“พลังงานหมุนเวียน” ถือเป็นโอกาสที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการที่อยากทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability) และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ เทรนด์พลังงานทดแทนในประเทศไทยและในระดับโลก
อย่างที่ทราบกันดีว่าภายในปี 2065 ไทยจะเป็นประเทศ Net Zero Emission คือไม่มีการปล่อยคาร์บอนออกมาเลย ซึ่งในปี 2020 เราควรจะมีพลังงานทดแทนเกิน 15% แต่วันนี้ปี 2023 เรามีพลังงานทดแทนอยู่ที่ประมาณ 8% เท่านั้น ฉะนั้นโอกาสเจริญเติบโตทางด้านพลังงานทดแทนที่จะมาใช้ในประเทศไทยยังมีอีกเยอะ เพราะเราช้ากว่าเป้าหมายที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้
ขณะที่ภาครัฐเองก็มีนโยบายเพื่อที่จะช่วยสนับสนุนและเร่งให้ทันกับเป้าหมายที่จะมีในปี 2065 ฉะนั้นมั่นใจว่าทางรัฐบาลเองก็ต้องสนับสนุนทุกทางให้ไทยไปถึง Net Zero Emission ในปี 2065 ให้ได้
ใครปล่อยคาร์บอนสูงสุด
หากดูจากข้อมูลของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อเดือนมกราคม 2566 ฉายภาพรวมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานของประเทศไทยอยู่ที่ 20.2 ล้านตันคาร์บอน ลดลง 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็น
1. สาขาขนส่ง มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 7.3 ล้านตันคาร์บอน คิดเป็นสัดส่วน 36%
2. สาขาการผลิตไฟฟ้า มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 6.3 ล้านตันคาร์บอน คิดเป็นสัดส่วน 31%
3. สาขาอุตสาหกรรม มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 5.4 ล้านตันคาร์บอน คิดเป็นสัดส่วน 27%
4. สาขาอื่น ๆ มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตันคาร์บอน คิดเป็นสัดส่วน 6%
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบจะพบว่า ไทยมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 0.394 กิโลกรัมคาร์บอนต่อ หน่วยการผลิตไฟฟ้า kWh ซึ่งยังต่ำกว่าจีนและค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชีย แต่สูงกว่าสหภาพยุโรปและประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปอเมริกา
ซึ่งใน SCOPE ที่ 2 นี้ องค์กรต้องคำนวณหาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ขององค์กร ได้แก่ การซื้อพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ หรือการทำความเย็น ซึ่งเกิดขึ้นนอกสถานที่และถูกใช้โดยองค์กรของเรา ซึ่งเป็นกระบวนการปล่อยก๊าซ GHG ที่สูงถึง 1 ใน 3 ของโลก นั่นถือเป็นเหตุผลที่การประเมินและการวัดการปล่อยใน Scope 2 นำมาซึ่งโอกาสในการลดการปล่อยก๊าซอย่างมีนัยสำคัญ
ถนนทุกสายมุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ
ดังนั้นด้วยแรงกดดันจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้หลายประเทศมีการเพิ่มมาตรการความเข้มงวดในการซื้อสินค้า โดยที่เห็นได้ชัดเจนคือ มาตรการและนโยบายกีดกันสินค้านำเข้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ทางสหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้ออกมาตรการ เก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่จะมีผลบังคับใช้ ภายในปี 2023 กับ 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ไฟฟ้า ซีเมนต์ และปุ๋ย
และยังได้ขยายไปยัง สินค้าอื่นๆ เพิ่ม อีก 3 ชนิด คือ ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก โดยจะเตรียมใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2570 เพื่อเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต หรือจีนก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรฐานด้านคาร์บอน เช่นเดียวกับมาตรการในประเทศยุโรป
ทำให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญเรื่อง ‘พลังงานหมุนเวียน’ หรือ ‘พลังงานสะอาด’ มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น ภาคการผลิต ภาคขนส่ง ตลอดจนภาคเกษตรกรรม ควรเตรียมรับมือกับนโยบายเหล่านี้ในอนาคตที่จะมีกระทบต่อกระบวนการผลิตของภาคธุรกิจในระยะต่อไปอย่างอย่างแน่นอน
หนีไม่พ้นเอกชนไทยต้องปรับตัว
แน่นอนว่า เมื่อเกิดแรงกดดัน ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมนำมาสู่แรงกดดันจากประเทศคู่ค้า ส่งผลให้ ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80-90% ของประเทศหนีไม่พ้นต้องปรับตัวหนีตายก่อน เพราะ SME อาจจะมีสายป่านสั้นกว่ารายใหญ่ หากยิ่งช้าจะยิ่งเสี่ยงจะเพรี่ยงพร้ำในอนาคต
ดังนั้นทางรอดของภาคธุรกิจการส่งออกไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องของการปรับตัวให้ทันสถานการณ์ รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยให้เป็นกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยมุ่งเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำและมุ่งสู่ Net Zero
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดแบบ
ESG ที่ประเทศไทยกำลังพยายามเดินไปในเส้นทางนี้ ซึ่งผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SME ควรติดตามและเรียนรู้เทรนด์เรื่อง Climate Change ตามทิศทางของโลกเพื่อนำไปปรับใช้กับการวางแผนธุรกิจ
