ไม่ว่าสงครามการค้าจะดำเนินไปในทิศทางใด
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดบริโภคจีนยังคงเนื้อหอม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการไทย ตามสถิติจากบริษัท CVSC-TNS RESEARCH(CTR) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดในประเทศจีน
ได้รายงานว่า ปี 2561 ผู้บริโภคใช้เวลา 3.8 ชั่วโมงต่อวัน ในการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มต่างๆ
บนมือถือ เฉลี่ยเดือนละ 30 แอปพลิเคชั่น
โดยผู้บริโภคชาวจีนเชื่อในคำบอกปากต่อปากของเพื่อน การแนะนำต่างๆ บน WeChat และการแชร์รีวิวความพึงพอใจในการบริโภค ทำให้เกิดการกระตุ้นความต้องการซื้อ ซึ่งในอดีตการบริโภคจะมีลักษณะ “ซื้อแล้ว แชร์แล้ว ซื้อซ้ำ” เป็น “ยิ่งแชร์ยิ่งกระตุ้นยิ่งซื้อ” ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ในมุมมองของร้านค้าปลีกที่มีลักษณะเป็นหน้าร้าน จึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้สามารถรักษาลูกค้าเดิม และเพิ่มเติมลูกค้าใหม่ได้ด้วย
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
O2O เติมเต็มประสบการณ์ค้าปลีกแนวใหม่
นับตั้งแต่แจ๊ค หม่า
อดีตผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด
ได้เผยแพร่แนวคิดการค้าปลีกรูปแบบใหม่หรือการค้าแบบ e-Commerce ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศออกมา
ทำให้ระบบร้านค้าออนไลน์และร้านค้าออฟไลน์ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้ประกอบการค้าปลีกเริ่มนำมาใช้ควบคู่กัน
ยกตัวอย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า RT-Mart และ ห้างสรรพสินค้า Auchan ใช้ระบบปฏิบัติการค้าปลีกออนไลน์ของอาลีบาบา ทำให้ห้างสรรพสินค้า RT-Martและห้างสรรพสินค้า Auchan ได้รับบริการขนส่งสินค้าแบบ
O2O (Online to Offline) ของ Taoxianda ซึ่งเป็นบริการหนึ่งของแพลตฟอร์ม Taobao ที่ให้บริการส่งสินค้าเดลิเวอรี่ให้กับห้างสรรพสินค้าต่างๆ
ที่เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์ม Taobao โดยลูกค้าเพียงแค่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในห้างสรรพสินค้า
RT-Mart หรือห้างสรรพสินค้าพันธมิตรต่างๆ
สาขาใกล้บ้าน/ ที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์ม Taobao เพียง 1 ชั่วโมง
เท่านั้น ก็สามารถรอรับสินค้าที่หน้าบ้าน/ ที่ทำงานได้ทันที
แนวคิดการค้าปลีกในรูปแบบ e-Commerce ควบคู่กับการพัฒนาร้านค้าปลีกแบบออฟไลน์ ไม่เพียงแต่ถูกนำมาใช้ส่งเสริมการขายกับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน ธุรกิจค้าปลีกต้องมีการพัฒนาระบบร้านค้าออฟไลฟ์ควบคู่กับร้านค้าออนไลน์ โดยร้านค้าออฟไลน์มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มเติมประสบการณ์การทดลองสินค้า ส่วนร้านค้าออนไลน์มุ่งเน้นไปที่การให้บริการที่มีความสะดวกรวดเร็วของการสั่งซื้อ การจัดส่ง ตลอดจนบริการรับคืนสินค้าต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ตลาดค้าปลีกมีความจำเป็นต้องปรับตัวให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ธุรกิจบริการค้าปลีกในปัจจุบันจึงต้องพัฒนากลยุทธ์การให้บริการต่างๆ
ที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มบริโภคทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน
ซึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ธุรกิจค้าปลีกแบบออฟไลน์ต้องรักษาและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น คือการให้บริการทดลองสินค้า การเพิ่มพื้นที่ร้านค้า การเพิ่มพื้นที่ชั้นวางสินค้า
การเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ตลอดจนการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้เข้าถึงระบบออนไลน์ให้มากขึ้น
เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม
และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกลจากร้านค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กรณีน่าศึกษานี้ สอดรับพอดีการการทำการตลาดแบบ Omni Channel คือการผสานทุกช่องทางการจัดจำหน่ายไว้ช่องทางเดียว เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมทุกความต้องการ