สมติฐานที่ว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robot) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมาแย่งงานมนุษย์
อาจไม่ใช่เรื่องที่คุยเล่นระหว่างวันอีกต่อไป จากข้อมูลระบุว่า ภายในช่วงต้นปี
2020 แรงงาน 3 เปอร์เซ็นต์จะเสี่ยงตกงาน เนื่องจากมีระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์หรือ
AI และจะเพิ่มขึ้นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปลายปี 2021 ดังนั้นจึงมีการประเมินว่า
ภายในปี 2030 แรงงาน 30
เปอร์เซ็นต์จะตกอยู่ในความเสี่ยงของการถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติและ AI
โลกอนาคตที่มีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ AI และคอมพิวเตอร์ควอนตัม ที่จะมากำหนดนิยามของคอมพิวเตอร์ใหม่อย่างสมบูรณ์ โดยมีพลังในการประมวลผลที่ทรงพลังกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันหลายล้านล้านเท่า ยุคนั้นเราต้องคุ้นเคยกับเครื่องมือ AI ในฐานะ “เพื่อนร่วมงาน” ตั้งแต่วิธีการคัดเลือกคน วิธีการเรียนรู้ และพัฒนาในงาน ไปจนถึงกิจกรรมการทำงานในชีวิตประจำวัน เทคโนโลยี AI และเครื่องจักรอัจฉริยะจะมีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้นในชีวิตการทำงานของคนทั่วไป
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
Elon Musk (CEO) Tesla, Spacex และ Neuralink เคยกล่าวว่า ในอนาคตจะมีงานที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์น้อยลงทุกที
ผมไม่ได้บอกว่าผมอยากเห็นสิ่งนี้ แต่นี่คือสิ่งที่เราจะได้เห็น
เขาเป็นห่วงว่าในอนาคตอันใกล้ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะทำงานแทนมนุษย์ จนทำให้เกิดการว่างงานมหาศาล
และสังคมมนุษย์คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหันไปพึ่งระบบ Universal Basic
Income หรือระบบประกันรายได้พื้นฐานให้กับทุกคนในสังคม
ด้วยเหตุนี้ แนวคิดการจัดเก็บภาษีหุ่นยนต์และ AI โดยมีนักกฎหมาย นักวิชาการต่างๆ
ที่ออกมาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่น่าพิจารณาว่าในอนาคต AI จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ โดยเสนอแนวคิดของการจัดเก็บภาษีหุ่นยนต์และ
AI ในยุคนี้อาจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีใหม่
เพื่อให้สอดคล้องกับการเสียไปของทรัพยากรของรัฐและการเกิดรายได้ใหม่ของบุคคลที่มีส่วนได้เสีย
โดยเริ่มจากการศึกษาการจัดเก็บภาษีตามสถานะบุคคลของ กฎหมายเพื่อทำการศึกษาแผนการจัดเก็บภาษี
AI
ทฤษฎีแนวคิดการจัดเก็บภาษี AI ของสหภาพยุโรป
ก่อนหน้านี้
รัฐสภายุโรปได้เสนอรายงานการศึกษาผลกระทบของสหภาพยุโรป เพื่อหาข้อยุติให้นิติบัญญัติออกกฎหมายและรวมถึงข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแพ่ง
ว่าด้วยวิทยาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่ทำโดยคณะกรรมการด้านกฎหมายการแก้ปัญหา ซึ่งยังไม่ได้อยู่ในความคิดริเริ่มทางกฎหมาย
แต่เป็นชุดของคำแนะนำที่กำหนดไว้สำหรับคณะกรรมาธิการยุโรป ขอให้ผู้บริหารร่างกรอบกฎหมายสำหรับการใช้หุ่นยนต์และ AI
โดยรัฐสภายุโรปเห็นว่าในขณะนี้มนุษยชาติอยู่ในยุคที่หุ่นยนต์มีบทบาทสำคัญ
และการเกิดขึ้นของ AI ที่ดูเหมือนจะมีผลกระทบปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่
ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้นอาจจะอยู่นอกเหนือความคาดหมายได้ ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่สมาชิกสภานิติบัญญัติจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบทางกฎหมาย
ทางจริยธรรม และป้องกันผลกระทบ โดยไม่มีการยับยั้งนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการในการเตรียมพร้อมรับมือ
ซึ่งการพัฒนาหุ่นยนต์และ AI อาจส่งผลให้ส่วนใหญ่ของงานที่ทำโดยมนุษย์ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของการจ้างงาน
ความเป็นไปได้ของสวัสดิการสังคม และระบบรักษาความปลอดภัย
ที่มีผลมาจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของวิทยาการหุ่นยนต์และเทคโนโลยี AI ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงคุณภาพชีวิตของประชากรมนุษย์ในยุคต่อไป
ยุคที่หุ่นยนต์และ AI มีบทบาทต่อกิจกรรมแทบทุกอย่างบนโลกนี้
ขณะที่การบริโภคซึ่งมนุษย์ยังคงมีความต้องการพื้นฐานอยู่ จะจัดการอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียม
เยียวยามนุษย์ที่ถูกเลิกจ้าง
แม้กระทั้งการเสนอแนวคิดการเก็บภาษีหุ่นยนต์และ
AI เพื่อนำรายได้ดังกล่าวไปส่งเสริมสวัสดิการมนุษย์
กล่าวง่ายๆ คือการให้เทคโนโลยีทำงานหาเลี้ยงประชากรโลกนั่นเอง โดยหุ่นยนต์ควรต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคม
และเสียภาษีเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ
Universal Basic Income หรือแนวคิดที่รัฐทำการจ่ายเงินให้กับประชาชนเป็นจำนวนเท่าๆ
กัน ทุกคนในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นคำตอบให้กับปัญหาการตกงานจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
โดยนำหุ่นยนต์ใช้แทนแรงงานมนุษย์ดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบทางสังคมจากการที่แรงงานคนถูกเลิกจ้าง
ขณะที่ประเด็นสำคัญของแนวคิดกฎหมายหุ่นยนต์และ
AI คือ กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่เพียงพอกับการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้หรือไม่
และการนำหุ่นยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน มีผลต่อมาตรฐาน คุณค่า
และรูปแบบการปฏิสัมพันธ์กันของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล รวมทั้งการถ่ายทอดแนวคิดการเรียนรู้หรือแนวคิดการปฏิบัติต่อกันเพียงใด
และในสหภาพยุโรปได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายด้านดังกล่าว โดยคำนึงถึงจริยธรรม
ความปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
อย่างไรก็ตามนอกจากเรื่อง Robot Autonomous system ยังมีข้อถกเถียงที่ไม่เป็นที่ยุติ
เช่น นิยามของคำว่าหุ่นยนต์อัจฉริยะ Smart Robot การจดทะเบียนหุ่นยนต์อัจฉริยะ
ประมวลผลจริยธรรมของวิศวกรรมหุ่นยนต์ และสถานะทางกฎหมายของหุ่นยนต์ ผลจากการพยายามหาทางออกในเรื่องดังกล่าว
กรรมการด้านกฎหมายแห่งรัฐสภาสหภาพยุโรป (European Parliament’s legal
affairs committee) ได้วางแนวทางในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของหุ่นยนต์
และ AI สำหรับประเทศสมาชิกว่าเป็นบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic
Person) นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางกฎหมายว่าด้วยหุ่นยนต์สำหรับประเทศสมาชิก
ดังนี้
1. หุ่นยนต์ทุกตัวควรมีปุ่มหยุดการทำงาน
(emergency switch/kill switch) เพราะ AI ถูกสร้างขึ้นให้มีความสามารถในการพัฒนาตนเองได้ และมีความฉลาดมากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์
และจะต้องไม่ผลิตหุ่นยนต์เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเอง
2. ห้ามมิให้กำหนดเรื่องความรู้สึกให้กับหุ่นยนต์
เนื่องจากหุ่นยนต์ที่ผลิตขึ้นไม่ควรมีความรู้สึกด้านอารมณ์ความรักได้เหมือนกับมนุษย์
3. ต้องมีการทำประกันสำหรับหุ่นยนต์ขนาดใหญ่
โดยผู้ที่มีอยู่ในบังคับจะต้องทำประกัน กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของหุ่นยนต์และบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์
ซึ่งบุคคลทั้งสองจะต้องรับผิดชอบกับทุกปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับกรณีชุดคำสั่งของหุ่นยนต์เกิดขัดข้อง
ในกรณียานยนต์ไร้คนขับก็ต้องถูกบังคับให้ต้องทำประกันด้วยเช่นกัน
4. ต้องจัดให้มีการกำหนดให้หุ่นยนต์มีสิทธิและหน้าที่บางประการเหมือนกับบุคคลทั่วไป
เนื่องจากได้การกำหนดสถานะทางกฎหมายเป็นบุคคลอิเล็กทรอนิกส์เอาไว้แล้ว
อย่างไรก็ตามนโยบายของแต่ละรัฐและการที่ระบบนี้จะเกิดขึ้นได้นั้น
หมายถึงการที่หุ่นยนต์เข้าไปทำงานพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นการจัดการปัจจัยสี่ให้ครบถ้วน การจัดการสาธารณูปโภคและอื่นๆ อีกมากมาย
จนมนุษย์เพียงแต่รอรับผลผลิตจากหุ่นยนต์ก็สามารถดำรงชีพได้แล้ว และรายได้ที่รัฐมอบให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า
เป็นเหมือนฐานโครงสร้างอันใหม่ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อไม่ให้ความเลื่อมล้ำเกิดขึ้น
ข้อมูลเหล่านี้แม้ส่วนใหญ่จะเป็นแนวคิด และการตั้งสมมติฐาน และเชื่อว่าในอีกไม่ช้าสังคมโลกจะตื่นตัวและผลักดันเรื่องภาษีหุ่นยนต์และ AI ที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้น แต่จะเป็นภาพเดียวกันภาพยนตร์เรื่อง ‘I Robot:พิฆาตแผนจักรกลเขมือบโลก’ ที่วันหนึ่งหุ่นยนต์และ AI เริ่มคิดเองได้และต่อต้านจนเป็นภัยกับมนุษย์ หรือไม่นั้น คงเป็นคำถามที่ยังยากที่จะตอบได้ในทุกวันนี้
สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<