‘มัลติแบกซ์’ สร้างสรรค์พลาสติกรักษ์โลกด้วยนวัตกรรม ทางเลือก ทางรอด สิ่งแวดล้อม

SME in Focus
29/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2321 คน
‘มัลติแบกซ์’ สร้างสรรค์พลาสติกรักษ์โลกด้วยนวัตกรรม ทางเลือก ทางรอด สิ่งแวดล้อม
banner
ด้วยวิสัยทัศน์ของ บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) ที่มองการณ์ไกลถึง ‘ปัญหาขยะพลาสติก’ ที่ส่งผลกระทบต่อโลก ก่อเกิดแนวคิดผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่สามารถย่อยสลายได้เพื่อแก้โจทย์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาขยะเพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก ที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพมาตรฐานระดับสากลจากทั้ง สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป



ก้าวสู่ธุรกิจพลาสติกรักษ์โลกได้อย่างไร ? 

ดร.พิสุทธิ์ เลิศวิไล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) ย้อนถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจผลิตถุงพลาสติกว่า เกิดจากการรวมกลุ่มของเพื่อน ๆ สมัยเรียนเมื่อ 28 ปีที่แล้ว โดยมองเห็นอนาคตของธุรกิจพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ว่าน่าจะเป็นเทรนด์ที่ยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งขณะนั้นมีเพื่อนสนิทกันทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตพลาสติกอยู่แล้ว จึงชวนเพื่อน ๆ ในกลุ่มมาลงทุนร่วมกันโดยใช้ทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 31 ล้านบาท จากนั้นค่อย ๆ ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ดำเนินธุรกิจได้ประมาณ 10 กว่าปี จึงเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยทุนจดทะเบียน 128 ล้านบาท

สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มพลาสติกสีเขียวที่บริษัทฯ ผลิต แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

1) พลาสติกชีวภาพชนิดย่อยสลายได้ (Compostable)

2) พลาสติกชีวภาพที่ทำมาจากกลุ่มพลาสติกชีวภาพที่ทำมาจากพืชซึ่งเป็นทรัพยากรที่สามารถปลูกทดแทนได้ (Renewable Resource) ซึ่งอาจจะย่อยสลายหรือไม่ย่อยสลายก็ได้ กลุ่มที่

3) พลาสติกที่ผลิตมาจากขยะพลาสติกทางทะเล (Ocean Waste Plastic) กลุ่มที่

4) พลาสติกที่ผ่านการใช้จากผู้บริโภคมาแล้ว หรือ PCR (Post-Consumer Recycled Resin) โดยนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง 
  
จะเห็นได้ว่าบริษัทฯ เรามีผลิตภัณฑ์สีเขียวครบทุกกลุ่ม ทำให้ มัลติแบกซ์ ได้รับความไว้วางใจในการเป็นผู้ผลิตแบบ OEM ให้กับสินค้าแบรนด์ชั้นนำมากมายทั่วโลก 



“จากปัญหาขยะพลาสติกที่สะสมมายาวนาน เป็นเหตุผลให้บริษัทต้องการแก้ปัญหาและนำมาสู่แนวคิดการผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพให้สามารถย่อยสลายเองได้ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดขยะพลาสติก ถือเป็นการ เปลี่ยนปัญหา ‘ขยะพลาสติก’ เป็นโอกาสทางธุรกิจ อีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาขยะเพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก”



‘อุตสาหกรรมพลาสติก’ เป็น ธุรกิจไร้อนาคต จริงหรือ ?

ดร.พิสุทธิ์ สะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า การทำธุรกิจเกี่ยวกับ ‘พลาสติก’ ฟังดูอาจจะรู้สึกเหมือนว่าเป็นธุรกิจผลิตสินค้าที่ไร้อนาคต หรือที่เรียกว่า Sunset Industry จริงหรือไม่ ซึ่งเกิดจากการมองว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงขออธิบายอย่างนี้ว่า สมัยก่อนบรรจุภัณฑ์ที่ผู้คนทั่วไปใช้กันจะเป็นถุงกระดาษ ซึ่งขณะนั้นหลายคนมองว่าถุงกระดาษส่วนใหญ่ได้มาจากการตัดต้นไม้ รวมถึงการใช้สารเคมีต่าง ๆ มาช่วยในการทำให้ไม้เปื่อยยุ่ยเพื่อนำมาผลิตเป็นถุงกระดาษ ดังนั้นจึงมีผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อมาแทนการตัดไม้ทำลายป่าและสามารถใช้งานได้ทนทานกว่าถุงกระดาษ โดยมองว่าเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้ถุงพลาสติกเติบโตและขยายตัวหลากหลายรูปแบบการใช้งานอย่างรวดเร็ว

