จับกระแส Mega Trends ระดับโลก ในปี 2025 - 2030 มีอะไรน่าสนใจบ้าง
โลกธุรกิจในศตวรรษที่ 21 กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดย McKinsey Global Institute รายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ จะขับเคลื่อนด้วย “Mega Trends” หรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับมหภาคที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ด้วยเหตุนี้เอง ธุรกิจ ซึ่งเป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนทุกองคาพยพของโลก จึงต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับ Mega Trends ให้ได้
Mega Trends คืออะไร? พร้อมเผย 5 เทรนด์หลักในปี 2025
Mega Trends คือ พลังขับเคลื่อน หรือการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คน ธุรกิจ และอุตสาหกรรมในระยะยาว โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีผลต่อเนื่องกินเวลา 10 - 50 ปี ซึ่ง Mega Trends ที่มีความสำคัญในปี 2025 ประกอบด้วย 5 เทรนด์หลัก ๆ ได้แก่
Digital Transformation
การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เป็นมากกว่าแค่การนำเอาเทคโนโลยีพื้นฐานมาใช้ โดย IDC (International Data Corporation) ได้คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายทั่วโลกในเทคโนโลยีที่สนับสนุน AI จะสูงถึง 337 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 ทั้งยังได้เผยแพร่การคาดการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและ AI ในช่วงห้าปีข้างหน้า โดยเน้นถึงความสำคัญของ AI ในการขับเคลื่อนความสำเร็จของธุรกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น
การใช้ AI และ Machine Learning ในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและการตัดสินใจเชิงธุรกิจ
การพัฒนาระบบ Cloud Computing เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการทำงาน
การนำ IoT มาใช้ในการเก็บข้อมูลและบริหารจัดการทรัพยากร
Aging Society
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนประชากรสูงอายุมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลง ยืนยันได้จากเอกสารข้อมูลประชากรโลก ฉบับปี 2024 ที่เผยว่าปัจจุบัน โลกมีประชากรราว 8 พันล้านคน ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้เมื่อปีก่อน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่อไปนี้
แรงงานในตลาดลดลง และบริษัทต้องปรับตัวด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติหรือ AI เพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่หายไป
คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเกษียณช้ากว่าคนรุ่นก่อน เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและอายุขัยที่ยาวขึ้น ส่งผลให้ระบบบำนาญและกองทุนการออมต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายให้เหมาะสมกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป
อุตสาหกรรม Healthcare และ Senior Care เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความต้องการนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับการล้ม หุ่นยนต์ช่วยเหลือ ระบบสั่งการด้วยเสียง และอุปกรณ์สมาร์ตโฮมที่ใช้งานง่าย
Sustainability and Climate Change
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนกำลังกลายเป็นเทรนด์สำคัญที่กำหนดทิศทางของธุรกิจและการพัฒนาสังคมทั่วโลก ทั้งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้น และทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง ล้วนกำลังผลักดันให้ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อหลายด้าน เช่น
การกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ESG (Environmental, Social, and Governance) และกฎหมายควบคุมการปล่อยคาร์บอน
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่มีความยั่งยืน
การเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี Carbon Capture เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร
Health and Wellness
สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนได้หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจมากขึ้น ผลการวิจัยจาก Grand View Research จึงคาดการณ์ว่าตลาด Digital Health จะมีมูลค่าถึง 946.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 21.9% ระหว่างปี 2024 ถึง 2030 ในอุตสาหกรรมต่อไปนี้
ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม และโปรตีนจากพืช (Plant-based protein)
เทคโนโลยีด้านสุขภาพ เช่น Telemedicine, Wearable Devices และ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ
ฟิตเนสและกิจกรรมทางกาย เช่น การออกกำลังกายแบบเวอร์ชวล (Virtual Workout) และแอปพลิเคชันติดตามสุขภาพ
บริการด้านจิตวิทยาและแอปพลิเคชันช่วยฝึกสติ
Future of Work
ผลสำรวจจาก Gartner คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 พนักงาน 48% จะทำงานจากระยะไกล (Remote Work) เพิ่มขึ้นจาก 30% ก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้การทำงานจากระยะไกลเป็นไปได้มากขึ้น ความคาดหวังของพนักงานที่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน และการปรับตัวขององค์กรต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ Gartner ยังได้ระบุแนวโน้มสำคัญที่กำหนดอนาคตของการทำงานในปี 2025 ได้แก่
การเกษียณอายุของพนักงานที่มีประสบการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้เกิดช่องว่างความเชี่ยวชาญในองค์กร
การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
การใช้เครื่องมือ AI เพื่อปรับปรุงการสื่อสารและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
8 ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในปี 2025 - 2030 และการปรับตัวของธุรกิจทั่วโลก
หลังจากที่เราได้รู้จักกับ 5 Mega Trends หลักไปแล้ว มาดูกันว่าเทรนด์เหล่านั้นจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดขึ้นบ้างในช่วงปี 2025-2030 ซึ่งเป็นช่วงที่ Mega Trends จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในภาคธุรกิจทั่วโลก เราจะพาคุณไปวิเคราะห์ 8 เทรนด์ที่สำคัญ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ พร้อมข้อมูลเชิงลึกที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาในการวางกลยุทธ์ในอนาคต
การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Tackling Climate Change)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ จากรายงานของ McKinsey Global Institute ระบุว่า ตลาดเทคโนโลยีสีเขียวและโซลูชันคาร์บอนต่ำมีมูลค่าการลงทุนรวมมหาศาลถึง 9.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ไปจนถึงปี 2050 เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยการลงทุนส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ที่ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ตามด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานในภาคอุตสาหกรรมที่ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนอีก 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
