“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation

SME in Focus
11/04/2025
รับชมแล้วทั้งหมด 2 คน
“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation
banner

ในโลกของอุตสาหกรรมการผลิต “วัตถุดิบโลหะ” ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องจักร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้เต็มไปด้วยความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่ต้องการมาตรฐานสูงและการผลิตที่แม่นยำ โดย “โรงหล่อ ก.เจริญ” คือหนึ่งในธุรกิจ SME ไทย ที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วนโลหะและเหล็กหล่อ ซึ่งบทความนี้จะพาคุณไปสำรวจแนวคิด กลยุทธ์ และปัจจัยที่ทำให้ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้ค่อย ๆ เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง และกลายเป็นผู้เล่นหลักของอุตสาหกรรมในที่สุด


จุดเริ่มต้นของ โรงหล่อ ก.เจริญ ก่อนจะมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม

โรงหล่อ ก.เจริญ ก่อตั้งขึ้นในปี 2515 โดยคุณปู่ของ “คุณกิรณา ทวีอักษรพันธ์ (คุณปิง)” เริ่มต้นจากการเป็นโรงหล่ออะลูมิเนียมขนาดเล็ก ต่อมาในช่วงปี 2537 คุณพ่อของคุณปิง ได้มีความคิดริเริ่มที่จะขยายธุรกิจไปสู่การผลิตเหล็กหล่อและโลหะอื่น ๆ นอกเหนือจากอะลูมิเนียม ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากการมองเห็นโอกาสในตลาด กระทั่งปัจจุบัน โรงหล่อ ก.เจริญ ได้พัฒนาเป็นธุรกิจครบวงจร โดยมีบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท ทวีพันธ์ เมทัลเวิร์ค จำกัด และ บริษัท ทวีพันธ์อินดัสตรี้ จำกัด เพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วนโลหะแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการหล่อ กลึง ไปจนถึงการปั๊มขึ้นรูป


เจาะลึกกลุ่มลูกค้าและตลาดเป้าหมาย

ลูกค้าของโรงหล่อ ก.เจริญ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมยานยนต์ (60%) : ลูกค้าหลักเป็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและยุโรป โดยผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับล้อรถ เช่น สกรูแจ็ค และอุปกรณ์ยกรถ ซึ่งต้องการความแม่นยำสูงและคุณภาพที่สม่ำเสมอ

  • โครงสร้างพื้นฐานและงานระบบ (25%) : ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ประเภทวาล์วน้ำ ท่อรัดสายไฟ  และอุปกรณ์เกี่ยวกับโครงสร้างอาคารและถนน

  • อุตสาหกรรมมอเตอร์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมก๊าซและพลังงาน (15%) : ในอุตสาหกรรมมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนมากจะเป็นการผลิตเสื้อมอเตอร์ระบายความร้อน ซึ่งต้องการกระบวนการผลิตที่มีความแม่นยำสูง ส่วนในอุตสาหกรรมก๊าซและพลังงาน มักจะเป็นการผลิตข้อต่อถังแก๊สและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบพลังงานโดยตรง



เคล็ดลับสู่การเป็นผู้นำตลาด ด้วยกลยุทธ์ Lean Manufacturing และ Automation

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงหล่อ ก.เจริญ สามารถแข่งขันในตลาดได้ คือ การปรับใช้กลยุทธ์ Lean Manufacturing เพื่อลดของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงมีการใช้ระบบ Automation เข้ามาช่วยควบคุมคุณภาพและลดข้อผิดพลาดของแรงงาน โดยการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่สำคัญ ได้แก่

เปลี่ยนรูปแบบการผลิต จาก Manual สู่ Automation 

เดิมที การผลิตจะขึ้นอยู่กับทักษะของช่าง ซึ่งอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ปัจจุบัน โรงหล่อ ก.เจริญ ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบ Automation ในกระบวนการผลิต ทั้งการผสมทราย และขึ้นแบบแม่พิมพ์ ทำให้กระบวนการผลิตมีความแม่นยำขึ้น ลดการสูญเสียทรัพยากร ลดข้อผิดพลาดจากแรงงานคน และสามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างสม่ำเสมอ ในส่วนนี้ คุณปิงได้อธิบายว่า


