“เทรดดิ้ง เอพลัส” ชูจุดแข็งเครื่องดื่มที่มีเนื้อเคี้ยวได้ ส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ พายอดขายพุ่งทะลุ 50 ล้านบาท
ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มของไทยมีตัวเลือกให้กับผู้บริโภคมากมาย อาทิ เครื่องดื่มชูกำลัง ชาเขียว น้ำอัดลม น้ำแร่ เครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริ้งก์ โดยบริษัท American International Foods ได้คาดการณ์ไว้ว่า แนวโน้มของเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริ้งก์ในอเมริกาเหนือจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า (อ้างอิง: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) ซึ่งถือเป็นอีก 1 โอกาสของผู้ประกอบการ SME ที่น่าจับตามอง
เมื่อตลาดเครื่องดื่มไทยเป็นที่น่าสนใจไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ ทำให้ “คุณภูริตา อัคฆกาญจนสุภา” มองเห็นลู่ทางในธุรกิจ Food and Beverage ที่มีแนวโน้มสดใส จึงตัดสินใจตั้ง “บริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด” เพื่อทำสายงานส่งออกที่เธอถนัด ควบคู่ไปกับการสานต่อธุรกิจครอบครัว เส้นทางธุรกิจของนักธุรกิจสาวคนนี้ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย แต่สุดท้ายเธอฝ่าฟันจนผ่านทุกอย่างไปได้และสามารถส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้สำเร็จดังที่ตั้งใจ
จุดที่ตัดสินใจสานต่อทั้งธุรกิจครอบครัว และความถนัดเฉพาะตัว
หลังเรียนจบ คุณภูริตามีโอกาสทำงานด้าน Food and Beverage โดยเน้นงานด้านการส่งออก กับบริษัทเอกชน 2-3 แห่ง กระทั่งปี 2555 ที่เธอตัดสินใจกลับไปช่วยสานต่อธุรกิจของครอบครัว พร้อมก่อตั้ง บริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด ขึ้นอีกหนึ่งบริษัท เพื่อรองรับธุรกิจส่วนตัวตามความถนัดของตนเอง
แน่นอนว่าการบริหารทั้ง 2 ธุรกิจพร้อมกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ธุรกิจกงสีก็ต้องดูแล สิ่งที่ตนชอบก็อยากทำ แต่ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยสักหน่อย คุณภูริตามองว่ามันคุ้มที่จะลองเสี่ยง เมื่อเทียบกับโอกาสทางการค้าที่เธอมองเห็น
“คำว่า ‘เทรดดิ้ง’ ในชื่อบริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด มีที่มาจากการเดินสายธุรกิจส่งออกมาตลอด หลังเรียนจบจากธรรมศาสตร์ และทำงานในสายงานนี้ ประกอบกับตอนนั้นมีเพื่อนชาวต่างชาติ 2 คน สนใจจะร่วมหุ้นด้วย พี่จึงก่อตั้งบริษัทนี้เพื่อทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป แต่ขายเพื่อการส่งออกเท่านั้น ทำอยู่ประมาณ 2 ปี จนกระทั่งทั้ง 2 คนกลับประเทศไป พี่จึงเอาบริษัทนี้มาทำอะไรเป็นของตัวเองเต็มตัวค่ะ” คุณภูริตาอธิบาย
จาก “ซื้อมาขายไป” สู่การ “ตั้งโรงงานของตัวเอง”
การบริหารบริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด เพียงลำพัง ไม่ได้ทำให้คุณภูริตารู้สึกหวาดกลัวแต่อย่างใด ถึงจะมีภาระที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น แต่ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเอง ตามรอยคุณพ่อที่ทำแบรนด์ของตัวเองในธุรกิจกงสีสำเร็จอีกด้วย ทำให้ในช่วงปี 2556-2557 เธอมีความคิดที่จะทำแบรนด์ Food and Beverage สำหรับส่งออกเหมือนเดิม แต่ใช้วิธีจ้าง Supplier ผลิตแทนในช่วงแรกไปก่อน เพราะรู้ดีว่าตัวเองไม่เชี่ยวชาญในสายงานการผลิต