นอกจากนี้ World Economic Forum ยังชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจที่ปรับตัวสู่โมเดล Circular Economy จะมีโอกาสทางธุรกิจใหม่มูลค่ามหาศาลถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 โดยจำเป็นต้องปรับตัวในหลายด้าน ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานแบบหมุนเวียน และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง IoT และ AI มาใช้ในการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
IKEA คือ หนึ่งตัวอย่างของธุรกิจที่กำลังปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์นี้ โดยการมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพภูมิอากาศภายในปี 2573 ผ่านการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน โครงการด้านป่าไม้ และพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้บรรลุพันธกิจนี้
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic shifts)
แม้ข้อมูลจากสำนักอ้างอิงประชากรจะชี้ให้เห็นว่า อัตราการเกิดทั่วโลกกำลังลดลง แต่ในอนาคตย่อมต้องมีประชากรผู้สูงอายุและเยาวชนจะเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ โดย UN World Population Prospects ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ภายในปี 2030 ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 6 ของประชากรโลก และในประเทศพัฒนาแล้ว อัตราการพึ่งพิงผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 35% ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ
ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะการปรับฟังก์ชันบางอย่างของสินค้าให้เข้ากับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุ หรือการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น การดูแลสุขภาพทางไกล การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากอาชีพมีการเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการมีรถยนต์ไร้คนขับใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ในชนบท
การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว (Rapid Urbanization)
ข้อมูลจาก สวทช. ยืนยันว่า ปัจจุบันประชากรกว่าครึ่งโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง และในปี 2030 แถบทวีปเอเชียและแอฟริกาจะมีการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรเมืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกราว 5,000 ล้านคน ข้อนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะการขยายตัวของเมืองอาจทำให้เกิดพื้นที่แออัดมากขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้คนในบางพื้นที่ลดน้อยลง อีกทั้งมลพิษต่าง ๆ ยังมีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาเหล่านี้คือการสร้างเมืองที่ขยายออกมาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อรองรับกับประชากรในปัจจุบัน ผ่านการใช้นวัตกรรมสมัยในและกลยุทธ์ที่สร้างสรรค์เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายนี้ไปได้
ดังนั้น สิ่งที่ธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ต้องปรับตัวก็คือ การวางกลยุทธ์กับการช่วยเพิ่มพื้นที่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การจัดการการขนส่งที่ไร้มลพิษ การมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับในเมือง
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ก้าวสู่ยุคแห่งพลังงานสะอาด (The Energy Transition)
International Energy Agency (IEA) รายงานว่า การลงทุนในพลังงานสะอาดทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่จะโลกจะเป็น 'Net Zero' ให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี แต่ยังมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ สังคม และการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คน การเร่งดำเนินการในทิศทางนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไม่อาจเลื่อนออกไปได้ โดยเฉพาะในแง่ของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดจะขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายขอบเขตไปถึงการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่งที่มีการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างมากมาย โดยเฉพาะในระบบการขนส่งที่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
การเติบโตของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 5.0 (Rise of Technology & Industry 5.0)
อุตสาหกรรม 5.0 กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการผลิต โดยการเปลี่ยนจากโมเดลการผลิตแบบจำนวนมาก (Mass Production) มาเป็นการผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคในรูปแบบที่เรียกว่า Mass Customization ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ปรับกระบวนการผลิตให้ยืดหยุ่นขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างความร่วมมือระหว่างเทคโนโลยีขั้นสูงและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยการนำ AI, IoT, และเทคโนโลยีเชิงลึกอื่น ๆ เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้ ที่สำคัญคือ ต้องเน้นที่การรักษาความปลอดภัยของคนงานและการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาอุตสาหกรรม 5.0 ยังหมายถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจให้ทันสมัย โดยองค์กรต่าง ๆ จะต้องมีการปรับตัวไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การนำเทคโนโลยี RFID มาช่วยบริหาร Supply Chain การเชื่อมต่อ IoT กับเครื่องจักรเพื่อประมวลผลการทำงานในไลน์ผลิต การใช้ AI หุ่นยนต์ ตลอดจนการคำนึงถึงเรื่องวัสดุที่ใช้ ให้สามารถย่อยสลายได้ง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสอดรับกับกระแสที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจ
การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก (Shift in Global Economic Power)
การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางประชากร รวมถึงอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ล้วนมีบทบาทสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจโลกมีลักษณะหลากหลายขั้วอำนาจมากยิ่งขึ้น กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) โดยเฉพาะกลุ่ม E7 ที่ประกอบด้วยประเทศจีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และตุรกี กำลังเติบโตและขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็ว โดยรายงานจาก PwC คาดการณ์ว่า ในปี 2050 เศรษฐกิจของกลุ่ม E7 จะมีสัดส่วนถึง 50% ของ GDP โลก ซึ่งจะทำให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (G7) ลดสัดส่วนลงเหลือประมาณ 20%
เพื่อให้สามารถปรับตัวและแข่งขันในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีอย่าง AI และ Big Data จะกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนากลยุทธ์และการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ประเทศต่าง ๆ สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและทำนายแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้ธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายย่อยสามารถปรับตัวและตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่คาดว่าจะมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของการเติบโตในการบริโภคทั่วโลกภายในทศวรรษหน้า โดย McKinsey Global Institute ประเมินว่า การบริโภคในภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์
วิวัฒนาการด้านสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกาย (Health and Wellness evolution)
ความก้าวหน้าด้านการดูแลสุขภาพช่วยให้สามารถปรับการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ส่งผลให้สุขภาพ ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลกดีขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ขับเคลื่อนโดยการพัฒนาด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ และการตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น โดยการให้ความสำคัญต่อสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกายนั้นยังงสะท้อนถึงความเข้าใจด้านสุขภาพด้านต่าง ๆ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต อารมณ์และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สิ่งที่ธุรกิจรายย่อยจะต้องปรับตัวก็คือ การผลิตสินค้าที่สอดรับกับกระแสด้านสุขภาพออกมาเพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย ตลอดจนเลือกใช้วัสดุหรือวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค
ความไม่มั่นคงทางสังคม (Social Instability)
ในอนาคต โลกอาจประสบกับปัญหาความผันผวนที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ การเมือง ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของอำนาจ โดยแนวโน้มเหล่านี้จะนำไปสู่ความยากลำบากและความไม่แน่นอนที่ธุรกิจ รัฐบาล และประชาชนต้องเผชิญในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่อาจคาดเดาได้
ดังนั้น จึงจำเป็นที่ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนกิจการไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น
บทสรุปของการเตรียมพร้อมและปรับตัวของธุรกิจ
การเข้าใจ Mega Trends ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถคาดการณ์และวางแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้
โดย Swiss Re Institute พบว่า 3 ปัจจัยที่จะทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดี (Organizational Resilience) และมีโอกาสอยู่รอดในภาวะวิกฤติสูงกว่าบริษัทอื่นๆถึง 5 เท่า ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการ 2) การสร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทาน และ 3). การลงทุนในเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยสร้างแต้มต่อในการแข่งขัน และเป็นอาวุธสำคัญที่จะช่วยให้องค์การยังสามาถเติบโต ยืนระยะได้ท่ามกลางความท้าทายรอบด้านได้อย่างยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง
ข้อมูลประชากรโลกปี 2567 ชี้อัตราการเจริญพันธุ์ลดลง ขณะที่ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น – เร่งลงทุนสุขภาพพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.sdgmove.com/2025/01/14/prb-world-population-data-sheet-2024/.
เมื่อการแก้วิกฤต Climat Change ต้องการความช่วยเหลือจาก Sustainable Finance. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.exim.go.th/eximinter/e-news/28337/1122_finance.html.
รายงาน McKinsey Global ชี้เอเชียพลิกรูปแบบการบริโภค ใส่ใจความยั่งยืน-Climate Change มากขึ้น. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://thaipublica.org/2021/06/asia-consumption-new-pattern-geared-by-sustainability.
Megatrends 2020 – 2030 สิ่งที่มีความหมายต่อคุณ ธุรกิจและการเติบโตของนวัตกรรม. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/megatrend-2020-2030/.
ศึกรัสเซียยูเครนอาจช่วยโลกได้ เพราะเร่งหลายประเทศลงทุนพลังงานสะอาด. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.amarintv.com/spotlight/sustainability/35332.
วันที่ 11 กรกฎาคม "วันประชากรโลก". สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/329384.
The four global trends. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.mckinsey.com/~/media/mckinsey/email/classics/2021/2021-05-15a.
IDC Unveils 2025 FutureScapes: Worldwide IT Industry Predictions. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.idc.com/getdoc.jsp?containerId=prUS52691924.
Digital Health Market Size To Reach $946.0 Billion By 2030. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.grandviewresearch.com/press-release/global-digital-health-market.
9 Future of Work Trends for 2025. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.gartner.com/en/articles/future-of-work-trends.
Making the $4.5 trillion circular economy opportunity a reality. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.weforum.org/impact/helping-the-circular-economy-become-a-reality/.
Ageing and health. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/ageing-and-health.
The Long View: How will the global economic order change by 2050?. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.pwc.com/gx/en/world-2050/assets/pwc-world-in-2050-summary-report-feb-2017.pdf.
Resilience or rebuild?. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.swissre.com/institute/research/topics-and-risk-dialogues/climate-and-natural-catastrophe-risk/climate-adaptation-resilience-or-rebuild.html.
Top 12 Global Megatrends [2025-2030]: The Forces Driving Tomorrow’s Business Decisions. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.startus-insights.com/innovators-guide/global-megatrends-full-guide/.