32 BUG FARM นวัตกรรมฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง โปรตีนทางเลือกจากแมลงสู่จุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมอาหาร

SME in Focus
02/05/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 3449 คน
32 BUG FARM นวัตกรรมฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง โปรตีนทางเลือกจากแมลงสู่จุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมอาหาร
banner
แมลงจัดเป็นอาหารพื้นบ้านตามนิยามในสหภาพยุโรป (EU) ปัจจุบันสิ่งนี้ถือเป็น ‘อาหารใหม่’ (Novel Food) ด้านองค์การอนามัยโลก ระบุว่า แมลงกินได้เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า กว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลกเคยรับประทานแมลง หรือเคยนำมาประกอบอาหาร

และทั่วโลกมีแมลงกว่า 1,900 สายพันธุ์ที่รับประทานได้ อีกทั้งระบุว่าแมลงจะเป็นความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติในอนาคต (Future Food) ที่มีความยั่งยืน เพียงพอต่อจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าปศุสัตว์ 



เหตุนี้ ตลาดแมลงจึงน่าจับตา ข้อมูลบริษัท Research and Markets ระบุว่า ตลาดแมลงกินได้ทั่วโลกปี 2561-2566 มีอัตราการเติบโตระหว่างประมาณ 23.8% และคาดว่าในปี 2566 ตลาดจะมีขนาด 37,900 ล้านบาท โดยตลาดเอเชียมีสัดส่วนถึง 30-40%  รองลงมาคือในยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ตาม กระแสการกินแมลงในปัจจุบัน ยังไม่นิยมนำมาเป็นเมนูหลัก สาเหตุทั้งจากความเคยชิน ปริมาณที่ยังไม่เพียงพอ ความสะอาดและปลอดภัยจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น การพัฒนาที่ต้นน้ำหรือฟาร์มที่เป็นแหล่งกำเนิดวัตถุดิบจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหาร (Shift Food Industry)



‘จิ้งหรีด’ แมลงกินได้มากคุณประโยชน์



คุณบัญชร นามธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัทสามสิบสอง อินโนเวท จำกัด (32 BUG FARM) ธุรกิจฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง นวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยระบบให้อาหารและน้ำอัตโนมัติที่มีความสะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องแมลงที่เป็นอาหาร และจิ้งหรีดซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์

โดยจิ้งหรีดสด 100 กรัม มีโปรตีน 17 เปอร์เซ็นต์ และมีวิตามิน แร่ธาตุ ไขมันไม่อิ่มตัว กรดไลโนเลอิก กรดโอเลอิก กรดอะมิโน แมกนีเซียม วิตามินบี 12 โอเมก้า-3 เส้นใยโปรไบโอติก และเส้นใยอาหารที่เรียกว่าไคติน จิ้งหรีดจึงเป็นโปรตีนทางเลือกที่มากคุณประโยชน์และมีมิติด้านความยั่งยืนของอาหารในอนาคต  

ฟาร์มเราผลิตจิ้งหรีดได้ 2 ตันต่อเดือน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะผู้เลี้ยง
จิ้งหรีดลดลง จากปัญหาต้นทุนค่าอาหารแมลงสูงขึ้น จึงทำให้ทิศทางตลาดในตอนนี้มีกระแสตอบรับดีมาก

กระนั้น การพัฒนารูปแบบการเลี้ยงจิ้งหรีดสมัยใหม่เพื่อนำมาเป็นอาหารมนุษย์ ทุกกระบวนการจะต้องใส่ใจด้านความสะอาด มีมาตรฐานความปลอดภัย และปลอดการปนเปื้อน ทั้งยังสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิต จึงได้มีการศึกษาและวิจัยเพื่อนำองค์ความรู้มาต่อยอดเป็นตู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่มีการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการให้อาหารและน้ำแบบอัตโนมัติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้ Productivity และลดต้นทุนการใช้แรงงานคน



ฟาร์มแนวตั้ง สะอาด ปลอดภัย ให้ผลผลิตสูง

คุณบัญชร เผยแนวคิดธุรกิจว่า หากสามารถทำให้การเลี้ยงจิ้งหรีดสะอาด ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย รวมถึงมีการตรวจสอบย้อนกลับได้ ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ที่นิยมรับประทานแมลง และจิ้งหรีดเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจ เป็นแหล่งอาหารที่ดี มีคุณประโยชน์จากโปรตีนในต้นทุนที่ใกล้เคียงกับเนื้อไก่ จึงนำแนวคิดธุรกิจนี้มาต่อยอดเป็น ‘32 BUG FARM’ หรือฟาร์มจิ้งหรีดที่เลี้ยงในแนวตั้งบนพื้นที่เฉพาะโรงเรือนเพียง 100 ตารางวา 