แต่เหมือนเส้นทางการสร้างแบรนด์จะไม่ราบรื่นดั่งที่คิด เพราะการจ้างผลิตต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการบางอย่าง ทำให้ขาดความคล่องตัว กระทบต่อการดำเนินงาน แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีอยู่บ้าง เพราะตอนนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่คุณภูริตาเริ่มผันตัวมาทำธุรกิจเครื่องดื่มอย่างเต็มตัว ซึ่งปรากฏว่าสินค้าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สามารถขายหมดได้ภายในระยะเวลารวดเร็ว ทั้งนี้ เป็นเพราะความสามารถในการเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง โดยอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการทำงานด้านการตลาดเมื่อสมัยยังทำงานประจำนั่นเอง
นอกจากนี้ลูกค้ายังสนับสนุนให้คุณภูริตาสร้างโรงงานของตัวเอง และยืนยันที่จะซื้อสินค้าจากบริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด ต่อไป เพราะความไว้วางใจ บวกกับประเด็นที่เครื่องดื่มเป็นสินค้าอิงตามฤดูกาล เมื่อฤดูร้อนมาถึง โรงงานรับจ้างผลิต มักจะทุ่มแรงไปกับการผลิตให้รายใหญ่ก่อน ทำให้หลายครั้งโรงงานของเธอต้องรอของ จนเสี่ยงที่จะเลยฤดูกาลขาย เหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้คุณภูริตาตัดสินใจลงเสาเข็มตั้งโรงงานของตัวเองในปี 2559
ในตอนแรก คุณภูริตาคิดว่าการตั้งโรงงานมันไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่กลับพบว่ามีรายละเอียดมากมายที่ต้องศึกษา ทั้งเรื่องทางวิศวกรรม การผลิต การขึ้นทะเบียน และการขอรับรอง ทำให้รู้ว่ามีอะไรที่เราต้องเรียนรู้มากกว่าที่คิด รวมถึงรอยต่อระหว่างปี 2560-2561 ที่โรงงานเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน และยังไม่เชี่ยวชาญด้านการผลิตเหมือนในปัจจุบัน จึงทำให้มีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเกิดขึ้นระหว่างการผลิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราไม่อยากขายสินค้าเหล่านั้นให้ลูกค้า จึงส่งผลให้ยอดขายชะลอตัวไปช่วงเวลาหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวทำให้เราต้องลองผิดลองถูกเพื่อผลิตสินค้าตัวอย่างอยู่นานนับปี จนสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้สำเร็จ เป็นไปตามมาตรฐานสากล เมื่อปี 2562
โควิดมาก็ไม่กลัว เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจ
คุณภูริตาเผยว่ากังวลมาก ๆ ว่าจะต้องปิดโรงงาน เพราะปี 2562 บริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด กำลังคุมคุณภาพของสินค้าได้คงที่ ต้องมาสะดุดเพราะสถานการณ์โควิด แต่ด้วยความที่เธอไม่เคยหยุดพัฒนาสินค้า บุคลากรก็พยายามพัฒนาฝีมือทุกวัน อยู่ดี ๆ รังนกเพื่อสุขภาพกลับได้รับความนิยมมาก ๆ ในช่วงโควิด เพราะมีผู้บริโภคจำนวนมากเชื่อว่าการรับประทานรังนกช่วยทำให้อาการโควิดดีขึ้นได้
“นอกจากนี้ ธนาคารต่าง ๆ รวมถึงธนาคารกรุงเทพฯ เอง ยังมีมาตรการช่วย SME มากมาย เราจึงสามารถผ่านโควิดมาได้ในระดับที่เกินความคาดหมาย พอผ่านวิกฤตมามากมายขนาดนั้น ทั้งตอนที่สินค้าเสียหาย ไม่มีความรู้ จนมาถึงช่วงโควิด พี่รู้สึกว่าเราแข็งแรงขึ้นมาก” คุณภูริตาเล่าด้วยรอยยิ้ม
ค้นพบจุดแข็ง จนทำยอดขายทะลุเพดานได้สำเร็จ
ต่อมาคุณภูริตาค้นพบว่าอะไรคือทางที่เหมาะกับธุรกิจของเธอ และใครคือกลุ่มเป้าหมายของสินค้าเหล่านั้น เธอได้ไอเดียในการทำเครื่องดื่มที่มีเนื้อเคี้ยวได้ โดยใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรไทยเป็นหลัก อาทิ น้ำเม็ดแมงลัก ผลผลิตจากเกษตรกรภาคเหนือ น้ำว่านหางจระเข้ จากฟาร์มของเกษตรกรแถบภาคตะวันออกและภาคตะวันตก