“วันนี้ถามว่าถุงพลาสติกสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ต้องยอมรับว่าใช่ ยกตัวอย่าง สัตว์ทะเลที่มีถุงพลาสติกติดอยู่ในกระเพาะอาหารจนเสียชีวิต อันเกิดจากขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลไปก่อปัญหาให้กับสัตว์น้ำอย่างมากมาย

แต่หากย้อนกลับมาดูตามหลักความเป็นจริงแล้ว พลาสติกหรือถุงพลาสติกสามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ 100%  ดังนั้นพลาสติกจึงไม่ใช่เป็นตัวสร้างปัญหา แต่การทิ้งหรือกำจัดไม่ถูกต้องจะเป็นตัวก่อปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้การบริหารจัดการพลาสติกจะเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง”
 
ดร.พิสุทธิ์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพอย่าง ประเทศสวีเดน ซึ่งปัจจุบันต้องนำเข้าขยะจากประเทศเพื่อนบ้านถึงปีละกว่า 8 แสนตัน เนื่องจากประชาชนของเขามีการคัดแยกขยะอย่างดี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ขยะที่มีในประเทศไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพสูง



‘พลาสติกชีวภาพ’ ย่อยสลายได้อย่างไร ?

ดร.พิสุทธิ์ อธิบายว่า พลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก ที่ผลิตจากพืช เมื่อนำมาฝังกลบแบคทีเรียจะเริ่มทำให้โมเลกุลที่เป็นโครงสร้างของพลาสติกเปลี่ยนไป โดยการย่อยสลายที่เกิดจากการกัดกินของแบคทีเรีย สุดท้ายจะแตกออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำ ในขณะที่พลาสติกธรรมดาก็ย่อยสลายได้เช่นกัน แต่ด้วยโครงสร้างที่ต่างกันทำให้พลาสติกธรรมดาต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 400 ปี ในขณะที่พลาสติกชีวภาพประเภทย่อยสลายได้ จะใช้เวลาย่อยสลายเพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่การย่อยสลายจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีแบคทีเรียที่มาทำงานในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม ดังนั้นหากไม่มีปัจจัยเหล่านี้ก็จะไม่เกิดการย่อยสลาย 




ทดลอง ทดสอบและพัฒนาสูตรโดยมุ่งเน้นวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ

ดร.พิสุทธิ์ เผยวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ว่า ‘มัลติแบกซ์’ ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการพัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าไทยเรามีวัตถุดิบที่มีศักยภาพอยู่แล้ว อย่าง อ้อย ข้าวโพด โดยเฉพาะมันสำปะหลังถือว่าเป็นวัตถุดิบที่ผลิตได้มากถึง 20 – 30 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่จะนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ เราจึงเกิดแนวคิดนำมันสำปะหลังมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ

โดยตั้งแผนก R&D ขึ้นมาเพื่อค้นคว้าวิจัยมาตลอดกว่า 10 ปี โดยใช้งบปีละ 10% ของยอดขาย เพื่อให้ได้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จนเมื่อปี 2553 บริษัทก็ประสบความสำเร็จสามารถผลิตเม็ดและถุงพลาสติกชีวภาพที่มีคุณภาพเทียบเท่าถุงพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียม ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ จะเห็นได้ว่าบริษัทฯ ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน โดยการผลิตพลาสติกชีวภาพมาใช้เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมมา 10 กว่าปีแล้ว



