“จะทำอย่างไรดียอดขายอาหารลดลงไปมาก
ตั้งแต่มีการประกาศปิดเมืองเพราะโรคโควิด-19 ทำรายได้หายไปวันละ
4-5 พันบาท การขายอาหารการกินในช่วงนี้ช่างยากเย็น”
นี่คือหนึ่งเสียงของผู้ประกอบการพร่ำบ่นปนกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่พบเจอบ่อยในช่วงนี้
แม้ว่าจะนำร้านเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์ม Food Delivery ทุกค่ายแล้วก็ตาม
แต่ก็ยังไม่สามารถจะสร้างยอดขายให้ไปต่อได้ เพราะอาหารบางอย่างก็ไม่ได้ทำกำไรมากมาย
แถมมี Gross Profit (GP) หรือส่วนแบ่งส่วนรายได้จากยอดขายให้แก่แพลตฟอร์ม
และในส่วนที่ไม่มีส่วนแบ่งรายได้ก็ต้องไปแข่งขันกับร้านค้าอื่นๆ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วงนี้หลั่งไหลเข้ามามากขึ้นในช่วงนี้
แล้วจะทำอย่างไรดีถึงจะดำเนินธุรกิจไปต่อได้โดยไม่พึ่งแพลตฟอร์มดังที่ให้บริการ Food Delivery และไม่สะดุดจนต้องปิดกิจการ ในครั้งนี้เรามีแนวคิดมาช่วยกระตุ้นให้เกิดพลังคิดบวกเพื่อพลิกวิกฤติหาโอกาสให้ชีวิตจากรูปแบบการ Startup ปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจในช่วงโควิด-19 ทำเศรษฐกิจซบ ดังนี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1.ปรับรูปแบบร้านออฟไลน์สู่ออนไลน์พร้อมเปิดบริการจัดส่งในพื้นที่
หนึ่งในคำแนะนำที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรปรับตัว
คือการรุกขึ้นมาลองทำตลาดออนไลน์เอง ที่อาจพลิกวิกฤติเป็นโอกาสให้ไปต่อได้
ดังเช่นตัวอย่างของ คุณน็อต-ชนะชัย
พฤกษชัต ผู้ริเริ่มขายข้าวแกงออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊ค
โดยเปิดเพจขายอาหารชื่อ “เนตร ข้าวแกงไทย” เพียงสัปดาห์ละ 3 วัน
จันทร์ พุธ ศุกร์ ร่วมกับคนในครอบครัว
โดยชูจุดขายคือความอร่อยผ่านฝีมือแม่ยาย ด้วยรายการอาหารไม่ซ้ำอย่างกว่า 15 ชนิด และแตกไลน์หาคนขับรถวิ่งส่งให้ลูกค้าถึงบ้านในระแวกใกล้เคียงเอง โดยไม่ใช้ Food Delivery เจ้าดัง ด้วยสินค้าที่ขายไม่ได้ทำกำไรมาก จึงเลือกทำเองแล้วจ้างคนวิ่งส่งกลุ่มลูกค้าภายในระแวกใกล้ๆ แทน ปรากฏว่ามีออร์เดอร์เข้ามาไม่ต่ำกว่าวันละ 40 ออร์เดอร์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเปิดบริการ 2go Food ช่วยผู้ประกอบการให้ได้ใช้พนักงานเดลิเวอรีในราคาถูกขึ้นมาในช่วงเวลานี้ด้วย
2.ขายออนไลน์ผ่านกลุ่มเครือข่ายต่างๆ
การเข้ากลุ่มหรือรวมกลุ่มชุมชนแบบเฉพาะกิจไปจนถึงกลุ่มที่ตั้งมาอยู่แล้วในช่วงนี้
เป็นหนทางโปรโมทสินค้าร้านค้าได้อย่างเห็นผลชัดเจน
ยิ่งถ้ากลุ่มนั้นมีความสนิทโดยสถาบัน องค์กร หน่วยงานด้วยแล้ว
จะกลายเป็นช่องทางขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดขึ้นได้ บนพื้นฐานของความเชื่อมั่น
ดังเช่นที่มีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ลุกขึ้นมาเปิดเพจสร้างพื้นที่ส่วนรวมแบบเพื่อนช่วยเพื่อนไว้เป็นช่องทางการทำตลาดผ่านเครือข่ายศิษย์เก่า
ศิษย์ปัจจุบัน และคนทั่วไป จนได้รับความนิยมจากผู้คนมากมาย
และซื้อขายได้จริงโดยไม่ต้องหวั่นเรื่องกลโกง
โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดกลุ่มชื่อ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ขึ้นมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มกว่า 68,000 คน, มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เปิดกลุ่มชื่อ “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” ขึ้นมาช่วยเป็นแหล่งกระจายในการซื้อขายสินค้า, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดกลุ่ม “ตลาดนัด มศว”, มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดกลุ่ม “ม.เกษตร มาร์เก็ต และล่าสุดมี “รามคำแหงฝากร้าน” เพจของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่กำกับดูแลโดยผู้บริหารระดับคณะบดี