ภาพรวมของบริษัท ณ ปัจจุบันคือการผลิตสินค้าประเภท Non-Alcoholic โดยแบ่งไลน์สินค้าออกเป็น 2 สาย สายแรกคือกลุ่มน้ำหวาน ที่มีเนื้อผักและผลไม้ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับปานกลาง ส่วนอีกสายคือกลุ่มสุขภาพ มีเครื่องดื่มรังนกเพื่อสุขภาพ ซึ่งบริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด มีแผนว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะขยายสินค้าเพิ่มอีก 2 รายการในกลุ่มสุขภาพ และมีตลาดเป้าหมายที่เป็น High-Season อีกด้วย
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า เทรนด์เครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริ้งก์ กำลังมาแรงในฝั่งอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็น 1 ในประเภทของเครื่องดื่ม Non-Alcoholic ที่น่าจับตามอง โดยในปี 2565 ขนาดตลาดเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ มีมูลค่า 149,620 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตจาก 161,310 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เป็น 225,620 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.91 ในระหว่างปี 2565–2573 (อ้างอิง: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ)
ซึ่งคุณภูริตาได้นำพาบริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด ผ่านพ้นวิกฤตโควิดมาได้อย่างงดงาม ด้วยฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง สามารถทำยอดขายสูงถึง 50 ล้านบาทในปี 2567 นับเป็นการเติบโตอย่างพุ่งทะยานเมื่อเทียบกับยอดขาย 7-8 ล้านบาทในช่วงก่อนโควิดที่ผ่านมา
“ความจริงใจ” กุญแจสำคัญที่ช่วยสร้างสายใยกับลูกค้า
หลายคนอาจจะคิดว่าประสบการณ์การเป็น “นักขาย” ที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง และโอกาสทางการค้าจากช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้บริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ได้ แต่สำหรับคุณภูริตา ทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้มีความหมายเท่ากุญแจสำคัญดอกเดียว ซึ่งนั่นก็คือ “ความจริงใจ”
คุณภูริตามองว่า ความตรงไปตรงมาคือสิ่งที่สำคัญที่สุด อะไรที่บริษัททำได้ ก็บอกว่าทำได้ ส่วนอะไรที่ทำไม่ได้ ก็บอกกับลูกค้าไปตรง ๆ เพราะถึงแม้จะได้เปรียบผู้ส่งออกรายอื่นในแง่ของประสบการณ์ แต่ถ้าไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้า ทุกอย่างก็สูญเปล่า สิ่งที่ทำไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร
“ทำงานกับลูกค้า ไม่ใช่แค่สร้างตัวตนให้เชื่อใจ
แต่เราต้องจริงใจกับพวกเขาจริง ๆ ด้วย”
ความสำเร็จของบริษัท เทรดดิ้ง เอพลัส จำกัด เกิดขึ้นได้จากการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเจอกับอุปสรรคก็ไม่ย่อท้อ เมื่อมองเห็นโอกาสก็รีบคว้าเอาไว้และต่อยอดให้กลายเป็นจุดแข็งของโรงงาน เป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ กล่าวคือ ยิ่งปรับตัวได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะมองเห็นลู่ทางไปสู่ความสำเร็จชัดขึ้นเท่านั้น ถือเป็นตัวอย่างของธุรกิจ SME ที่กล้าตัดสินใจและเข้าใจความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี