3 ตัวอย่างธุรกิจ (The Green Warrior) สร้างสรรค์ธุรกิจเติบโตเคียงคู่กับ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันเรื่อง ‘Sustainability’ หรือ ‘ความยั่งยืน’ กลายเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ กล่าวได้ว่า ธุรกิจใดไม่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน อาจส่งผลเสียในระยะยาว เรื่องนี้จึงเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้ภาคธุรกิจตื่นตัวและมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืนมากขึ้น เช่น การทำให้ธุรกิจยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ คือการพัฒนาสินค้า การเลือกวัตถุดิบ ไปถึงจนถึงปลายน้ำ คือขั้นตอนการผลิตและการจัดส่งสินค้า กระบวนการเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนทั้งสิ้น
บทความนี้ Bangkok Bank SME จะพามาทำความรู้จักความยั่งยืนของธุรกิจในการจัดการซัพพลายเชน ที่ใส่ใจและคำนึงถึง สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่าน Case Study 3 ผู้ประกอบการ SME ที่เริ่มจาก Passion ในการดำเนินธุรกิจ ต่อยอดสู่ความยั่งยืนของชุมชน พวกเขาทำได้อย่างไร และทำไมถึงต้องทำ carbon footprint
ความยั่งยืนของธุรกิจในการจัดการซัพพลายเชน คืออะไร
ความยั่งยืนด้านการจัดการซัพพลายเชน คือการคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมตลอดในทุกขั้นตอนในวงจรของซัพพลายเชน (Supply Chain Life Cycle) ตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาสินค้า เลือกวัตถุดิบ ผลิต บรรจุภัณฑ์สินค้า ขนส่ง กระจายสินค้า ไปจนถึงการใช้และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนจบ นอกจากจะทำให้องค์กรสามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ได้แล้ว ยังทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดต้นทุนได้ในที่สุด
สร้าง ‘ซัพพลายเชน’ ให้ยั่งยืน ทำอย่างไร?
การให้บริการดูแลสิ่งแวดล้อม (Environmental stewardship): ความรับผิดชอบในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติเพื่อรับประกันว่าทรัพยากรธรรมชาติมีการจัดการอย่างยั่งยืน สำหรับชุมชนรุ่นอายุปัจจุบันและอนาคตต่อไป ซึ่งประกอบด้วย การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) การอนุรักษ์ (Conservation) การทำให้เกิดขึ้นใหม่ (Regeneration) และการให้คงสภาพเดิม (Restoration)
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (Conservation of resources): การสงวนรักษาและรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ประโยชน์และเกิดคุณค่ามากที่สุด รวมทั้งการปรับปรุงของเสียให้นำกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดการสูญเปล่าน้อยที่สุด
การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Reduction of carbon footprint): การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง การใช้งานและการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้
การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (Sustainable procurement): กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่พิจารณาด้านราคา การส่งมอบ และมีคุณสมบัติที่ครอบคลุมประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจที่ช่วยลดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นการรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้องในซัพพลายเชน
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) การปกป้องและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เช่น การสนับสนุนคู่ค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านสังคม (Social) การจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก เช่น การต่อต้านการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย เช่น แรงงานทาส แรงงานเด็ก
ด้านเศรษฐกิจ (Economics) การรักษาเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน รวมไปถึงการมีบรรษัทภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น การต่อต้านการติดสินบนและการต่อต้านคอร์รัปชันทุกกรณี
ดังนั้น หากธุรกิจต้องการประยุกต์หลักการการจัดการอย่างยั่งยืน จำเป็นที่ต้องพิจารณา 3 หัวข้อหลัก ได้แก่เศรษฐกิจ (Economic) สิ่งแวดล้อม (Environment) และสังคม (Social) เริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน
1. ด้านสังคม ธุรกิจต่าง ๆ ในซัพพลายเชนต้องให้ความสำคัญกับแนวทางในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัย รวมทั้งสวัสดิภาพของพนักงาน คู่ค้า รวมไปถึงลูกค้า โดยให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมให้น้อยที่สุด
2. ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจอาจจะกำหนดเป้าหมายในเรื่องรายได้ ต้นทุน กำไร รวมไปถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า
3. ด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงการลดผลกระทบที่จะเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ในซัพพลายเชน เช่น ลดปริมาณมลพิษที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด อีกทั้งลดของเสีย และส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
เมื่อธุรกิจสามารถกำหนดเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนแล้ว ต้องปรับแนวทางการทำงานด้วย เช่น ในอดีตเคยจัดซื้อด้วยวิธีการเจรจาต่อรองเพื่อให้มีต้นทุนการซื้อต่ำสุด ซึ่งการจัดซื้อดังกล่าวอาจเป็นการซื้อจากผู้ขายที่อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้ขายต้องหาวิธีทำให้ได้ต้นทุนต่ำสุด เพื่อขายสินค้าราคาถูกให้ลูกค้าได้ ผู้บริโภคจึงมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน หากผู้บริโภคมีความรับผิดชอบต่อสังคม จะเลือกซื้อสินค้าที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทำให้หน่วยธุรกิจต่าง ๆ ในซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จำเป็นต้องปรับตัวให้สามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ซัพพลายเชนมีความยั่งยืนในที่สุด
Case Study 3 ธุรกิจ ซัพพลายเชน ที่ช่วยสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม สู่ความยั่งยืน
ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง 3 ผู้ประกอบการ SME ที่เริ่มจาก Passion ดำเนินธุรกิจต่อยอดสู่ความยั่งยืนของชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางในการพลิกสู่โอกาสธุรกิจของคุณ ให้สามารถแข่งขันได้ในยุคที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ
โกโก้ วัลเล่ย์ ธุรกิจโกโก้สายพันธุ์ไทยที่ใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม
โกโก้ วัลเล่ย์ รีสอร์ท หรือที่นักท่องเที่ยวเรียกกันสั้น ๆ ว่า โกโก้ วัลเล่ย์ คือ ตัวอย่างที่ดีของการทำธุรกิจจาก Passion ที่มีความตั้งใจอยากจะพัฒนาชุมชนผ่านธุรกิจ คุณมนูญ ทนะวัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกโก้ วัลเล่ย์ จำกัด เจ้าของอาณาจักรโกโก้ ใน อ.ปัว จ.น่าน ที่ถอยจากชีวิตเมืองใหญ่กลับสู่บ้านเกิด กับความตั้งใจอยากเป็นธุรกิจเพื่อชุมชนที่ให้ผู้สูงวัยเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นเกษตรกรรักษ์โลก เพื่อส่งมอบสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภคทุกคน พร้อมยึดมั่นในการทำธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่ผู้ปลูก ผู้บริโภค และระบบนิเวศโดยรวม กับแนวคิดที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจาก Passion ที่มีความสามารถช่วยเกษตรกรให้มีความยั่งยืน (Sustainability) ได้
โกโก้ วัลเลย์ นอกจากจะโดดเด่นเรื่องการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมุ่งเน้นการทำงานเชื่อมโยงกับชุมชน เพื่อสร้างงาน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างคุณค่าความภาคภูมิใจแก่เกษตรกรจังหวัดน่าน
นอกจากนี้ โกโก้ วัลเลย์ ยังรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรในจังหวัดน่านที่ทำการเกษตรอินทรีย์100% เพื่อนำมาแปรรูปเป็นช็อกโกแลต จุดเด่นของสวนโกโก้แห่งนี้ คือ ความพรีเมียมของโกโก้ที่ใช้ส่วนผสมหลักเป็น Real Cocoa 100 % ภายใต้มาตรฐาน Earthsafe Standard ทำให้โกโก้ได้เติบโตตามธรรมชาติอย่างดีที่สุด
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ โกโก้ วัลเลย์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เรื่องโกโก้ชั้นดี ที่ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สวนโกโก้แห่งนี้มีดีกรีรางวัลการันตีคุณภาพมากมาย และล่าสุดสามารถคว้า รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาครองได้สำเร็จถึง 2 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลดีเด่น สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ และเกียรติบัตรประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน
รางวัลที่เขาได้รับ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจที่ใส่ใจและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ผสานกับการออกแบบสินค้าและบริการที่สอดรับกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ตลอดจนการบริหารจัดการคาร์บอนต่ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาถึงวันนี้ คุณมนูญ ต่อยอดการทำเกษตรของครอบครัวจนกลายเป็นหุบเขาโกโก้ที่สวยงามอย่างมีคุณค่า เขาได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้สูงอายุใน จ.น่าน ปัจจุบันมีผู้สูงอายุเข้ามาทำงานในสวนโกโก้แห่งนี้กว่า 100 คน ตั้งแต่ผู้ปลูกโกโก้ และเก็บผลส่งขายเพื่อแปรรูปเสิร์ฟในร้าน นอกจากนั้นยังมีผู้ทำหน้าที่ฝัดแยกเปลือกเมล็ด แทนการใช้เครื่องจักร สิ่งที่ โกโก้ วัลเล่ย์ ประสบความสำเร็จมากที่สุด ไม่ใช่แค่การเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของ จ.น่าน แต่คือความภาคภูมิใจที่สามารถทำให้ผู้สูงอายุมีคุณค่าในช่วงบั้นปลาย มากกว่าการรอเงินเบี้ยคนชรา หรือรอพึ่งพาลูกหลานเลี้ยงดูเท่านั้น
“สิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำ คือการใช้แรงงานคนให้มากที่สุด จึงไม่ใช้เครื่องจักรในการแปรรูปผลิตภัณฑ์เลย โดยเฉพาะผู้สูงอายุเราให้มาทำงานเบา ๆ เช่น แยกเปลือกโกโก้ ทำให้เขาภูมิใจที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ไม่เป็นภาระของลูกหลาน”
จาก Passion ที่อยากสร้างสรรค์ธุรกิจให้เติบโตเคียงคู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน โกโก้ วัลเล่ย์ จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างงาน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และช่วยเหลือให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในการทำเกษตร จนธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างที่เขาตั้งใจ ตอบโจทย์กับลูกค้าทุกกลุ่มที่มีหัวใจเดียวกันที่ต้องการสร้างสรรค์ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
สวนโกโก้ วัลเล่ย์ แห่งนี้ จึงเป็นมากกว่ารีสอร์ท หรือคาเฟ่ ที่มีเมนูหลากหลายความอร่อย ไว้คอยต้อนรับผู้มาเยือนเท่านั้น เพราะจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ เกิดมาจากอุดมการณ์ที่ต้องการสร้างความยั่งยืนในเรื่องการปลูกโกโก้ ตลอดจนสร้างโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากอำเภอเล็ก ๆ ใน จ.น่าน ที่ห่างจากตัวเมืองกว่า 70 กิโลเมตร ได้เป็นที่รู้จักในระดับสากลให้เป็นจุดหมายปลายทางของคนรักโกโก้ ที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมเมืองใหญ่ มาพักผ่อนกายใจ ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ได้อย่างสนุกเพลิดเพลิน รวมถึงได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำที่สวนโกโก้แห่งนี้ เพื่อช่วยกันเยียวยาโลกของเราที่กำลังเผชิญกับภาวะ โลกร้อน นำสู่การสร้างความสมดุลสู่ความยั่งยืนต่อไป
อ่านบทความเพิ่มเติม : https://bangkokbanksme.com/en/sme-cocoavalley-resort
เจมฟอเรสท์ ผู้ใช้พลังของ ‘กาแฟ’ เปลี่ยนแปลงชีวิตชาวชุมชนที่บ้านเกิด
นอกจากคุณมนูญแล้ว คุณเคเลบ จอร์แดน ถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของชาวน่าน ที่มุ่งหวังบุกเบิกธุรกิจเพื่อพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งหนุ่มอเมริกัน นักคั่วกาแฟ Gem Forest Coffee โรงคั่วกาแฟสัญชาติไทย เติบโตที่ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ร่วมกับชาวบ้านซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าลัวะ จุดเริ่มต้นจึงเริ่มจากสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ บ้านมองเห็นโอกาสในการใช้พลังของ ‘กาแฟ’ มาเปลี่ยนแปลงชีวิตคนที่บ้านเกิดของเขา โดยสามารถเพิ่มมูลค่ากาแฟได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟ ให้มีอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
คุณเคเลบ สะท้อนภาพว่า คนเผ่าลัวะหลายหมู่บ้านประสบปัญหาเดียวกัน คือ ไม่มีงานทำในพื้นที่ตัวเอง หลายครอบครัวจำเป็นต้องพลัดพรากจากกัน เพื่อไปหางานทำนอกพื้นที่ จึงอยากใช้ความสามารถที่มีให้เป็นประโยชน์กับชุมชนที่เราเติบโตมา เหตุผลที่เลือกทำธุรกิจกาแฟ เพราะเป็นสิ่งที่มีความเข้าใจอยู่แล้ว จากการได้ทำงานที่โรงคั่วมา 3-4 ปี อีกทั้งกาแฟ ถือเป็นพืชเกษตรที่น่าสนใจ เพราะการปลูกไม่ต้องเคลียร์ที่ดิน ไม่ต้องตัดต้นไม้ถางป่า ปลูกที่เดิมซ้ำ ๆ ได้ ที่สำคัญยังช่วยฟื้นฟูผืนป่าไปในตัว โดยเฉพาะการปลูกกาแฟในพื้นที่เขาหัวโล้น จะช่วยพลิกฟื้นให้ผืนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นับเป็นการทำเกษตรอย่างยั่งยืนควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนได้อีกด้วย
คุณเคเลบ ลงมือทำให้ชาวบ้านเห็นก่อนว่าพื้นที่สูงแบบนี้ปลูกอะไรได้บ้าง สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญสำหรับเขาที่เริ่มเข้ามาปลูกและพัฒนาพันธุ์กาแฟที่ดอยมณีพฤกษ์ เขาอยากให้ชาวบ้านรับรู้และเข้าใจว่า สิ่งที่อยู่ในมือพวกเขามีค่ามากเท่าไหร่ และอยากให้พวกเขามีจุดยืนในคุณภาพของตัวเอง ถ้าชาวบ้านไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมี ก็จะถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบได้ง่าย เขาจึงพยายามมอบองค์ความรู้ที่เขามีให้กับชาวบ้านให้มากที่สุด และทำพื้นที่ชงกาแฟสาธารณะประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมาชิมกาแฟที่พวกเขาปลูกกันเอง พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้กัน ชาวบ้านต้องรู้ว่ากาแฟที่ตัวเองปลูกมีรสชาติอย่างไร
จะเห็นได้ว่า ชายคนนี้เขาจะคิดถึงผลประโยชน์ของชาวบ้านในชุมชนเป็นหลัก ตั้งแต่เริ่มเลือกสายพันธุ์ การลงมือปลูก จนเก็บผลผลิต และมาถึงขั้นตอนการคั่วกาแฟ คุณเคเลบจะทำให้ชาวบ้านเห็นก่อนว่าสิ่งที่ชาวบ้านมีนั้น สร้างมูลค่าได้และทำได้จริง