โดยใช้ความพยายามในเรื่อง Climate Change มาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับสินค้าส่งออก หากรายใดสามารถทำได้สำเร็จก็จะสร้างแต้มต่อทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันและความยั่งยืน (Sustainability) ให้กับธุรกิจนั่นเอง
อนาคต SME 5.3 หมื่นราย
ซึ่งจากงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (2020) พบว่า ธุรกิจ SME คิดเป็นสัดส่วน 99.5% ของธุรกิจทั้งหมด หรือมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านราย หากไม่ปรับตัวอาจประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ไม่เพียงแต่ธุรกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบ แต่ธุรกิจที่ส่งออกไปต่างกระเทศก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ
การบังคับใช้มาตรการ CBAM ไม่เพียงแต่กระทบธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ แต่ SME กว่า 53,000 รายที่อยู่ในซัพพลายเชนจะได้รับผลกระทบเช่นกัน คิดเป็นรวมมูลค่ากว่า 98,000 ล้านบาท เนื่องจากการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนภายใต้มาตรการ CBAM จะคิดทั้งวงจรการผลิตสินค้านั้นๆ
ซึ่งเป็นแรงกดดันทางการค้าเพิ่มเติมและก่อให้เกิดความท้าทายกับธุรกิจไทยโดยเฉพาะ SME อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจส่วนใหญ่มองว่า การปรับตัวสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องใช้ต้นทุนมหาศาลในระยะแรก
ผู้ประกอบการ SME ไทย มุ่งลดคาร์บอนด้วยพลังงานสะอาด
พลังงานสะอาดคืออะไร? คือพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของการใช้ ตั้งแต่การผลิตแปรรูป และการนำไปใช้งาน ซึ่งพลังงานสะอาดที่พบได้ในปัจจุบันคือ
- พลังงานแสงอาทิตย์
- พลังงานน้ำ
- พลังงานลม
- พลังงานความร้อนใต้พิภพ
- พลังงานไฟฟ้า
- พลังงานชีวภาพ
- ชีวมวล
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือปัจจุบันพลังงานสะอาดยังคงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ก็ยังคงต้องพึ่งพาเซลล์พลังงานแสงที่รีไซเคิลได้ยาก การใช้พลังงานน้ำก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศรอบๆ เขื่อน แม้แต่เว็บไซต์ด้านสถิติหลายเว็บไซต์ยังเลือกใช้คำว่า “พลังงานหมุนเวียน” เพราะไม่มีพลังงานชนิดใด “สะอาดแบบ 100%”
ดังนั้นเราอาจจะต้องเลือกและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทการดำเนินธุรกิจนั้นๆ เพื่อทำให้พลังงานสะอาดถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้มีการออกข้อเสนอถึงภาครัฐ เพื่อผลักดันมาตรการที่จะส่งเสริมเอกชนในการปรับตัวสู่การใช้พลังงานสะอาดแทนพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งปัจจุบันเป็นพลังงานหลักคิดเป็นสัดส่วน 75% ขณะที่พลังงานสะอาดมีเพียง 25% ดังนั้น จะเสนอให้รัฐส่งเสริมการปรับโครงสร้างพลังงาน สู่พลังงานสีเขียว โดยการส่งเสริมพลังงานชุมชน มุ่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานโซลาร์แสงอาทิตย์ ให้มากขึ้น
โดยจะเห็นว่า ภาพรวมการผลิตไฟฟ้า ปี 2566 อยู่ที่ 16,003 GWh (ยังไม่รวมการผลิตไฟฟ้าในส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองและการผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำมัน การผลิตไฟฟ้าจากมันปาล์มในโรงไฟฟ้าบางปะกง) ซึ่งจะเห็นว่าไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลักคือ ก๊าซธรรมชาติ 8,084 GWh คิดเป็นสัดส่วน 51% รองลงมาคือ การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 2,514 GWh คิดเป็น 16% นำเข้าพลังงานไฟฟ้า 2,307 GWh คิดเป็น 14% ขณะที่การผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อยู่ที่ 2,167 GWh หรือคิดเป็น 14% เทียบเท่ากับกับการนำเข้า
ซึ่งหากไทยสามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่เพียงจะช่วยเสริมให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามแผน แต่ยังเสริมสมรรถนะให้เอกชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และแน่นอนว่าในอนาคต เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานโซล่าเซลล์ หรือซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเครดิตอย่างกว้างขวาง เสมือนเป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่งโดยจะนำไปต่อยอดไปสู่การให้บริการทางการเงินของธนาคารต่าง ๆ ในการปล่อยสินเชื่อด้านพลังงานสะอาด
ขณะที่ภาคเอกชนได้เริ่มสร้างกลไกสนับสนุน SME ลดการปล่อยคาร์บอน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก วางแผนก่อตั้งสถาบันบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ SME เข้าถึงพลังงานสะอาดได้ 100% เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน
การนำ REC ไปใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศ และกระแสการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับประเทศ และในระดับองค์กร Renewable Energy Certificate หรือ REC จึงถูกนำไปใช้งานเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน
โดยใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน โดย International Renewable Energy Certificate หรือ I-REC เป็นหน่วยงานรับรอง ปัจจุบันมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นรายเดียวที่ได้สิทธิ์เป็นผู้ให้การรับรองในประเทศไทย เป็นกลไกที่จะส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการ SME หน้าใหม่ในตลาดพลังงานหมุนเวียนบ้านเรามากขึ้น
ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก และนำประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ต่อไป ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังมี ‘สินเชื่อสีเขียว’ (Green Credit) เพื่อให้ธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการ ใช้พลังงาน และติดตั้ง Solar Rooftop อีกด้วย
@ ต้นแบบ SME เข้าโครงการบัวหลวงกรีนโซลาร์
ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกรุงเทพได้ให้บริการสินเชื่อ ‘Bualuang Green Solar Energy’ ที่ตั้งใจทำออกมาเพื่อผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าในธุรกิจประเภท EPC โดยผู้ขอเป็นผู้ลงทุนเอง ด้วยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) สำหรับอาคารและสถานประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายรายที่ได้เข้าร่วมโครงการและใช้ประโยชน์แล้ว
ขอยกตัวอย่างผู้ประกอบการ SME ที่ถือเป็นต้นแบบในการปรับเปลี่ยนนำพลังงานทดแทนมาใช้ในธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น ‘สุรชัยฟาร์ม’ ฟาร์มไก่เนื้อระบบปิด ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าตลอด 24 ชม. ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไก่เนื้อสูงขึ้น กำไรจากการเลี้ยงน้อยลง ทางฟาร์มจึงคิดหาวิธีลดต้นทุนการผลิต จึงได้ศึกษาการติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป เพื่อผลิตพลังงานสะอาดนำมาใช้ในธุรกิจตามกระแสเทรนด์รักษ์โลกจนประสบความสำเร็จในการบริหารต้นทุนระยะยาว
โดยหลังจากติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป ผลที่ได้คือไก่ 1 รุ่น ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 75 วัน พบว่า จากต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อไก่ 1 ตัว ประมาณ 3 บาท ลดเหลือ 1.80 บาท เป็น Case Study ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการรวมถึง SME และเกษตรกรไทยในการนำไปเป็นต้นแบบประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของตนเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดการค้ายุคปัจจุบัน ที่หันมาเน้นธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลก และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่งตัวอย่างที่นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ‘บริษัท แม่ทา พี.ดี. จำกัด’ ฟาร์มสุกรแห่งนี้ได้ได้ติดตั้งโซล่าเซลล์ และนำมูลสุกรมาใช้สร้างพลังงานทดแทน ด้วยการพัฒนาสู่ ไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าจากก๊าซมีเทนในมูลสุกร สามารถลดค่าใช้จ่ายและการใช้พลังงานลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนกากที่เหลือจากการผลิตไบโอก๊าซก็ไม่ได้ถูกทิ้งเป็นขยะสร้างมลพิษ หากแต่นำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีได้อีกด้วย และที่สำคัญแก้ปัญหาเรื่องมลพิษในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาชุมชนและดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันด้วย และทำให้เราใช้พลังงานที่ก่อมลพิษน้อยลง
เพราะมองว่าฟาร์มสุกร ถ้าไม่ดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม จะอยู่ในธุรกิจนี้ได้ยาก ดังนั้นต้องดำเนินธุรกิจให้อยู่ร่วมกันกับชุมชนให้ได้อย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยไม่สร้างปัญหาให้กับชุมชน ในขณะเดียวกันก็ไม่เบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
ผู้ประกอบการในธุรกิจ SME เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจคู่ขนานไปกับการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) การเดินทางสู่เป้าหมาย Net Zero ของไทย ซึ่งหากในอนาคตผู้ประกอบการ SME ในระบบมากกว่า 2 ล้านราย เดินทางสู่เส้นทางเดียวกันนี้ เชื่อมั่นได้ว่าการเดินทางสู่เป้าหมาย Net Zero ของไทยในปี 2065 คงมีโอกาสเป็นไปได้สูงไม่ไกลเกินฝันอย่างแน่นอน
อ้างอิง
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
https://www.eppo.go.th/images/Energy-Statistics/energyinformation/Energy_Statistics/00All.pdf
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=YjNKbllXNXBlbUYwYVc5dVgybHo
https://www.bangkokbank.com/th-TH/Business-Banking/Finance-My-Business/Loans-for-SMEs/Bualuang-Green-Loan
https://bangkokbanksme.com/en/23-4focus-earthology-studio-raise-the-circular-economy-model
https://bangkokbanksme.com/en/23-4focus-earthology-studio-raise-the-circular-economy-model