ท่ามกลางการระบาดของโควิด 19 เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างไร? ใช้เวลานานหรือไม่ในการฟื้นตัว? และจะฟื้นตัวในรูปแบบไหน? สิ้นปีนี้จะหดตัวไปเท่าไหร่?
คำถามเหล่านี้คงไม่ได้เป็นปัญหาคาใจของนักเศรษฐศาสตร์การเงินให้ต้องปวดหัว ในการออกมาคิดคำนวณนำเสนอ ทำข่าวเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นสิ่งสำคัญที่จะสัมพันธ์กับการเงิน การลงทุน การจ้างงาน และรายได้ในภาคครัวเรือน หรือจีดีพีของประเทศด้วย จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กระหน่ำเศรษฐกิจทั่วโลกให้มีการหดตัวลง ซึ่งการหดตัวลงนั้นหมายถึงรายได้ที่จะลดลงไปด้วย อ้างตามหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ที่ระบุว่าหากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีหดตัวลงในระยะ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ถือว่าประเทศนั้นๆ กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
โดยเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงซบเซาจนเข้าสู่ไตรมาสที่
3 ของปี 2563 ไปแล้ว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกติดลบ 1.8% เป็นการติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 57
เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด 19
ส่งผลกระทบต่อบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ
และการลงทุนภาครัฐและเอกชนปรับตัวลดลง ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 60,867 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.5%
ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ตามการขยายตัวของการส่งออกทองคำ
และกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์จากสงครามการค้าในช่วงก่อนหน้าและการระบาดของโควิด
19
ทั้งนี้การที่ภาครัฐทยอยคลายล็อกให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
63 เป็นเครื่องชี้วัดได้ว่าเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะหดตัว
จากกำลังซื้อที่อ่อนแอของครัวเรือนและภาคธุรกิจ
ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ
ขณะเดียวกันการส่งออกและการท่องเที่ยวยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย
และสถานการณ์โควิดในต่างประเทศที่ยังไม่ยุติ ทิศทางดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส
2/2563 หดตัวลงลึกสู่ตัวเลขสองหลัก
นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง
แนวโน้มเศรษฐกิจยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในหลายประเทศที่ยังรุนแรง
ซึ่งจะทำให้การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศของไทยอาจเกิดขึ้นอย่างจำกัด
ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่แรงฉุดจากเศรษฐกิจโลก
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และประเทศอื่นๆ ตลอดจนค่าเงินบาทที่แข็งค่า
อาจยังกดดันการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
ด้านมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิดควบคู่กับแรงขับเคลื่อนจากกลไกภาครัฐ
ผ่านการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท
ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะเข้ามาช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด
อย่างไรก็ตามการกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลา
และจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่าประเทศไทยจะฟื้นตัว ไปในทิศทางใด และจะเป็นไปตามทีทิศทางที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้หรือไม่
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
ไม่ได้ฟื้นตัวเร็วอย่างก้าวกระโดด เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวกลับมาอาจจะใช้เวลาถึงปลายปี
2564 หรือใช้เวลาเกือบ 2 ปี เศรษฐกิจถึงกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด
19 ในลักษณะเครื่องหมายถูกหางยาว หรือที่รู้จักกันในชื่อ Swoosh-shaped บ้างก็เรียกกันว่า Nike-shaped ซึ่งเป็น 1 ใน 5 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีการคาดการณ์ไว้ ดังนี้
1. แบบ V-Shape (วี เชป) หรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
"รูปตัววี" เป็นการลงเร็ว
ฟื้นเร็ว
ในอดีตการฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นรูปตัววีพร้อมกับกิจกรรมที่กลับสู่ระดับก่อนเกิดภาวะถดถอย
ในเวลาเดียวกันหรือน้อยลงตามระยะเวลาของการตกต่ำ
แต่การหยุดชะงักอย่างกะทันหันของกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
เมื่อเปิดตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหม่จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น
ทำให้ไม่สามารถเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระหว่างช่วงพักฟื้น
โดยเศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงไถลลงลึก อยู่ที่ก้นเหวช่วงสั้นๆ แล้วค่อยๆ ฟื้นตัว
แบบตกแรงดีดแรง
2. แบบ Nike-shaped, Swoosh, Tick
or Italicized V Shape (ไนกี้ เชป) หรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ “รูปเครื่องหมายไนกี้”
เป็นการไถลลงเร็วและค่อยๆ ฟื้นตัว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนี้จะมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายถูกหางยาว
คือเป็น V-shaped เป็นการไถลลงเร็วค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงแรก
และค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงท้าย และเศรษฐกิจจะเติบโตช้าในระยะยาว หรือมีการไถลลงเร็วแต่จะค่อยๆ
ฟื้นตัว คล้ายกับ V Shape ที่เป็นกรณีพื้นฐาน (base
case)
3. แบบ U-Shape (ยู เชป) หรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ “รูปตัวยู” มีการหดตัวนาน ฟื้นตัวช้า
คล้ายกับรูปแบบที่สองแต่ต่างกันตรงที่ระยะเวลาของผลกระทบที่อาจนานกว่า
ทำให้ใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า ใช้เวลานานหลายปี เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศและภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้ภายในปีนี้
จากการเกิดการชะงักงันด้านอุปทาน เนื่องจากกำลังซื้อหายไป
4. แบบ W-Shape การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบ “ดับเบิล ดิป” เป็นการฟื้นเร็วและดิ่งลงรอบสอง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
19 ในขณะนี้มีโอกาสที่สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ภาวะถดถอย
จากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสในคลื่นลูกที่สอง
5. แบบ L-Shape การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ “รูปตัวแอล” เป็นการหดตัวยาวนาน ไร้สัญญาณการฟื้นตัว ลักษณะเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ถือเป็นเคสที่สาหัสสุด
ซึ่งหมายถึงการดิ่งลงอย่างฉับพลัน ทุกอย่างหยุดชะงัก
ในขณะที่เส้นกราฟจะยังคงเดินต่อไปในแนวนอนต่อเนื่องไปอีกหลายปี
จนกว่าจะแน่ใจว่าการปิดตัวของเศรษฐกิจโลกจะจบลงและกลับมาเริ่มต้นอีกครั้ง เป็นกรณีเลวร้ายสุด
ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้
แหล่งอ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/