การดึงพลังกลุ่มบนโซเชียลมีเดียแพล็ตฟอร์ม
Facebook มาใช้ช่วยทำการตลาด
ขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงนี้เป็นสิ่งที่คาดหวังผลลัพธ์ได้ดี
และรวดเร็วกว่าการขับเคลื่อนเพจ
ดังนั้นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่สามารถเสนอขายได้ในระบบออนไลน์
จงนำสินค้าและบริการที่มีอยู่ไปลงตามกรุ๊ป ตามกลุ่มต่าง ที่ตัวเองเป็นสมาชิก
ก็จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้รอดผ่านวิกฤตินี้ไปได้
3.ปรับรูปแบบภาชนะบรรจุ
เพิ่มขนาดเปลี่ยนการขาย
เครื่องดื่มชานมไข่มุกและกาแฟปรับตัวช่วงกักตัว
ด้วยการขายยกถังแบบบิ๊กไซส์ ปรับภาชนะบรรจุเป็นแบบหิ้วพกพาได้ในความจุที่มากกว่าเดิม
พร้อมยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น เพื่อเอาใจคอชา-กาแฟตอบโจทย์ช่วงกักตัวอยู่กับครอบครัว
ถือว่าเป็นการปรับตัวอันน่าชื่นชมของเหล่าร้านชานมไข่มุก-ร้านกาแฟ
ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไป
ซึ่งพบว่ากระตุ้นยอดขายได้โดยไม่ต้องปิดร้าน ยกตัวอย่างร้าน Bo.Baa.Bar ที่จัดชานมเป็นชุด
Party Box มีขนาด 3 และ 5 ลิตร เสิร์ฟพร้อมไข่มุก แก้ว
หลอด โดยที่ผู้ซื้อต้องหาน้ำแข็งใส่ทานเอง เป็นต้น
4.การปรับตัวของธุรกิจสายนั่งทานยาว
จากมาตรการห้ามนั่งทานที่ร้านและให้ผู้คนกักตัวป้องกันโรคติดต่อ ทำให้ร้านนั่งทานหลายแห่งต้องปิดตัวลงในช่วง Lockdown และกักตัว อย่างร้านไอศกรีมเจ้าดัง ที่ต้องออกโปรโมชั่นไอศกรีมข้าวเหนียมมะม่วงมาให้คนไทยได้ลิ้มรสตามฤดูกาลก็ต้องปิดตัวลงไปในช่วงนี้ รวมไปถึงร้านนั่งทานแบบบุฟเฟต์ต่างๆ
แต่กระนั้นก็ยังมีธุรกิจนั่งทานยาวพยายามปรับเปลี่ยน ปรับตัวไปต่อเพื่อความอยู่รอด แม้แต่ร้านสุกี้เชนดัง MK ยังมีการปรับตัวปั้นธุรกิจแนวใหม่สู้ศึกโควิด-19 ในครั้งนี้ ด้วยการเปิดธุรกิจให้บริการส่งผักสดตรงถึงบ้านภายใต้ชื่อ "MK FRESH MART" ส่งผักสดจากโครงการหลวง หลากชนิด ผ่านช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ด้วยราคาเริ่มต้น 35 บาทขึ้นมาอำนวยความสะดวกช่วงกักตัวและทำงานอยู่บ้าน ตลอดเดือนเมษายนนี้
ด้านร้านชาบู Penguin Eat Shabu ที่ตลาดซบเพราะอาหารจานหลักต้องอาศัยการนั่ง ปิ้ง ย่างทานที่ร้าน ได้ออกโปรโมชั่นเด็ดโดนใจคนไทยช่วงกักตัว ซื้อชุดทานชาบูแล้วแถมหม้อต้มแบบทานคนเดียวและแบบทานหลายคน ไปจนถึงแถมแพ็คเกจ Tinder Plus เป็นโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายชนิดที่ยอมเข้าเนื้อ จนกลายเป็นขายดีระบบล่ม สินค้าช่วงโปรโมชั่นหมดไปชั่วพริบตา เพราะออกโปรโมชั่นมาได้ตอบโจทย์คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์กักตัวอยู่บ้าน ที่ชอบทานชาบูแต่ไม่มีอุปกรณ์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังจับโจทย์เรื่องความเหงาที่ไม่ได้ออกไปพบปะผู้คนในช่วงกักตัวได้ด้วย
แม้ว่าแนวคิดเหล่านี้จะเป็นเหมือนสีสันของร้านค้าที่ปรับตัวสู้ช่วง Lockdown เมืองและผู้คนกักตัว ไม่ออกไปไหนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม แต่ถ้ามองให้ดีจะพบว่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกต่อจากนี้จะไม่กลับสู่ปกติสุขเหมือนเดิม เพราะต่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศได้
ตราบใดที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกและเชื้อโรคนี้ยังไม่หายไป
การใช้ชีวิตหลังจากปลด Lockdown เมืองของผู้คนก็จะไม่มีวันเหมือนเดิม
ดังนั้นการตื่นตัวปรับเปลี่ยนกลยุทธ์สู้ศึกโควิด-19 ในครั้งจึงไม่ใช่แค่เพียงระยะเวลาสั้นๆ
แต่อาจต้องคิดทำกันยาวๆ ว่าจะเดินหน้าธุรกิจกันอย่างไร
หากชีวิตปกติจะไม่มีวันกลับมา.
แหล่งอ้างอิง
:
https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_146102
https://positioningmag.com/1273245