โดยเม็ดพลาสติก M-BIO (เม็ดพลาสติกชีวภาพต้นแบบ) ที่คิดค้นและผลิตได้ จะมีความแตกต่างและข้อได้เปรียบจากผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายอื่น ๆ ตรงที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติในประเทศเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบจากการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งจะทำให้ไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในอนาคตอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ดร.พิสุทธิ์ ยอมรับว่าพลาสติกชีวภาพยังมีจุดอ่อนเรื่องต้นทุนที่สูงกว่าพลาสติกที่มาจากปิโตรเลียมถึง 2 – 3 เท่า ถึงแม้ผู้บริโภคจะรักโลกมากขนาดไหน แต่หากต้องแบกรับต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงกว่าหลายเท่าก็คงไม่ไหว ทำให้พลาสติกชีวภาพยังเติบโตไม่มากเท่าที่ควร 

อีกสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นข้อด้อยที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับถุงพลาสติกจากปิโตรเลียมคือ เรื่องอายุการใช้งาน (Shelf life) ซึ่งอยู่ในราว 2 ปีในขณะที่ถุงพลาสติกทั่วไปมีอายุการใช้งานถึง 5 ปี เป็นสิ่งที่บริษัทฯ ต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้พลาสติกชีวภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้นในราคาที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ด้วย



ยกระดับมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

เมื่อค้นคว้าวิจัยจนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีแล้ว ดร.พิสุทธิ์ จึงเริ่มเตรียมรายละเอียดและขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากสถาบันสำคัญในต่างประเทศ โดยส่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ เข้ารับการทดสอบจากห้องปฏิบัติการมาตรฐานสากล สถาบัน OWS (Organic Waste Systems) ในประเทศเบลเยียม ตามมาตรฐานการย่อยสลาย EN 13432, ASTM D6400, ISO 17088 เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลทดสอบที่จะนำไปขอมาตรฐานการรับรองการย่อยสลายทางชีวภาพต่อไป



ซึ่งผู้ให้การรับรองมาตรฐานโลกสำคัญที่ว่านี้ ดังเช่น TUV ประเทศเยอรมัน และ และ BPI ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ตราสัญลักษณ์นำไปแสดงมาตรฐานได้ทั่วโลก ซึ่งบริษัทฯ จะเป็นรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองในการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ เมื่อนำไปใช้งานก็จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองได้ หรืออาจนำเม็ดพลาสติก M-BIO ไปพัฒนาเป็นของเด็กเล่น หรือภาชนะอื่น ๆ ซึ่งใช้แทนพลาสติกจากปิโตรเลียมได้หลากหลายมากขึ้น



เทรนด์ ‘รักษ์โลก’ ดันธุรกิจพลาสติกชีวภาพเติบโต

ดร.พิสุทธิ์ ฉายภาพว่า กระแสทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในการลดโลกร้อน และปัญหาขยะมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ยอดการส่งออกของบริษัทเติบโตขึ้น เนื่องจากช่วงนี้ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  
     
ยกตัวอย่าง เดิมบริษัทฯ ใช้สูตรผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชโดยใช้อ้อยเป็นส่วนผสม 20% ลูกค้าบอกว่าเรารักโลกไม่จริง เนื่องจากผสมวัตถุดิบจากพืชเพียงแค่ 20% เราจึงปรับสูตรด้วยการผสมพลาสติกที่ทำจากอ้อยลงไป 50% ปรากฏว่ายอดขายขยับสูงขึ้นเป็นเท่าตัว สะท้อนให้เห็นว่าในต่างประเทศมีการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

นอกจากนี้จะเห็นได้จากในสหภาพยุโรป (European Union: EU) มีการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) อาทิ จาน ช้อนส้อม กล่องโฟม ถุงหิ้วใส่อาหาร จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืช รวมถึงแบรนด์สินค้าที่ใช้แพ็กเกจจิ้งจากพลาสติกส่งออกไปยัง EU จะถูกเรียกเก็บภาษีที่สูงมาก หากไม่มีส่วนผสมของพลาสติกที่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภคมาแล้ว



ดร.พิสุทธิ์ ให้ข้อมูลอีกว่า สำหรับผลิตภัณฑ์สีเขียว ต้องยอมรับว่า ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ถือเป็นที่หนึ่งของโลกในเรื่องการอนุรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม เพราะถึงแม้ผลิตภัณฑ์สีเขียวจะมีราคาสูงกว่าสินค้าปกติทั่วไป 20 - 30% แต่ประเทศเขารักโลกจริงและยอมจ่ายเพื่อสิ่งที่ดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสินค้าของบริษัทฯ ส่งออกไปยังตลาดทั้งสองประเทศนี้ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกำลังต้องการขยายตลาดควรมาเปิดตลาดที่นี่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง

ปัจจุบันลูกค้าหลักของ มัลติแบกซ์ คือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของยอดส่งออกทั้งหมด ตามมาด้วยยุโรปและออสเตรเลีย และประเทศในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ตลาดในตะวันออกกลางก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ดร.พิสุทธิ์ เลิศวิไล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน)

มองแนวโน้ม พลาสติกชีวภาพ กับอนาคตของ มัลติแบกซ์

หากมองอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยในขณะนี้ ทุกฝ่ายไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ต่างพุ่งเป้ามาที่พลาสติกชีวภาพ ซึ่งไทยถือว่ามีศักยภาพอยู่ไม่น้อย เป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐที่จะสนับสนุนทั้งเรื่องกฎหมาย และช่องทางการนำเม็ดพลาสติกชีวภาพไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตได้เป็นอย่างดี 

ดร.พิสุทธิ์ กล่าวย้ำว่า สำหรับตลาดพลาสติกชีวภาพนั้น มาตรฐานคุณภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ประกอบการ SME ที่ประกอบธุรกิจด้านนี้ให้ทำตามมาตรฐานที่ตัวเองมี และรักษามาตรฐานไว้ให้ได้ สิ่งนี้ถือเป็น Key Success สำคัญที่จะนำพาให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)



ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) มีการพัฒนาศักยภาพขององค์กรและผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ทั่วโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านราคา ความสามารถในการผลิต รวมถึงการค้นคว้าวิจัยพลาสติกชีวภาพ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดสร้างความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางการใช้สินค้าจากพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยในการไปสู่ธุรกิจสีเขียวต่อไป                          


รู้จัก ‘บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด’ (มหาชน) เพิ่มเติมได้ที่
https://www.multibax.com/th/product
https://www.multibax.com/th/aboutus/board_profile/3/37/2

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

จากโรงกลึงสู่โรงงานอัจฉริยะ พลิกโฉมธุรกิจสู่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์คุณภาพสูง

จากโรงกลึงสู่โรงงานอัจฉริยะ พลิกโฉมธุรกิจสู่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์คุณภาพสูง

จากโรงกลึงเล็ก ๆ ในบ้าน สู่ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เรื่องราวของบริษัท ซี.เอส.เอ็นจิเนียริ่ง ออโต้พาร์ท จำกัด กับการเดินทางอันยาวนานของความมุ่งมั่นและทุ่มเทของ…
pin
19 | 27/11/2024
เรียนรู้ Mindset ชฎา โอเวอร์ซี สร้างจุดแข็ง เน้นจุดขาย ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นให้อยู่รอด เติบโตยั่งยืน

เรียนรู้ Mindset ชฎา โอเวอร์ซี สร้างจุดแข็ง เน้นจุดขาย ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นให้อยู่รอด เติบโตยั่งยืน

“ความจริงใจ ใส่ใจ และความซื่อสัตย์” คือ Mindset ที่เจ้าของธุรกิจสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ เพื่อสร้างความแตกต่างและอาจช่วยนำไปสู่ความสำเร็จได้…
pin
21 | 17/11/2024
เส้นทางสู่ความยั่งยืนของธุรกิจฟาร์มไก่ ความท้าทายและโอกาสสู่ผู้นำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยสู่ตลาดโลก

เส้นทางสู่ความยั่งยืนของธุรกิจฟาร์มไก่ ความท้าทายและโอกาสสู่ผู้นำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยสู่ตลาดโลก

เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ถูกมนุษย์คิดค้น และพัฒนาขึ้นในทุกวัน ทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเกษตรและปศุสัตว์ด้วย…
pin
23 | 15/11/2024
‘มัลติแบกซ์’ สร้างสรรค์พลาสติกรักษ์โลกด้วยนวัตกรรม ทางเลือก ทางรอด สิ่งแวดล้อม