“สมัยก่อนกระบวนการทำงานของเราค่อนข้างเรียบง่าย ช่างจะผสมทรายแบบคร่าว ๆ และใช้ความรู้สึกทดสอบความชื้นของทราย เพื่อดูว่าเหมาะสมสำหรับการขึ้นแบบหรือไม่ จากนั้นจึงขึ้นแบบด้วยมือ ซึ่งแต่ละคนมีวิธีการที่แตกต่างกัน เมื่อเทโลหะหลอมเหลวลงไป บางครั้งแบบไม่แน่นพอก็แตก หรือบางครั้งทรายอาจมีความชื้นไม่เหมาะสม ทำให้คุณภาพของชิ้นงานไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน อัตราการเคลมอยู่ที่ 30-40% 


แต่ปัจจุบัน เราใช้ระบบ Automation ในการผสมทราย โดยเครื่องจักรจะดึงทรายจากเครื่องโม่ และขึ้นแบบแม่พิมพ์อัตโนมัติ ไม่ต้องพึ่งพาวิธีการแบบเดิม และยังสามารถตรวจสอบได้ว่าทรายที่ผสมออกมา ได้คุณภาพตามที่ต้องการหรือไม่ ทำให้งานทุกชิ้นได้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความชื้น ความแน่น หรือขนาด อีกทั้งยังช่วยลดการสูญเสียวัตถุดิบได้มากจนเกือบไม่มีเลยก็ว่าได้”



การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กหล่อเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง โรงหล่อ ก.เจริญ จึงมีการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การหลอมโลหะที่ใช้ความร้อนสูง มักดำเนินการในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นช่วง Off-Peak เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ 2 เฟส ขนาด 1 เมกะวัตต์ เพื่อใช้พลังงานสะอาด ลดต้นทุนด้านพลังงาน และช่วยให้โรงงานสามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน


การพัฒนา R&D (Research and Development)

การผลิตเหล็กหล่อให้มีคุณภาพและสม่ำเสมอต้องอาศัยมาตรฐานที่ชัดเจน โรงหล่อ ก.เจริญ จึงได้พัฒนา Work Standard ด้วยการกำหนดทุกขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียด สำหรับใช้เป็นมาตรฐานในการดำเนินงาน เพื่อลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากแรงงานคน ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังให้ความสำคัญกับ R&D โดยเน้นพัฒนาการออกแบบแพตเทิร์นให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด และใช้ข้อมูลที่สะสมจากกระบวนการผลิตมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง


คุณปิงกล่าวว่า “เราใช้เวลานานมากกว่าจะได้มาซึ่งกระบวนการทำงานที่เหมาะสม และยิ่งมีความท้าทายเพิ่มขึ้นเมื่อต้องคอยกำกับดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เราวางไว้ ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำอย่างละเอียดและรอบคอบ โดยเราพยายามที่จะกำจัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด เพราะเราตระหนักแล้วว่าถ้าเราจะอยู่อย่างยั่งยืน เราต้องลดต้นทุนเพื่อไปสู้ในตลาดให้ได้” 


แม้จะเติบโตจากรากฐานของครอบครัว แต่การพัฒนา โรงหล่อ ก. เจริญ ให้ทันยุคสมัยไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลำพัง เนื่องจากคุณปิงรับช่วงต่อกิจการและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านร่วมกับ “คุณนันท์นภัส ทวีอักษรพันธ์ (คุณหมิ่ว)” น้องสาว ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของฝ่ายผลิตทั้งหมด และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้แนวคิด Lean Manufacturing เกิดขึ้นจริงได้


นอกจากทีมบริหารในครอบครัวแล้ว โรงหล่อ ก.เจริญ ยังมีทีมผู้จัดการแต่ละฝ่าย และพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันตามนโยบายขององค์กร โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ “ทำไปก่อน เดี๋ยวจะเห็นผลเอง” ไม่ว่าจะเป็นทีมผู้จัดการยุคคุณพ่อ หรือทีมคนรุ่นใหม่ ต่างก็ทำงานร่วมกันอย่างลงตัวและเต็มไปด้วยความสุข