วันนี้กาแฟ Gem Forest Coffee ของหมู่บ้านมณีพฤกษ์ ได้รับการยอมรับว่าเป็น กาแฟที่ดีอันดับต้น ๆ ของไทย โดยได้รับรางวัลติด 1 ใน 3 การประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย คะแนนดีเทียบเท่ากาแฟชั้นนำของโลกเลยทีเดียว เป็นรางวัลที่ชุมชนชาวกาแฟบนดอยมณีพฤกษ์ของคุณเคเลบได้รับ คือมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้นกับสิ่งที่พวกเขามี เพราะโรงคั่วกาแฟ Gem Forest ของเขาสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชาวชุมชนของเขาอย่างยั่งยืน
อ่านบทความเพิ่มเติม : https://bangkokbanksme.com/en/23-10focus-gem-forest-coffee-thai-coffee-roaster-by-an-american
ฮิลล์คอฟฟ์ กาแฟไม่เน้นกำไร แต่เน้นสร้างเครือข่ายดูแลชุมชน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด เป็นอีกหนึ่งแบบอย่างของการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ โดย ฮิลล์คอฟฟ์(Hillkoff) เป็นแบรนด์กาแฟสัญชาติไทยที่ขอเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจเพื่อสังคม จนได้ รางวัล SME Thailand Inno Awards 2017 มาการันตีความเป็น Startup SME ที่สร้างมูลค่าและคุณค่าเพื่อสังคมควบคู่กันไปอย่างลงตัว
คุณนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัทฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด มองว่า การทำธุรกิจต้องพึ่งสังคม และสังคมก็ต้องพึ่งการทำธุรกิจเช่นกัน ดังนั้นถ้าการทำธุรกิจเน้นแต่จะกอบโกยผลกำไรอย่างเดียว คงจะไปได้ไม่ไกลในโลกธุรกิจยุคใหม่ อาจจะกอบโกยทำกำไรได้ช่วงหนึ่ง แต่พอถึงเวลาที่กระแสซบเซาทุกอย่างจะจบลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น คุณนฤมล จึงเริ่มวางแผนธุรกิจ และกำหนดเป้าหมายใหม่ โดยไม่มุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่แบ่งสัดส่วนผลกำไรของตนเองและสังคมให้สมดุลกัน มุ่งเป้าไปที่การจัดการแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมให้อยู่รอดไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือแนวคิดที่ ฮิลล์คอฟฟ์ ยึดถือมาตลอดในการทำธุรกิจกาแฟเพื่อสังคม โดยมีหัวใจหลัก 3 ข้อ ดังนี้
1.ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟตามระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่ง ฮิลล์คอฟฟ์ จะลงไปช่วยเรื่องทุนทรัพย์ในการทำระบบติดตามและควบคุมการเพาะปลูกกาแฟของเกษตรกร วิธีนี้จะช่วยควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้อย่างชัดเจนและได้ผล มั่นใจได้เลยว่าปลอดภัยไร้สารเคมีแน่นอน
2.มอบพันธุ์กาแฟพร้อมการถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะปลูก และการจัดการเมล็ดพันธุ์กาแฟให้เกษตรกรที่เข้ามาร่วมโครงการของบริษัท ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพสูงได้มาตรฐานอีกเช่นกัน
3.วางรูปแบบและกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบภายใต้แนวคิดทุกขั้นตอนต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดนี้ คือกระบวนการและขั้นตอนการทำธุรกิจของแบรนด์กาแฟ ฮิลล์คอฟฟ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทุกขั้นตอนของเขาไม่เน้นที่จะแสวงหากำไร แต่พยายามมุ่งเน้นไปที่ สังคม และชุมชน ที่จะช่วยให้ก้าวเดินไปพร้อมกับธุรกิจของเขาได้ ใครที่กำลังคิดจะเปิดร้านกาแฟ หรือคิดจะทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับกาแฟ แนวทางของ ฮิลล์คอฟฟ์ น่าจะนำไปเป็นไอเดียธุรกิจ หรือนำไปปรับใช้ได้เป็นอย่างดี
ธุรกิจต้นน้ำ ที่ ‘ปลอดการทำลายป่า’ กับ Sustainable Business Model