โดยนำโปรแกรม PLC มาควบคุมการให้อาหารและน้ำแก่จิ้งหรีดอย่างเหมาะสมตามความต้องการของแต่ละช่วงวัย สามารถบันทึกอายุของจิ้งหรีดเพื่อปรับเปลี่ยนการให้อาหารและน้ำอย่างเหมาะสม และมีระบบแจ้งเตือนตั้งแต่วันแรกไปจนถึงช่วงโตเต็มวัยพร้อมจับขาย ระบบอัตโนมัตินี้ทำให้ลดการใช้แรงงานคนและสามารถกระจายงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งมีความสะอาด ปลอดภัย และสะดวกในการบริหารจัดการฟาร์ม 

ทั้งนี้ผลผลิตจิ้งหรีดในฟาร์มสามารถจับได้ในช่วง 35 - 38 วัน ส่วน ‘สะดิ้ง’ หรือเรียกอีกชื่อว่า ‘จิ้งหรีดขาว’ มีขนาดเล็กกว่าทั่วไปแต่มีไข่เต็มท้องจึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ระยะเวลาในการจับไม่เกิน 42 - 45 วัน โดยมีการเลี้ยงสลับกันไประหว่างจิ้งหรีดและสะดิ้ง เพื่อลดโอกาสในการเกิดโรคหรือเชื้อโรคในฟาร์มได้ด้วย

ทั้งออกแบบตู้เลี้ยงให้สามารถระบายอากาศได้ดี ปรับได้ตามความเหมาะสมกับสภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลา และมีระบบการป้องกันสัตว์และแมลงที่จะเข้ามาสร้างความเสียหายหรือเป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม อย่างไรก็ตาม งานในฟาร์มบางส่วนยังต้องใช้แรงงานคน อาทิ อนุบาลไข่ ดูแลตัวอ่อน จับขาย และดูแลทำความสะอาดตู้เลี้ยง 

ดังนั้น จิ้งหรีดที่ได้จากฟาร์มสามารถเปรียบเทียบกับการเลี้ยงแบบทั่วไปได้ 2 ลักษณะ คือ  1.การเลี้ยงแบบแนวตั้งสามารถใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่างจากการเลี้ยงรูปแบบทั่วไปที่จะนิยมเลี้ยงในบ่อปูนหรือแบบเลี้ยงในกล่องเป็นแนวราบ ดังนั้นเทียบพื้นที่ 1 ตารางเมตร ที่ฟาร์มสามารถตั้งซ้อนกันได้ 3 ตู้ ส่วนการเลี้ยงแบบทั่วไปจะตั้งได้เพียงตู้เดียว

และ 2.ผลผลิตต่อตู้สำหรับการเลี้ยงแนวตั้งแบบอัตโนมัติเทียบเท่าหรือสูงกว่าการเลี้ยงในรูปแบบทั่วไป  โดยปริมาณการเลี้ยงต่อตู้ 1 ตรม.ให้ผลผลิต 30 - 40 กิโลกรัม ต่อการเลี้ยง 1 รอบใช้เวลาไม่เกิน 42 วัน โดยตลอดขั้นตอนการเลี้ยงจะมีคู่มือการทำงานบอกในทุกขั้นตอน ทำให้ง่ายหากจะส่งเสริมการเลี้ยงหรือผู้สนใจนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจ 



เลี้ยงจิ้งหรีดไม่เกิน 2 ปี คืนทุน

คุณบัญชร กล่าวว่า ฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง มีต้นทุนอาหารแทบไม่แตกต่างกับรูปแบบการเลี้ยงทั่วไป เนื่องจากฟาร์มใช้อาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูป 100% ไม่ให้จิ้งหรีดกินอาหารสดหรืออย่างอื่น เพื่อเป็นการป้องกันโรค หรือการปนเปื้อนสารเคมี จึงใช้เฉพาะอาหารสำเร็จรูปที่มาจากบริษัทที่มีมาตรฐานน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงรับประกันได้ว่าฟาร์มจิ้งหรีดแห่งนี้มีกระบวนการเลี้ยงที่สะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารปนเคมีปนเปื้อน  

ส่วนต้นทุนด้านตู้และอุปกรณ์การเลี้ยง เนื่องจากเป็นตู้ที่ออกแบบขึ้นเองจึงมีต้นทุนที่สูงพอสมควร สมมุติหากต้องการผลผลิตจิ้งหรีด 1 ตันต่อเดือนอาจต้องลงทุนด้านตู้และอุปกรณ์ประมาณ 8 แสน  - 1 ล้านบาท ขณะที่ราคาขายส่งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 130 บาท (ราคาเฉลี่ย) ดังนั้นจึงมีระยะเวลาคืนทุนประมาณไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น



เกษตรแม่นยำ จากไข่ไปจนถึงจับขาย 

คุณบัญชร กล่าวว่า ไข่จิ้งหรีดจะฟักตัวภายใน 7 วัน อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ 35 - 37 องศา ถ้าภาชนะรองอันไหนไข่มีหนาแน่นจะนำเข้าตู้เลี้ยงเลย แต่ถ้าภาชนะไหนมีไข่น้อยจะนำไปอนุบาลก่อน และหากต้องการเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อตู้ให้มากขึ้นสามารถนำตัวอ่อนของจิ้งหรีดมาอนุบาลประมาณ 5 วัน และนำมาชั่งน้ำหนักเพื่อหาค่าเฉลี่ยก่อนนำไปใส่ในตู้เลี้ยงเพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณในการเลี้ยงต่อตู้ได้อย่างเหมาะสมไม่แออัดเกินไป

และต้องสร้างสภาพแวดล้อมภายในตู้เลี้ยงให้มีที่หลบซ่อน เพื่อป้องกันการกัดกินกันเองในขณะลอกคราบซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของจิ้งหรีด

โดยมีการคำนวณหาปริมาณผลผลิตต่อตู้ สามารถนำอัตรารอด 40% ไปคูณกับน้ำหนักตัวจิ้งหรีดโตเต็มวัย จะได้ปริมาณที่เหมาะสมในการเลี้ยงจิ้งหรีดต่อตู้ ซึ่งเป็นสูตรที่ค่อนข้างแม่นยำ

คุณบัญชร กล่าวอีกว่า จากตอนแรกทดลองเลี้ยงแค่ 5 ตู้ ภายหลังจากที่เห็นผลสำเร็จจึงขยายปริมาณการเลี้ยงเพิ่มขึ้นกว่า 160 ตู้ ซึ่งประสบความสำเร็จตามที่คาดไว้ และได้มีการถ่ายคลิปวิดีโอระบบการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบตู้เลี้ยงอัตโนมัติแนวตั้ง ที่ลิงค์ : https://www.youtube.com/watch?v=TpDA_cQwNCw  เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่สนใจในการเลี้ยงจิ้งหรีดได้ศึกษา นำไปปรับใช้ ต่อยอด หรือทดลองเลี้ยงแบบนี้บ้าง

 

‘โปรตีนทางเลือก’ จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป  



คุณกมลวรรณ นามธรรม กรรมการบริหาร บริษัทสามสิบสอง อินโนเวท จำกัด (32 BUG FARM) กล่าวว่า นอกจากเรื่องคุณภาพจิ้งหรีดของฟาร์มที่ต้องสะอาด ปลอดการปนเปื้อนแล้ว ฟาร์มยังเน้นด้านมาตรฐาน อาทิ GMP, GAP รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารต้องมีการขออนุญาตจากสำนักงานอาหารและยา (อย.)

ดังนั้นจึงมีมาตรฐานในการจัดการที่ดีทั้งสภาพแวดล้อมและการป้องกันโรค ทั้งมีการบันทึกข้อมูลการทำงานในฟาร์มตลอดทั้งวัน ตั้งแต่การฟักไข่ไปจนถึงการจับขาย โดยสอนให้พนักงานรู้จักใช้แบบฟอร์มเพื่อเก็บข้อมูล และถ่ายภาพส่งข้อมูลการทำงานแต่ละวันผ่านมือถือเพื่อบันทึกเข้าระบบ

รวมถึงการพัฒนาไปสู่มาตรฐานการรับรองด้านอาหารที่สูงขึ้น เช่น  HACCP เพื่อโอกาสในการก้าวสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงสร้างจุดขายที่สำคัญของฟาร์ม แต่ยังมองถึงโอกาสในการเติบโตของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป 

อย่างไรก็ตาม ที่ฟาร์มเน้นการขายส่งเป็นตัวตามน้ำหนักที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป ให้ตลาดค้าส่งที่มารับซื้อที่ฟาร์มโดยตรง และพ่อค้าคนกลางที่เป็นตัวแทนในการรวบรวมวัตถุดิบให้โรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังได้ทดลองแปรรูปเป็น 'จิ้งหรีดปรุงรส' ขายผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย 



