มอบรางวัล 3 เกษตรกรยุคใหม่ ตัวอย่าง ‘เกษตรก้าวหน้า’ ใช้นวัตกรรม สร้าง Smart Farming สู่ความยั่งยืน ในยุคดิจิทัล

SME in Focus
16/01/2025
รับชมแล้วทั้งหมด 26 คน
มอบรางวัล 3 เกษตรกรยุคใหม่ ตัวอย่าง ‘เกษตรก้าวหน้า’ ใช้นวัตกรรม สร้าง Smart Farming สู่ความยั่งยืน ในยุคดิจิทัล
banner
ฤดูกาลแห่งการส่งต่อผลผลิตจากมือเกษตรกรหวนกลับมาอีกครั้ง กับงานใหญ่ส่งท้ายปี งาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2567” โดย ธนาคารกรุงเทพ เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรนวัตกรรม สินค้าชุมชน และสินค้าเกษตรปลอดภัยต่อสุขภาพ พร้อมมอบรางวัล “เกษตรก้าวหน้า พ.ศ.2567” แก่ 3 สุดยอดเกษตรกรดีเด่นประจำปี เพื่อย้ำจุดยืนในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” สนับสนุนเกษตรกรไทยยกระดับสู่ Smart Farming ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรม เข้าสู่โลกยุคดิจิทัลอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ที่ธนาคารจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 17 

โดยครั้งนี้จัดงานวันเกษตรก้าวหน้า 2567 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ภายใต้แนวคิด “80 ปี ธนาคารกรุงเทพ เพื่อนคู่คิด มิตรคู่เกษตรไทย” ในการผลักดันเกษตรกรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน 



เนื่องจากธนาคารตระหนักดีว่า ภาคการเกษตรเป็นรากฐานสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย และเป็นต้นน้ำสำคัญในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ดังนั้น การสนับสนุนเกษตรกรให้มีความรู้ด้านการผลิต และการจัดการความรู้อย่างถูกต้อง ไม่เพียงจะเกิดประโยชน์ต่อตัวเกษตรกร ให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังจะส่งผลดีต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ภาคการส่งออก ความปลอดภัยของผู้บริโภค ความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และยังมีส่วนรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

‘3 เกษตรกรดีเด่น’ เจ้าของรางวัล “เกษตรก้าวหน้า พ.ศ. 2567”

นอกจากการจำหน่ายสินค้าเกษตรจากผู้ผลิต 55 ร้านค้าส่งตรงถึงมือผู้บริโภคในราคาพิเศษและภายในงาน ยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ ได้แก่ พิธีมอบรางวัล “เกษตรก้าวหน้า พ.ศ. 2567” เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติให้กับผู้มีผลงานดีเด่น เป็นผู้มีความสามารถทางด้านการเกษตรในด้านต่าง ๆสะท้อนถึงแนวทางการสนับสนุนของธนาคาร เพื่อให้ภาคการเกษตรของไทยมีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล โดยที่ผู้ที่ได้รับรางวัลทั้ง 3 ประเภทในปีนี้ ประกอบด้วย 



รางวัลเกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดีเด่น 
ก้าวสู่ Smart Farm เพิ่มประสิทธิภาพด้วยดิจิทัลการเกษตร

คุณธนโชติ ศรีรินทร์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.ที.ฟาร์ม จำกัด อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าของธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อ ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อ เพื่อเปลี่ยนผ่านเป็น Smart Farming โดยเริ่มต้นจากการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศและนำมาพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ของตนเองได้สำเร็จ



“ผมภูมิใจกับรางวัลนี้มาก และต้องขอขอบคุณธนาคารกรุงเทพ ผมรู้สึกเป็นเกียรติมาก ๆ ในสิ่งที่เราทำ ต้องบอกว่าเราก็ทำผิดบ้าง ถูกบ้าง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เราได้สร้างโปรแกรมเลี้ยงไก่ นาน 6-7 ปี แต่ตอนนี้ต้องบอกเลยว่า เราสำเร็จมากกว่า 90% นอกจากนั้นแล้วความสำเร็จตรงนี้ เราพยายามต่อยอดในยุคดิจิทัล ยุค AI ซึ่งเราก็ได้นำ AI เข้ามา เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ข้อมูลที่เรามี ณ ตอนนี้ ทำให้เราเข้าใจไก่มากขึ้นเรื่อย ๆ และจะมากยิ่งขึ้นต่อไป” คุณธนโชติ กล่าว 



สำหรับบริษัท พี.ที.ฟาร์ม จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2538 ดำเนินธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ โดยคุณประทีป ศรีรินทร์ชัย ซึ่งเป็นบิดาของคุณธนโชติ โดยเริ่มเลี้ยงไก่แบบ Contact Farming หรือเกษตรพันธสัญญา ซึ่งเป็นรูปแบบการผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรรายย่อยทำสัญญาซื้อขายผลผลิตกับบริษัทขนาดใหญ่ โดยมีโรงเรือนแบบเปิด 3 โรงเรือนที่จุไก่ได้โรงเรือนละ 10,000 ตัว ก่อนที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทในยุคดิจิทัล หรือยุคเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) โดยใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูง ทำให้คุณธนโชติ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจากวิสัยทัศน์ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการฟาร์ม




ในปี 2560 คุณธนโชติ ได้ตัดสินใจนำซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง เข้ามาทดลองและปรับปรุงระบบเป็นเวลา 1 ปี และเริ่มทำระบบออโตเมชันอย่างจริงจัง หลังจากพบข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์ในช่วงแรก ก่อนจะเสริมด้วยการนำเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี IoT และเซนเซอร์เข้ามาช่วยควบคุมสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิของไก่ ทำให้ลดอัตราการตายของไก่ได้มากขึ้น และผลผลิตทำได้มากขึ้น 



จากนั้น บริษัทจึงพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ในรูปแบบ Digital Platform โดยที่ระบบสามารถแจ้งเตือนไปยังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ดูแลฟาร์ม เพื่อให้ตรวจสอบและควบคุมได้แบบเรียลไทม์ ผ่านแนวคิด Preventive Agriculture เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการจัดการที่ประสิทธิภาพสูงกว่า 90% โดยที่บริษัทมีแผนจะขยายตลาดไปยังภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ จากจุดเด่นของโซลูชั่นที่ครบวงจร ไม่ใช่เพียงแค่ฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ แต่ยังรวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้สามารถใช้งานระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ บริษัทยังตอบโจทย์ความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการดำเนินงาน โดยพัฒนาโครงการต่าง ๆ เช่น การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือใช้ในกระบวนการเลี้ยงไก่ การใช้ Solar Looftop เพื่อผลิตไฟฟ้าภายในฟาร์ม เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการเลี้ยงและดูแลสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ซึ่งทางบริษัทได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพของไก่และตั้งเป้าหมายลดอัตราการตายของไก่เพศเมียให้น้อยกว่า 2% และไก่เพศผู้น้อยกว่า 3% ต่อรอบการเลี้ยง 

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้วางแผนพัฒนาระบบ AI เพื่อตรวจจับพฤติกรรมไก่ และพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ภายใต้มาตรฐาน Biosecurity ระบบการจัดการและมาตรการทางกายภาพ เพื่อป้องกันควบคุมโรค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงให้ดียิ่งขึ้น และมีแผนสร้างระบบการจัดการที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว   

สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 



รางวัลผู้บริหารห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรดีเด่น
บริหารห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตร สร้าง Supply Chain เข้มแข็ง

คุณนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ผลิตเมล็ดกาแฟ จำหน่ายอุปกรณ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาแฟครบวงจร สร้างเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือได้กว่า 1,000 ราย ทำให้เกิดความสมดุลรวมทั้งในส่วนของธุรกิจ ผู้คน และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืน

“รางวัล Supply Chain หรือผู้บริหารห่วงโซ่ จริง ๆ แล้ว เราเริ่มสร้างขึ้นมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ จากจุดเริ่มต้นในวันที่จะนำกาแฟมาทดแทนพืชเสพติดแบบฝิ่น กาแฟถูกวางไว้ว่าจะเป็นอนาคต และเศรษฐกิจของพื้นที่สูง เป้าหมายของฮิลล์คอฟฟ์ เราจึงเดินหน้าเพื่อมองหาความยั่งยืน” 



“จากตรงนี้ทำให้เราคิดว่า เราทำแต่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ทำให้ฮิลล์คอฟฟ์ ได้ส่งต่อไปทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยมีแนวคิดว่า เราอยากจะให้พื้นที่เขามีมูลค่าเพิ่มขึ้น ใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าจริง ๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรามองหาจริง ๆ คือ คุณค่าของทรัพยากร นั่นจึงทำให้เราได้ทำงานวิจัยไปพร้อมกับการพัฒนาทางด้านธุรกิจด้วย เราเลือกที่จะทำงานที่ยาก แต่เรามั่นใจว่า เราจะสร้าง Supply Chain ที่ไม่ใช่เพียงต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แต่ว่าจะเป็นคุณค่าด้าน Supply Chain ที่จะส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานด้วย” คุณนฤมล กล่าว 



สำหรับบริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด ก่อนหน้านี้ได้ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ โดยมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ NGOs และองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงานในการพัฒนาพื้นที่สูง เพื่อส่งเสริมชาวไทยภูเขาปลูกกาแฟทดแทนพืชเสพติด เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและการตัดไม้ทำลายป่า โดยมีเป้าหมายการอยากเห็นคนบนดอยและคนบนพื้นที่ราบพึ่งพาอาศัยกัน โดยได้แจกกล้ากาแฟให้กับเกษตรกรต่อเนื่อง เพื่อขยายปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาด ภายใต้ชื่อ “โครงการเกษตรที่สูงชาวไทยภูเขาเพื่อความยั่งยืน” (Chao Thai Pu Kao Highland Agricultural Project for Sustainable Development) ก่อนจะเกิดเป็นการก่อตั้งโรงงานแปรรูปกาแฟอาราบิก้า ซึ่งเป็นเอกชนรายแรกของภาคเหนือ ภายใต้ชื่อร้าน “ชาวไทยภูเขา” 




กระทั่งยุคสมัยได้เปลี่ยนไป คุณนฤมล ทักษอุดม ที่เข้ามาต่อยอดธุรกิจตั้งแต่ปี 2545 ได้ปรับตัวมาตรฐานให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และได้ก่อตั้งบริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด ในปี 2556 โดยได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าสินค้า ขณะที่การบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตร บริษัทก็เข้ามาดูแลผลประโยชน์เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เติบโตไปอย่างยั่งยืน โดยที่ปัจจุบันนอกจากการเป็นผู้ผลิตกาแฟแล้ว บริษัทยังจำหน่ายอุปกรณ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาแฟแบบครบวงจร ตามหลักโมเดล 3 P ประกอบด้วย ผลกำไร (Profit) ผู้คน (People) และโลก (People) เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มกันเป็น Supply Chain และให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น ทั้งปัจจัยด้านการซื้อ และการขายผลผลิต

สืบเนื่องมาจากการที่คุณนฤมล ได้เล็งเห็นความสำคัญในหลายด้าน ทำให้บริษัทได้ตั้งเป้าหมายเพื่อไปสู่ความยั่งยืน โดยเริ่มต้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย การส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อให้ชาวเขานำไปปลูกสร้างรายได้และมีอาชีพที่ยั่งยืน ขณะที่บริษัทก็เข้ามาช่วยบริหารจัดการ วางแผนการผลิต เพื่อคอยควบคุมคุณภาพด้วยเครื่องมือตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน GAP, Thai Organic และ SDGsPGS Organic โดยทำงานร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชน 20 กลุ่ม และมีเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 600 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 2,000 - 3,000 ไร่ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ตาก และน่าน รวมถึงยังมีโครงการที่ทำร่วมกับกลุ่มส่งเสริมการเพาะปลูกผ่านสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ในการปรับเปลี่ยนการปลูกของเกษตรกรไปสู่ระบบอินทรีย์ที่ได้รับรองจากกรมวิชาการเกษตร โดยที่บริษัทมีนโยบายรับซื้อผลผลิตทุกเมล็ดกาแฟ ทุกเกรดคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร ก่อนจะนำไปจัดการสินค้าแต่ละเกรดให้เหมาะกับตลาด 



ด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทยังมีแนวคิดการสร้างธุรกิจแบบยั่งยืน โดยการนำผลผลิตทางการเกษตรในเครือข่ายมาบริหารจัดการให้สามารถใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Zero Waste) โดยได้ทำการทดลองทางคลินิกที่สามารถลดความเสี่ยงต่อโรค NCDs และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 50% เช่น Coffogenic Drink ซึ่งเป็นการแปรรูปเป็นเครื่องดื่มจากผลกาแฟเชอร์รี่สกัดเข้มข้น หรือ KOFF-CPS (Coffee Pulp Stimulator) ผลิตภัณฑ์ Up-Cycling ที่ใช้ในกระบวนการการนำวัสดุที่จะถูกทิ้งเป็นขยะกลับเข้าสู่วงจรอีกครั้ง เพื่อลดการใช้ปุ๋ยยูเรียอันเป็นสาเหตุของก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากในการทำเกษตร ซึ่งนอกจากจะช่วยสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนจากปุ๋ยเคมีกว่า 90% และเพิ่มผลผลิตต่อไร่กว่า 30% 



นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งพันธกิจในการร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. รักษาป่าต้นน้ำ ส่งเสริมเกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกกาแฟอินทรีย์ เพื่อพลิกฟื้นป่าเสื่อมโทรม ส่งเสริมการปลูกกาแฟทดแทนการปลูกไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุของการเผาและทำให้เกิดมลพิษจาก PM 2.5 พร้อมกับเข้าร่วมกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทยในการรับรองคาร์บอนเครดิต และเริ่มลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน    

สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 



รางวัลเกษตรกรรุ่นใหม่ดีเด่น 
คนรุ่นใหม่ ใฝ่รู้ก้าวตามเทรนด์โลก สู่ฟาร์มไข่ไก่ออร์แกนิก

คุณสุจิต จิตทิชานนท์ กรรมการ บริษัท เนวิลล์ ฟู้ด เซอร์วิส จำกัด อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ทำฟาร์มไก่ไข่ออร์แกนิกแบบใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ลดต้นทุนการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพและดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนโดยรอบอย่างมีประสิทธิภาพ



“ขอบคุณธนาคารกรุงเทพที่มองเห็นศักยภาพของทางบริษัท เราพยายามมองเทรนด์ และกระโดดเข้าหาโอกาสต่าง ๆ ทั้งเทรนด์ในประเทศ หรือเทรนด์ของโลก เพื่อเอามาประยุกต์ใช้ และคาดการณ์อนาคตว่า เราจะทำตลาดไปทางไหน ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่า บริษัทของผมเป็นบริษัท Future food protein ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของการเลี้ยงไก่ไข่ หรือแมลงเพราะนอกจากเรื่องคุณภาพสินค้าที่ต้องดีต่อสุขภาพแล้ว ทุกวันนี้ต้องดูไปถึง สวัสดิภาพของสัตว์ (Animal Welfare)” 



“นอกจากนี้ การควบคุมต้นทุน โดยได้พยายามปรับมาใช้พลังงานสะอาด เรื่องสิ่งแวดล้อม การทำ Zero Waste เช่น รับขยะอาหารสดจากตลาดในชุมชนใกล้เคียงมาใช้เป็นอาหารสำหรับหนอนแมลงวันลาย รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่นำมูลไก่ของฟาร์มไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ เป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดัน เพื่อการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจและชุมชนในระยะยาว” คุณสุจิต กล่าว 




สำหรับบริษัท เนวิลล์ ฟู้ด เซอร์วิส จำกัด นับเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 โดยคุณสุจิต จิตทิชานนท์ ที่จบการศึกษาคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับหุ้นส่วน คุณระติพรรณ ตรีวนิชย์กุล ดำเนินธุรกิจหลักคือ ฟาร์มไข่ไก่ออร์แกนิก ฟาร์มจิ้งหรีด และฟาร์มหนอนแมลงวันลาย ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการที่สถานการณ์ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายคนมองหาวิธีดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการมีประสบการณ์การเป็นเซลล์ และที่ปรึกษาให้กับฟาร์มปศุสัตว์ 2 ปี ทำให้บริษัทได้ถือกำเนิดขึ้น 



จากจุดเริ่มต้นที่บริษัท เนวิลล์ ฟู้ด เซอร์วิส จำกัด ได้ก่อตั้ง คุณสุจิตได้ทำการศึกษาเทรนด์ต่าง ๆ ทั้งไลฟ์สไตล์ ความสนใจด้านสุขภาพ รวมถึงด้านการเกษตร ก่อนจะพัฒนาฟาร์มไข่ไก่ออร์แกนิก ที่ได้การรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ โดยวางแนวคิดตั้งการเลี้ยงไก่ของฟาร์มที่เป็นลักษณะ Free-Range คือ การให้อิสระแม่ไก่ออกไปนอกโรงเรือนได้เพื่อรับแสงแดดอ่อน ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใส่ใจในสวัสดิภาพของสัตว์ (Animal Welfare) ตามหลักมาตรฐานประเทศในแถบยุโรป โดยที่จะมีช่วงเวลาเช้า 05.30 - 09.00 น. และช่วงเย็น 17.00 - 18.00 น. เพื่อทำให้แม่ไก่อารมณ์ดี ไม่เครียด และป้องกันการเกิดฮีทสโตรก เนื่องจากการทำฟาร์มไข่ไก่ออร์แกนิก จำเป็นต้องมีทั้งสถานที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้วย ซึ่งจะใช้พื้นที่มากกว่าฟาร์มไก่ทั่วไปหลายเท่า โดย 1 ตารางเมตรในโรงเรือนจะเลี้ยงไก่ได้ 4-5 ตัว 

ขณะเดียวกัน บริษัทยังวางแผนพัฒนาธุรกิจ โดยมุ่งพัฒนา “อาหารเทรนด์แห่งอนาคต” คือ โปรตีนจากแมลง โดยการทำฟาร์มจิ้งหรีด เนื่องจากคุณสุจิตมองว่า อนาคตโปรตีนจากจิ้งหรีดจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น และโปรตีนจากแมลงจะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ได้ถึง 50 % ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมอาหารโดยไม่ต้องรับประทานเนื้อสัตว์ ขณะที่การผลิตจิ้งหรีดมีการใช้ทรัพยากรการเลี้ยงค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบจากการผลิตโปรตีนจากปศุสัตว์อื่น เมื่อเทียบจำนวนโปรตีนเท่ากันถึง 30-40 เท่า เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน (Sustainability)

ด้านการพัฒนา “หนอนแมลงวันลาย” (Black Soldier Fly) เพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันได้นำมาเป็นอาหารสัตว์ในฟาร์ม และได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมการเกษตรปัจจุบัน ก็ถูกควบคุมด้วยคุณภาพ โดยนำแมลงวันลายระยะที่ยังเป็นตัวหนอนมาผ่านกระบวนการปลอดเชื้อ ทำให้แห้งและนำมาป่นเป็นอาหารสัตว์ เพื่อทดแทนการใช้ถั่วเหลืองได้หลายตัน โดยที่หนอนแมลงวันลายมีโปรตีนมากกว่า 40% ไขมัน 35% และให้พลังงาน 2,900 แคลอรี/กิโลกรัม พร้อมด้วยโอเมก้า 3, 6 และ 9 รวมถึงกรดลอริกที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ ขณะที่หนอนแมลงวันลายก็ไม่เป็นพาหะนำโรคกับมนุษย์ ไม่ใช่ศัตรูพืช และสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ คุณสุจิตยังให้ความสำคัญกับเรื่องของผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและสังคม ด้วยการสนับสนุนชุมชนด้วยการนำขยะสดจากตลาดมาช่วยกำจัด เพื่อมาใช้เป็นอาหารสำหรับหนอนแมลงวันลาย และส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนใกล้เคียงมาเลี้ยงหนอนแมลงวันลายมากขึ้น โดยเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงและรับซื้อผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่นำมูลไก่ไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์อีกด้วย 

สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

ด้วยแนวคิดและวิธีการดำเนินงาน โครงการเกษตรก้าวหน้า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” จึงเห็นสมควรมอบรางวัลเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2567 ให้กับเกษตรกรทั้ง 3 ราย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผู้บริหารห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตร และเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีผลงานดีเด่นเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้มีพลังใจในการสร้างสรรค์ และพัฒนาผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเป็นตัวอย่างให้เกษตรกร และผู้ประกอบการเกษตรรายอื่นสามารถนำแนวคิดและวิธีการไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติได้

รับชมงาน วันเกษตรก้าวหน้า 2567 ครั้งที่ 17 ฉบับเต็มได้ที่ 

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

ขับเคลื่อนเกษตรกรไทยด้วยแนวทาง 2 Q เปิดสวิตช์ติดเครื่อง ฟื้นคืนวัฏจักร ผลักดันสู่อาเซียน

แม้ในปัจจุบัน มนุษย์จะมีองค์ความรู้มากขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแทบทุกวงการ มนุษย์ก็ต้องการเครื่องทุ่นแรง เพื่อมาช่วยเหลือในเรื่องต่าง…
pin
2 | 05/02/2025
ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

ราชินีแห่งดอนตูม รวมกลุ่มเกษตรกร ส่งต่อมะเขือเทศผ่านแนวคิดพอเพียง

เสิร์ฟสานความสดใหม่ ร่วมมือร่วมใจเกษตรกรแข็งขัน องค์ความรู้เก่า แนวคิดใหม่ ส่ง “มะเขือเทศราชินี” สู่การแข่งขันจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง…
pin
5 | 04/02/2025
“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

“น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก สร้างความยั่งยืนธุรกิจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด ESG

เจาะกลยุทธ์ “น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ” สร้างความยั่งยืนธุรกิจ ด้วยแนวคิด ESG เติบโตเคียงคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม สู่แบรนด์ระดับโลกช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา…
pin
8 | 21/01/2025
มอบรางวัล 3 เกษตรกรยุคใหม่ ตัวอย่าง ‘เกษตรก้าวหน้า’ ใช้นวัตกรรม สร้าง Smart Farming สู่ความยั่งยืน ในยุคดิจิทัล