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ‘กาแฟ’ กำลังถูกกีดกันและถูกมองว่าเป็นพืชที่ทำลายป่า คุณนฤมล ตั้งคำถามพร้อมอธิบายว่า จากวันที่โรงงานของเราย้ายไปอยู่ที่อำเภอแม่แตง ในพื้นที่มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดที่อยากปลูกกาแฟ จึงปลูกโดยที่ไม่มีความรู้ เราจึงเข้าไปสอนเขา ในการพัฒนาธุรกิจต้องมีเป้าหมาย ฮิลล์คอฟฟ์ มีแนวคิดในการสร้างโมเดลธุรกิจแบบยั่งยืน (Sustainable Business Model) ซึ่งความยั่งยืนไม่ได้เกิดจากการเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรเท่านั้น แต่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปด้วย
ฮิลล์คอฟฟ์ จึงลงทุนกับงานวิจัยสูงมาก เพราะเราเน้นเรื่องธุรกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โรงงานเราเป็น Zero Waste 100% นอกจากนี้เราทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) โปรดักส์ มีโรงงานแบบ Deduction
สิ่งสำคัญ คือเราให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดคาร์บอนเครดิต อยากชวนทุกคนมาใส่ใจโลก ให้เขารู้ว่าคนตัวเล็กก็ทำได้ เราลดของเราไปเรื่อย ๆ เป้าหมายต่อไปที่อยากทำ คือเรามีโรงคั่วที่ถือว่ามีการคั่วเยอะที่สุดในภาคเหนือ จึงอยากเห็นการเชื่อมต่อธุรกิจเข้ากับเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่มีใครให้ความสำคัญมากนัก
อ่านบทความเพิ่มเติม : https://bangkokbanksme.com/en/23-6focus-green-business-hillcoff-coffee-roasting-plant
และทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของ ธุรกิจ SME ที่ใช้แนวทาง ESG มุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งตัวอย่างธุรกิจที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเรากำลังต้องการบางสิ่งบางอย่างที่มาช่วยประคับประคองให้ภาพรวมของสังคมดีขึ้นกว่าเดิม เรากำลังหวังว่า Startup หรือ SME รุ่นใหม่ จะสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง แต่จนแล้วจนรอด เรายังก้าวไปไม่พ้นรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ เสียที
แต่ในวันนี้ เรามีต้นแบบธุรกิจ SME ทั้ง 3 ท่าน ทำให้เห็นว่าเรื่องของธุรกิจส่วนตัว ไม่ได้ห่างไกลจากเรื่องของสังคม ถ้าคุณสนับสนุนสังคม สังคมก็จะสนับสนุนธุรกิจของคุณ พวกเขาจึงเป็น Startup ที่น่าสนใจและเป็นแบบให้กับธุรกิจยุคใหม่
กล่าวคือ เทรนด์ธุรกิจสมัยใหม่ ควรเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า “ธุรกิจเราจะให้อะไรกับสังคม” มากกว่า “ธุรกิจเราจะทำกำไรได้เท่าไหร่” สิ่งที่ตอบโจทย์ตลาด คือสิ่งเดียวกันกับที่ตอบโจทย์สังคม แค่เราต้องเปลี่ยนเป้าหมายจาก “ผลกำไร” ของตนเอง เป็น “ประโยชน์” เพื่อส่วนรวมเท่านั้น
มุมมองการมองตลาด จะลึกซึ้งขึ้น ทำให้ตีโจทย์ธุรกิจได้ละเอียดมากขึ้น มาถึงตรงนี้ ต้องถามตัวเองว่า “เราทำอะไรเพื่อสังคมบ้างหรือยัง” ถ้าคำตอบคือยัง ก็ได้เวลาแล้วที่จะลองหาไอเดียใหม่ ๆ ในการสร้างธุรกิจที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม มากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง เรื่องนี้จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจที่จะต้องก้าวไปข้างหน้า วันนี้เราต้องเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ให้ได้ เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ไม่ใช่แค่พูด แต่ทุกธุรกิจต้องทำ
อ้างอิง
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
https://dol.dip.go.th/en/category/2019-02-08-08-57-30/2019-03-15-10-58-56
https://www.blockdit.com/posts/60acf182063a1232ddc40638
https://www.facebook.com/GemforestCoffee/reviews
https://www.facebook.com/cocoavalleyresort/?locale=th_TH