ท่านผู้อ่านคุ้นเคยกับคำว่า ‘อไจล์’ (Agile) หรือไม่ หลายๆ
คนพยายามหาคำจำกัดความของคำว่า อไจล์ และให้คำนิยามและรูปแบบไว้หลากหลาย
และส่วนใหญ่เข้าใจยาก เพราะจริงๆ มันไม่ใช่รูปแบบแต่เป็น ‘ปรัชญา’ ดังนั้นรูปแบบของปรัชญาคือไร้รูปแบบที่แน่นอน
และทราบหรือไม่ว่าด้วยแนวคิดเชิงปรัชญานี่เองทำให้มัน ‘ดิ้นได้’ อย่างไม่สิ้นสุด
แถมยังมีคนเขียนเป็นคำภีร์แบบแผนรูปแบบการทำงานในแง่มุมต่างๆ
ของอไจล์จนได้รับการยอมรับไปทั่วโลก (แม้บ้านเราจะไม่คุ้นหูนักก็ตาม)
ที่สำคัญแนวคิดแบบ อไจล์ นี้ยังมีบทบาทในการทำงานปัจจุบันด้วย เรียกว่า‘การทำงานแบบอไจล์’ ไม่ใช่การทำงานเพื่อปรัชญา แต่หัวใจสำคัญ คือ การทำงานที่ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่เป็นการเรียนรู้ลองผิดลองถูกแบบมีวินัย การทดลองทำ ลดขั้นตอนการทำงาน เรียนรู้ความล้มเหลวด้วยการทำงานจริง และต้องแก้ไขให้ได้อย่างรวดเร็ว นี่คือ Agile Working ที่ว่ากันว่าจะทำให้รูปแบบของสำนักงานในอนาคตอันใกล้นี้เปลี่ยนไปอย่างถาวร
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme
อ้างอิงรายงานของ ซีบีอาร์อี
ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่รายงานว่า Agile Working รูปแบบการทำงานที่พนักงานไม่มีโต๊ะทำงานส่วนตัว
แต่เน้นคล่องตัว เป็นการทำงานร่วมกันของพนักงานจากหลายแผนกแบบข้ามสายงาน ในลักษณะโปรเจ็กต์ของโครงการที่จะพัฒนา พนักงานแต่ละแผนกจะเข้ามาทำงานร่วมกัน
นับตั้งแต่เริ่มต้นแนวคิดในการพัฒนาโครงการจนสามารถส่งมอบบ้านให้กับลูกค้าได้
ความหมายในมุมที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน
คือ แม้แต่ลักษณะออฟฟิศสำนักงานก็อาจจะต้องเปลี่ยนด้วย
อาทิ การทำงานแบบ Agile Working สำนักงานอาจจะต้องรองรับคนจำนวนมากหน้าหลายตา และยิ่งจำนวนคนในแต่ละชั้นมีมาก
เจ้าของอาคารต่างๆ จะต้องจัดหาลิฟต์ที่สามารถรองรับคนจำนวนมากได้
อาคารจะต้องใช้ระบบปรับอากาศที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงที่ในทุกพื้นที่ทำงานและจะต้องมีฉนวนกันความร้อนที่ดี
รวมถึงผู้เช่าจะพิจารณาถึงปริมาณห้องน้ำที่เพียงพอและต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารที่ดีขึ้น
ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับอาคารเก่า
ซึ่งส่งผลให้การรักษาผู้เช่าที่มีคุณภาพดีนั้นทำได้ยากขึ้น
รายงานยังระบุอีกว่า ในอนาคตเช่าจำนวนมากจะเปลี่ยนรูปแบบพื้นที่ทำงานเป็นพื้นที่ทำงานแบบ Agile Workplace ซึ่งหมายความว่าผู้เช่าจะใช้พื้นที่ที่น้อยลงแต่จ่ายค่าเช่าต่อตารางเมตรมากขึ้น เนื่องจากต้องการอาคารสำนักงานที่มีคุณภาพดี
คำถามสำคัญคือ
จะมีบริษัทกี่แห่งที่ยินดีจ่ายค่าเช่าที่สูงขึ้นอย่างมาก
เพื่อให้ได้สถานที่ทำงานที่มีคุณภาพดีที่สุด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างค่าเช่าอาคารสำนักงานใหม่ระดับเกรดเอกับอาคารที่มีสภาพเก่ากว่าไม่ว่าจะเป็นระดับเกรดเอและบี
หากจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับอาคารที่มีคุณภาพดีที่สุดนั้นสูงกว่าอาคารเก่าอย่างชัดเจน
การได้รับการอนุมัติงบประมาณสำหรับค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นอาจจะเป็นเรื่องยาก
เทรนด์นี้อาจเป็นข่าวร้ายของอาคารพาณิชย์ให้เช่ายุคเก่า แต่ก็อาจเป็นข่าวดีของอาคารที่กำลังสร้างใหม่ แต่ก็ฟังหูไว้หู เพราะว่ากันว่า Agile Working ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกองค์ สำนักงานก็เช่นกัน สิ่งที่ยังเป็นแค่เทรนด์ เอามาบอกเล่ากัน สำหรับธุรกิจที่ไม่ชอบ ‘แนวปรัชญา’ ก็ยังมีอีกหลายแนวให้เลือกนำมาปรับใช้