เพื่อเปิดตลาดในกลุ่มลูกค้าที่นำจิ้งหรีดไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ผงโปรตีนที่สามารถนำไปเป็นส่วนผสมหรือส่วนประกอบของอาหารหลายชนิด อย่างเมนูใหม่ ๆ ที่ได้ทดลองและเชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่เคยรับประทาน คือ นำผงโปรตีนจิ้งหรีดไปทำน้ำยาขนมจีน หรืออาหารประเภทผัด ก็ได้รสชาติที่ทั้งอร่อยและแปลกใหม่ ผงโปรตีนมีกลิ่นคล้าย ๆ ถั่ว เมื่อนำไปประกอบอาหารจะไม่เสียรสชาติดั้งเดิม ที่สำคัญ มองว่าความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้ของตลาดต่างประเทศ ยังมีทิศทางสูงขึ้นเรื่อย ๆ 



ใช้ ‘คุณภาพและเทคโนโลยี’ เป็นเข็มทิศนำทางธุรกิจสู่ความยั่งยืน

คุณบัญชร กล่าวว่า ก้าวต่อไปของ‘32 BUG FARM’ ยังมุ่งเน้นการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน สะอาด และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ขณะที่การแปรรูปยังคงพัฒนาการแปรรูปขั้นต้น อาจยังไม่ถึงขั้นการสกัดโปรตีน หรือจำแนกคุณประโยชน์จากสารอาหาร ที่ได้จากจิ้งหรีด แต่อยากพัฒนาระบบการเลี้ยงให้มีมาตรฐานและการจัดการที่ดียิ่งขึ้นมากกว่า

เพราะตอนนี้เราอาจจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังสามารถปรับปรุงหรือพัฒนารูปแบบการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ และต้องการลดการใช้แรงงานคนโดยนำระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทน เช่น การจับแมลงโดยมีแนวคิดว่าน่าจะสามารถนำแสงไฟมาล่อแมลงในตู้เลี้ยงที่ต้องการจับขาย เพื่อลดขั้นตอนการทำงานในส่วนนี้ได้ และยังมีประโยชน์ต่อการคัดแยกขนาดและสร้างมูลค่าเพิ่มจากจิ้งหรีดตัวเต็มวัยที่อุดมไปด้วยโปรตีน

กระนั้น ทุกอย่างไม่ได้เกิดจากเครื่องมือหรือการจัดการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้การสังเกต และแก้ปัญหาโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อจัดการฟาร์มได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นเทคนิคที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามสภาพแวดล้อมภายในฟาร์มที่แท้จริง 

คุณบัญชร กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานทั้งในการเลี้ยงและการแปรรูปจิ้งหรีดจะเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการยกระดับเป็นอุตสาหกรรมและซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเทรนด์การรับประทานแมลงหรือโปรตีนจากแมลงเป็นเทรนด์อาหารที่มีความยั่งยืน เนื่องจากเป็นวงจรการเลี้ยงระยะสั้น ให้ผลผลิตต่อหน่วยสูง และใช้ทรัพยากรต่ำกว่าเนื้อสัตว์ทุกประเภท ที่สำคัญมีการปล่อย CO2 น้อยกว่าการทำปศุสัตว์ส่วนใหญ่มาก จึงเป็นโอกาสที่โปรตีนทางเลือกจากจิ้งหรีดจะเข้าไปทดแทนโปรตีนกระแสหลักได้ในที่สุด 

ติดตาม บริษัทสามสิบสอง อินโนเวท จำกัด (32 BUG FARM) เพิ่มเติมได้ที่ : 

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘สยามอีสต์ โซลูชั่น’ SME Scale Up สู่ตลาด MAI สร้างธุรกิจโตยั่งยืน

‘สยามอีสต์ โซลูชั่น’ SME Scale Up สู่ตลาด MAI สร้างธุรกิจโตยั่งยืน

Growth Mindset “ไม่มีอะไรยากเกินความพยายามของคน” แนวคิดที่เชื่อว่า ทักษะ ความรู้ ศักยภาพของเรา สามารถฝึกฝน พัฒนาได้ด้วยการมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างแน่วแน่…
pin
129 | 06/05/2024
ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
581 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
503 | 29/04/2024
32 BUG FARM นวัตกรรมฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง โปรตีนทางเลือกจากแมลงสู่จุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมอาหาร