกับเมืองขนาดใหญ่และเมืองรองที่เรียกว่า“กลุ่มเมือง”
(city clusters)จะก่อให้เกิดความสำคัญมากยิ่งขึ้นทั้งด้านการสื่อสาร
ด้านเทคโนโลยียุคที่ 5 หรือ 5G ที่จะเชื่อมโยงทะลุทะลวงแบบใยแมงมุม
และการคมนาคมสะดวกสบายทั้งบนบก ทางอากาศ และท้องทะเล
ทำให้การโยกย้ายของประชากรระหว่างเมืองหลวงอย่าง
"กรุงเทพมหานคร" ที่ได้รับการกล่าวถึงความเป็นเอกนครสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก
ที่มีอัตราการเติบโตแต่เพียงเมืองเดียวล้ำหน้าเมืองอื่นๆ ส่งผลให้กรุงเทพฯมีประชากรมากที่สุดของประเทศ
5.7 ล้านคน(ยังไม่รวมประชากรแอบแฝง) ขณะที่ อันดับที่ 2 คือ จังหวัดนครราชสีมา 2.6
ล้านคน อันดับ 3 คือ อุบลราชธานี 1.9
ล้านคน อันดับ 4 คือ ขอนแก่น 1.8 ล้านคน
และอันดับ 5 คือ เชียงใหม่ 1.7 ล้านคน
ในอดีตแผนการพัฒนาของรัฐบาล
จะมุ่งเน้นการพัฒนากรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่มีสถาบันการเงิน
ธุรกิจใหญ่ๆ ตลาดแรงงานที่สำคัญ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางคมนาคมของประเทศ
ที่ถนนหลักทุกสาย รถไฟทุกขบวน เรือขนส่งทุกลำจะมีเป้าหมายอยู่ที่กรุงเทพฯ
และเป็นจุดที่สามารถผ่านไปทางเหนือ-ใต้-ตะวันออก-ตะวันตก ทำให้กรุงเทพฯ มีอัตราประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จากการที่ประชากรในจังหวัดอื่นๆ
ย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินในกรุงเทพฯ สร้างความเจริญก้าวหน้าในเมืองหลวง
ต่อมารัฐบาลได้มีนโยบายที่จะกระจายการพัฒนาความเจริญไปยังเขตจังหวัดปริมณฑล
ตลอดจนจังหวัดหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองรองในแต่ละภาคของประเทศไทย
ทำให้เมืองเหล่านั้นได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ ผลกระทบตามมาประชากรของกรุงเทพฯ ลดลงต่อเนื่อง
แต่ตรงข้ามการขยายของสังคมเมืองอื่นๆ เกิดความเจริญเติบโตแทนทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ
แม้ว่าค่าแรงถูกกว่ากรุงเทพฯ แต่เมื่อเปรียบเทียบค่าครองชีพถูกกว่า ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนไปในตัว
ขณะที่ความเจริญเติบโตของหัวเมืองใหญ่ในแต่ละจังหวัดแทบไม่แตกต่างจากกรุงเทพฯ
เนื่องจากได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกสบายในทุกด้าน อาชีพทำมาหากินดีกว่าอดีตอย่างมาก
ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของประเทศไทย ต่างแห่ปักหมุดในหัวเมืองใหญ่เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากกลุ่มผู้บริโภค
ส่วนแหล่งบันเทิงและสันทนาการก็มีเสมือนอยู่ในเมืองหลวงทุกอย่าง
โอกาสทางธุรกิจและความท้าทายของสินค้าและบริการ
การขยายตัวของสังคมเมือง
นำมาซึ่งโอกาสและความท้ายทายใหม่ๆ ตามความต้องการพื้นฐานของสังคมคนเมือง
ที่กำลังขยายอัตราการเติบโตไม่หยุด จะก่อให้เกิดโอกาสในการประกอบอาชีพและโอกาสทางธุรกิจของสินค้าและบริการอย่างน้อย 5 ด้านเพื่อตอบสนองความต้องการชุมชนเมือง
ประกอบด้วย
1. พลังขับเคลื่อน
การเปลี่ยนแปลงระยะยาว
- การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและบริการดึงดูดแรงงานภาคเกษตรกรรมเข้ามามากขึ้น
- ความทันสมัยของเมืองทำให้คนมีแรงจูงใจย้ายจากชนบทสู่เมืองมากขึ้น
2. ปัจจัยเร่งระยะสั้นให้เมืองขยายตัว
- การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างทั่วถึง
- โมบายอินเตอร์เน็ตส่งข้อมูลรวดเร็ว
- ฐานการลงทุนหลักของบริษัทข้ามชาติ
- ชนชั้นกลางใหม่มีมากขึ้น
- เมืองขนาดกลางขยายตัว
- เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างเศรษฐกิจและนวัตกรรมสร้างสรรค์
- การคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพ
3. ความต้องการพื้นฐานตอบโจทย์ชีวิตคนเมือง
- ที่อยู่อาศัยในทำเลที่เดินทางสะดวก
- คมนาคมหลายกหลาย
ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- สุขภาพดี
ออกกำลังกายป้องกันโรค
- การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ
- คุณค่าของคนเมือง
เปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลาย
4. โอกาสตลาดเกิดใหม่
- ชนชั้นกลางใหม่
- ตลาดคนโสด
- ตลาดแรงงานต่างด้าว
- คนเมืองเสมือนในโลกของเทคโนโลยีดิจิทัล
- ตลาดคน
Gen M (Millennials) เลือกซื้อสินค้าและบริการเฉพาะตัว
- ตลาดของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
5. ตัวอย่างไอเดียสร้างสรรค์
- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางสัญจรในเมือง
- ธุรกิจด้านแหล่งเรียนรู้และสาธารณูปโภคทางปัญญา
- ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพจิตคนเมือง
- ธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
ความสะดวกสบายและคุณภาพ
- ธุรกิจที่ตอบสนองความหลากหลายของชีวิตเมือง
เหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างโอกาสทางธุรกิจของสินค้าและบริการเติบโตไปด้วยกันแล้ว กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ก็มีแนวโน้มเติบโตสอดคล้องตามการขยายตัวของสังคมเมืองไปด้วย
ยกคุณภาพระดับชีวิต
ลดความเหลี่ยมล้ำทางสังคม
การขยายของสังคมเมือง
คือ ความเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในอนาคตที่ น.ส.ปิยะนุช ธูปถมพงศ์
หัวหน้าโครงการการศึกษาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เห็นด้วยอย่างยิ่ง
เพราะจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
ด้านการเข้าถึงการศึกษา การเดินทางสาธารณะที่มีคุณภาพและปลอดภัย
การใช้พลังงานทดแทน
และบริหารการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การดูแลสิ่งแวดล้อมให้มีความสวยงาม
ปลอดภัย การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัย ตลอดทั้งการนำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการบริการด้านสาธารณสุขทั้งการป้องกันและรักษาให้มีคุณภาพ
“ทุกวันนี้มีหลายจังหวัดที่มีศักยภาพในการก้าวเข้าสู่การขยายของสังคมเมือง
ซึ่งทุกเมืองพร้อม ประชากรพร้อม ที่จะก้าวไปสู่การเป็นเมืองอันทันสมัย ศรีวิไลย์ และพร้อมต่อยอดพัฒนาเมืองให้เติบโตไปข้างหน้า
หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ซึ่งหลายจังหวัดก็พร้อมจะขับเคลื่อนโครงการไปสู่ความสำเร็จ
เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ที่รัฐบาลพยายามผลักดันเมืองใหญ่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคต”
ดังนั้นการขยายตัวของสังคมเมืองปัจจัยสำคัญมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตแข็งแกร่ง ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้น ตลอดทั้งมีรายได้มั่นคงยั่งยืน