แนวโน้มและทิศทางอนาคตของโรงหล่อ ก.เจริญ

“ปิงว่างานอุตสาหกรรมเหล็กหล่อยังไปต่อได้อีกในประเทศไทย” คุณปิงกล่าว โดยให้เหตุผลว่า โรงหล่อเหล็กในประเทศไทยส่วนใหญ่รู้จักกันอยู่แล้ว มีระบบ “สมาพันธ์” ที่ช่วยสนับสนุนเกื้อกูลกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ เมื่อโรงหล่อได้รับออร์เดอร์ที่ต้องการความชำนาญที่แตกต่างออกไป อาจส่งงานต่อให้กับโรงหล่ออื่นที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นมากกว่า ทำให้มีการกระจายงานอย่างมีประสิทธิภาพ และอุตสาหกรรมสามารถคงอยู่ได้โดยไม่ถูกแทรกแซงจากผู้เล่นต่างชาติได้โดยง่าย


อย่างไรก็ตาม การแข่งขันจากจีนยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องจับตามองต่อไป เนื่องจากโรงหล่อในประเทศจีนมีจำนวนมาก แต่สำหรับงานหล่อที่ต้องการความละเอียดสูง คุณปิงประเมินว่าจีนยังไม่ได้ครองตลาดอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากกระบวนการผลิตประเภทนี้ต้องอาศัยการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นจุดแข็งของโรงหล่อ ก.เจริญ



เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โรงหล่อ ก.เจริญ ได้มุ่งเน้นไปที่ Lean Manufacturing และการลดต้นทุน อย่างจริงจัง เพราะการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กหล่อมีต้นทุนสูงจากทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และแรงงาน ดังนั้น การลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งจากที่โรงงานได้มีการนำระบบ Automation มาช่วยควบคุมกระบวนการผลิต ก็ทำให้สามารถลดข้อผิดพลาดและเพิ่มอัตราการผลิตได้สูงขึ้น


อย่างไรก็ตาม แม้จะหันมาโฟกัสกับเทคโนโลยีด้วยระบบ Automation แต่โรงหล่อ ก.เจริญ ก็ไม่ได้ละเลยความสำคัญของประสบการณ์และทักษะของแรงงานรุ่นเก่า โดยบริษัทได้นำ Know-How ที่ช่างฝีมือสะสมมาหลายสิบปีมาพัฒนาเป็น Work Standard และ Data-Driven Manufacturing โดยมีการบันทึกข้อมูลและพฤติกรรมในการทำงานของช่างฝีมือเก่า แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อสร้างแนวทางที่สามารถถ่ายทอดไปยังเครื่องจักรอัตโนมัติได้ ซึ่งสิ่งนี้ช่วยให้โรงงานยังคงรักษาคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งสามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น 


“Know-How สำคัญจริง แต่สมัยนี้พึ่งพา Know-How อย่างเดียวไม่ได้แล้ว 

เราจำเป็นต้องนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพด้วย 

ไม่อย่างนั้นเราก็จะกลายเป็นเพียงโรงงานที่มีเงินลงทุนซื้อเครื่องจักร 

แต่ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ ดังนั้น ทั้งสองส่วนมันต้องไปด้วยกัน”


ด้วยกลยุทธ์ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีร่วมกับ Know-How ที่สั่งสมมา โรงหล่อ ก.เจริญ ยังคงมองเห็นโอกาสการเติบโตในตลาดโลหะ และพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมต่อไป โรงหล่อ ก.เจริญ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบริษัท SME ไทยที่สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยไม่ละทิ้งจุดแข็งของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปอย่างมั่นคงและก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation

“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation

ในโลกของอุตสาหกรรมการผลิต “วัตถุดิบโลหะ” ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องจักร…
pin
2 | 11/04/2025
เปลี่ยนขยะให้เป็นมูลค่าด้วย Zero-Waste

เปลี่ยนขยะให้เป็นมูลค่าด้วย Zero-Waste

แนวคิด Zero-Waste กลายเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญหลายธุรกิจเริ่มตระหนักว่าการลดขยะไม่ใช่แค่ช่วยสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยลดต้นทุน…
pin
5 | 06/04/2025
ไขรหัสความสำเร็จ “สวนต้องก้าว” ต้นแบบแห่งการพลิกโฉมโมเดลธุรกิจเกษตรแบบดั้งเดิมสู่มิติใหม่

ไขรหัสความสำเร็จ “สวนต้องก้าว” ต้นแบบแห่งการพลิกโฉมโมเดลธุรกิจเกษตรแบบดั้งเดิมสู่มิติใหม่

เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรง พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน…
pin
8 | 04/04/2025
“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation