สร้าง Ecosystem เปลี่ยนผ่านประเทศไทย เข้าใกล้เป้าหมาย Net zero ในปี 2065
จากบทความที่แล้ว เราได้กล่าวถึงการนำ พลังงานหมุนเวียน หรือ พลังงานสะอาด มาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในบทความนี้เราจะก้าวไปสู่ Step 3 เป็นบันไดขั้นสุดท้ายสู่จุดหมาย Net Zero คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ซึ่งใน Step นี้ เมื่อผู้ประกอบการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้อย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไม่ได้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะต้องชดเชยโดยการซื้อคาร์บอนเครดิตและเมื่อถึงที่สุดแล้วก็ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อกักเก็บก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกมาทั้งหมดให้กลายเป็นศูนย์
นั่นหมายความว่าเมื่อเราผลิตสินค้าแล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไปเท่าไหร่ จะต้องดูดซับหรือดูดกลับก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยให้ได้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยหรือเป็นการดูดซับก๊าซคาร์บอนให้ได้เท่ากับที่ปล่อยออกไปนั่นเอง

เราจะชดเชยคาร์บอนได้อย่างไร?
อย่างที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า เมื่อธุรกิจเรามีการปล่อยคาร์บอนก็ต้องมีการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) คือการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ผลิตภัณฑ์
เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon neutrality) คือไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG) เพิ่มใหม่สู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งการ ‘ลด’ และ ‘ชดเชย’ (lower & offset) การปล่อยคาร์บอนจนเป็นกลาง ได้แก่ การลดหรือละกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เช่น กิจกรรมโลจิสติกส์ การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาดขึ้น
หรือการใช้พลังงานสะอาดเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม เป็นต้น และหากยังมีการปล่อยคาร์บอนอยู่ ก็ต้อง ‘ชดเชย’ หรือ offset คาร์บอนที่ยังปล่อยอยู่ผ่านกิจกรรมที่ไปลดคาร์บอนที่อื่น เช่น การปลูกป่า การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน หรือการซื้อคาร์บอนเครดิตในปริมาณที่เท่ากันเป็นต้น
ซึ่งปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคธุรกิจ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ทั่วโลกจึงมีการประเมินหรือวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรธุรกิจ ที่เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)
โดยคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases Reduction) หรือ ชดเชยการปล่อยคาร์บอนที่ไม่สามารถลดได้ให้เป็นกลาง (Carbon Neutrality) นำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ที่เป็นจุดหมายในการลดภาวะโลกร้อน

ทำไมผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับ Carbon Footprint
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายได้หันมาให้ความสำคัญกับ Carbon Footprint ในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้วัดปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas emissions and removals) ที่ถูกปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในองค์กร ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน
โดย คาร์บอนฟุตพริ้นท์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร หรือ Carbon Footprint for Organization (CFO) เป็นการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้นำมาใช้เพื่อประเมินในการหาค่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการดำเนินงานขององค์กร
ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การใช้ไฟฟ้า การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การจัดการของเสีย การขนส่ง เป็นต้น โดยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรมีขอบเขตการวัด แบ่งออกเป็น 3 Scope ดังนี้
SCOPE I:การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง (Direct Emissions) เช่น การซื้อพลังงานไฟฟ้า ความร้อน และไอน้ำที่ถูกนำเข้ามาจากภายนอกเพื่อใช้ในองค์กร
SCOPE II: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) เช่น การซื้อพลังงานไฟฟ้า ความร้อน และไอน้ำที่ถูกนำเข้ามาจากภายนอกเพื่อใช้ในองค์กร
SCOPE III: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อม เช่น พาหนะการเดินทางของพนักงานที่ไม่ใช่ขององค์กร การใช้วัสดุอุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น

สำหรับประโยชน์จากการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจะช่วยให้องค์กรสามารถประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก
ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารความเสี่ยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก รวมทั้งสร้างโอกาสด้านการลงทุนร่วมกับกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย และอาจนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตหรือทำการชดเชยคาร์บอนกับองค์กรอื่น ๆ ได้
ประเภทที่ 2. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) กล่าวคือตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การกระจายสินค้า การใช้งาน จนไปถึงการทำลายซากผลิตภัณฑ์เมื่อสิ้นอายุการใช้งาน
ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไม่เท่ากัน ดังนั้นผู้บริโภคควรตัดสินใจเลือกสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ในขณะที่ภาคการผลิตหรือผู้ประกอบการควรคำนึงถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เพื่อให้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยบริหารความเสี่ยงจากการถูกเก็บภาษีคาร์บอนของสินค้าในกรณีที่ต้องส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศด้วย

วิธีคำนวณ Carbon Footprint
สำหรับการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะคิดจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1 กิโลกรัม = Carbon Footprint 1 กิโลกรัม และด้วยความที่ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิด การคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาเราจะใช้หน่วย คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในการคิดคำนวณ
อ้างอิงจากค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของ IPCC ฉบับที่ 5 (IPCC Fifth Assessment Report 2014 : AR5) ซึ่งได้กำหนดให้ ก๊าซมีเทนมีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นจาก 25 เท่า เป็น 28 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนตรัสออกไซด์มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนอยู่ที่ 265 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
เช่น หากเราปล่อยก๊าซมีเทน 1 กิโลกรัม จะหมายความว่าเราปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เท่ากับ 28 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) และหากเราปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ 1 กิโลกรัม ก็จะหมายความว่า เราปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เท่ากับ 265 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) นั่นเอง
จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นภาคธุรกิจในหลายประเทศที่กำลังมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ได้มีการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อเป็นการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ทราบแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญขององค์กร ก่อนนำไปสู่การบริหารจัดการและวางแผนกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งยังสามารถต่อยอดและพัฒนาโครงการไปสู่อนาคต โดยการขยายผลการประเมินก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้การรับรองฉลากลดโลกร้อน รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมาตรการ Non-Tariff Barriers (NTBs) หรือการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี หากสามารถทำได้สำเร็จจะสร้างความได้เปรียบและโอกาสทางการค้าอย่างมาก

ยกตัวอย่างผู้ประกอบการธุรกิจเดินเรือที่เห็น Pain Point ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากเรือนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของเรือ อย่างเช่น บริษัทอินโนสเตลลาร์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางทะเลของประเทศไทย
ที่มองเห็นว่าต่อจากนี้ วงการเดินเรือต้องถูกประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอน เนื่องจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization หรือ IMO) จำเป็นต้องออกกฎกติกาเพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainability) โดยเน้นการใช้พลังงานกับพาหนะในการขนส่งที่ก่อมลภาวะต่อโลกและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ซึ่งเรือมีระบบ Engine ต่าง ๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อย โดยในปี 2573 วงการเดินเรือ (Maritime) ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 40% ซึ่ง IMO ทำให้เกิดระเบียบข้อบังคับใหม่ที่เรียกว่า ดัชนีความเข้มข้นของคาร์บอน (Carbon Intensity Indicator: CII)

เช่น อินโนสเตลลาร์ มีเรืออยู่ลำหนึ่งมีค่า CII Rating คือ C หากต้องไปรับงานบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง เขาบอกว่าต้องการ CII Rating คือ B บริษัทจำเป็นต้องส่งเรือลำใหม่ให้กับผู้เช่า นั่นหมายความว่า ไม่ได้มีใครมาบังคับเราโดยตรง แต่เราไม่สามารถรับงานนั้นได้
นอกจากเปลี่ยนเรือใหม่ หรือดำเนินการแก้ไขค่า CII Rating เช่น การเปลี่ยนเครื่องยนต์ การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาปรับปรุง หรือต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตทดแทน
สำหรับรูปแบบการคำนวณ จะดูว่าวันนี้เราวิ่งไปไกลเท่าไหร่ ใช้น้ำมันไปกี่ลิตร คำนวณได้จากการเผาไหม้ของน้ำมันที่ใช้ว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ ตรงนี้เป็น Pain Point ของตลาด
ซึ่งอินโนสเตลลาร์ มีการเก็บข้อมูลไว้อยู่แล้ว ซึ่งในปัจจุบันรู้แค่ว่าปล่อยคาร์บอนออกไปเท่าไหร่? อย่างไร? ตามกฎเรือ แต่อนาคตจะต่อยอดในเรื่องการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของเรือ นั่นคือสิ่งที่ อินโนสเตลลาร์ นำมาต่อยอดธุรกิจที่สามารถนำไปใช้เพื่อร่วมธุรกิจกับบริษัทอื่นได้ในอนาคต ถือเป็นตัวอย่างการเปลี่ยนวิกฤตทางมลพิษต่อยอดเป็นโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเราได้ตัวเลขการประเมิน Carbon Footprint ที่เราปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตได้แล้ว เราก็จะรู้ว่าขั้นตอนไหนที่ทำให้เราปล่อยคาร์บอนมากที่สุด ก็จะสามารถวางแนวทางบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยังลดของเสียในการผลิตได้อีกด้วย
ดังนั้นผู้ประกอบการคงหนีไม่พ้นกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทีนี้เมื่อพูดถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันเราเริ่มจะได้ยินบ่อยขึ้นก็คือ ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) หลายคนสงสัยว่าจะช่วยลดได้อย่างไร แล้วทำอย่างไรถึงจะซื้อจะขายได้ ใช่ว่าติดโซล่าเซลล์ ปลูกป่าแล้วจะขายได้ทันที แต่จะต้องมีการประเมินและผ่านการรับรองเสียก่อน

แล้วคาร์บอนเครดิตเขาวัดกันอย่างไร?
สำหรับ ‘คาร์บอนเครดิต’ จะคิดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกลดลงจากชั้นบรรยากาศ หรือไม่ถูกปล่อยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้น ปริมาณก๊าซ 1 ตันที่ลดลง หรือถูกป้องกันไม่ให้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ คิดเป็น 1 เครดิต
นั่นหมายความว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ สามารถสร้างได้หลายช่องทาง ตั้งแต่การลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซ, การทำลายก๊าซเรือนกระจก, และการดูดซับหรือดักจับก๊าซเรือนกระจก อาทิ การปลูกป่า การพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน เป็นต้น
ปัจจุบันซื้อขายกันที่ราคาเท่าไหร่?
จากข้อมูลพบว่า "คาร์บอนเครดิต" จะเป็นกลไกสำคัญใหม่ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวที่กำลังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้มูลค่าตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยจะยังไม่สูงมาก แต่หากดูจากสถิติแล้วถือว่ามีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจมาก
โดยเห็นได้ชัดว่ามีราคาและปริมาณการซื้อขายที่เติบโตขึ้นในทุกปีและมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยจะเห็นได้จากข้อมูลราคาคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่ปี 2561-2565 ดังนี้
ปี 2561 : 21.37 บาท / ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ปี 2562 : 24.78 บาท / ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ปี 2563 : 25.76 บาท / ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ปี 2564 : 34.34 บาท / ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ปี 2565 : 120.3 บาท / ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
สะท้อนให้เห็นว่าราคาคาร์บอนเครดิตมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อปี 2565 ราคาเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวเลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นตลาดที่มีอนาคตสดใสอย่างแน่นอน ดังนั้น SME ที่ปรับตัวได้เร็วกว่าจะได้เปรียบคู่แข่งและสามารถขยายตลาดได้อย่างมีศักยภาพ

Cr.องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตไทยเติบโตขนาดไหน
สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตไนไทยขยายตัวในระดับสูงมาก โดยในปี 2564 มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น 61% ขณะที่ในช่วงปี 2565 เพิ่มมากถึง 425% เมื่อเทียบกับปริมาณทั้งปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 124.8 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 1,228% เมื่อเทียบกับทั้งปี 2564 หลังจากราคาคาร์บอนเครดิตปรับตัวสูงขึ้นมาก จากปี 2564 ที่เฉลี่ย 34 บาทต่อตันคาร์บอนฯ เพิ่มเป็น 120 บาทต่อตันคาร์บอนฯในปี 2565 คิดเป็น 99.6% เลยทีเดียว

โดยมีตลาดรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต T-VER ผ่าน ‘ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต’ เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยเปิดให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVER บน ‘แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต’ หรือ FTIX ได้แล้ว

หากดูข้อมูลทั้งปี 2564 พบว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER คิดเป็นเพียง 0.9% ของก๊าซเรือนกระจกที่ไทยปล่อยทั้งหมดต่อปี แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยในช่วงปี 2558 - 2565 พบว่าส่วนใหญ่กว่า 63% เป็นโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน
โดยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Emission) ทำให้เกิดความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตในปริมาณที่เท่ากันมาชดเชย หรือ Offset เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็น Carbon Neutral Event ให้ได้ตามที่กำหนดไว้ โดยทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVER ผ่านแพลตฟอร์ม FTIX

ด้วยเหตุนี้ จึงพัฒนาแพลตฟอร์ม FTIX ขึ้นมาเพื่อพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต ให้เกิดการซื้อขายที่สะดวกมากขึ้นกว่าแบบ OTC–Over The Counter ที่มีอยู่เดิม สามารถเห็นราคาซื้อขายบนตลาดได้เช่นเดียวกับตลาดหุ้น มีการกำกับดูแลแพลตฟอร์มโดยคณะกรรมการกำกับดูแลและมีการบริหารศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยคณะกรรมการร่วม ระหว่าง อบก. กับ ส.อ.ท.
ทำให้เกิดความโปร่งใสเชื่อถือได้ เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสมคุ้มค่า สามารถรักษาระดับหรือยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้ต่อไป
ซึ่ง ส.อ.ท. มีความมุ่งมั่นให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมและลงมือทำ (Climate Action) ในการลดก๊าซเรือนกระจกที่นอกจากจะช่วยโลกและประเทศให้รอดพ้นจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่ต้องรับมือกับแรงกดดันจากทั้ง ลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น และผู้ลงทุน ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้เป็นต้นไปอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ตลาดซื้อขายคาร์บอนในไทยถือว่ายังมีขนาดเล็ก โดยในปี 2564 คิดเป็นเพียง 0.1% และในช่วงปี 2565 เพิ่มเป็น 0.3% ของก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศไทยปล่อยทั้งหมดต่อปีเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่ามาตรการด้านราคาคาร์บอนในต่างประเทศอย่างมาก เช่น ระบบ Emissions Trading Scheme (ETS) ของยุโปที่ครอบคลุม 36% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในยุโรป ขณะที่งานวิจัยล่าสุดของ World bank ชี้ว่ามาตรการด้านราคาคาร์บอน ทั้งการเก็บภาษีคาร์บอน และระบบ ETS ในปัจจุบันครอบคลุม 23% ของก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก

คาร์บอนเครดิตประเภทไหนมาแรง
สำหรับกระแสการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER ปีนี้ถือว่าคึกคักมาก โดยเปิดปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มาเพียง 2 เดือน คือเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 สามารถขายได้ถึง 28,496 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ซึ่งมาจากโครงการประเภทพลังงานทดแทน ได้แก่ ชีวภาพ ชีวมวล และแสงอาทิตย์ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 1,088,319.84 บาท

Cr.องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
สำหรับ คาร์บอนเครดิต โครงการ T-VER ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2565 คือ
พลังงานชีวภาพ มีราคาสูงสุดที่ 200 บาท/tCO2eq ราคาเฉลี่ย 200.00 บาท/tCO2eq โดยมีปริมาณการซื้อขาย (tCO2eq) 565 tCO2eq มูลค่ารวมอยู่ที่ 113,000 บาท
รองลงมาคือ พลังงานชีวภาพชีวมวล มีราคาต่ำสุดที่ 20 บาท/tCO2eq และราคาสูงสุด 150 บาท/tCO2eq ราคาเฉลี่ย 22.77 บาท/tCO2eq มีปริมาณการซื้อขาย (tCO2eq) 12,645 tCO2eq มูลค่ารวม 287,970 บาท
สุดท้ายคือ พลังงานแสงอาทิตย์ มีราคาต่ำสุด 40 บาท/tCO2eq ส่วนราคาสูงสุดอยู่ที่ 120 บาท/tCO2eqราคาเฉลี่ย 44.97 บาท/tCO2eq ปริมาณการซื้อขาย (tCO2eq) 15,286 tCO2eq มูลค่ารวม 687,350 บาท
ล่าสุดคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มีมติเห็นชอบรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากโครงการ T-VER เพิ่มเติมอีก 8 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้รวมทั้งสิ้น 460,600 tCO2eq ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทพลังงานทดแทน

ตัวอย่าง SME ที่นำธุรกิจสู่เป้าหมาย Net Zero จนประสบความสำเร็จ
ขอยกตัวอย่างผู้ประกอบการ SME ที่หันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) จนประสบความสำเร็จ อย่างเช่น บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยนวัตกรรมไร้สารพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้ส่งออกเส้นก๋วยเตี๋ยวข้าวไทยรายใหญ่ของเมืองไทย ที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมจนผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

โดยการนำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพและโซล่าเซลล์ รวมถึงการปลูกป่า มาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การนำของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิตคือน้ำแป้งวันละ 200,000 ลิตร มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในโรงงานได้ถึง 2,100 กิโลวัตต์ต่อวัน
ทำให้บริษัทมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิลและยังช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงเดือนละกว่า 200,000 บาทเลยทีเดียว ที่สำคัญเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังมีการวางแผนปลูกป่า 1,300 ไร่ เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกไปให้ได้มากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตของเขา ซึ่งจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,235 Ton CO2e ต่อปี ส่วนที่เหลือนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ด้วย
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นบันไดขั้นที่ 3 ในการนำธุรกิจไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon neutrality) คือไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น เป็นก้าวที่สำคัญของการไปสู่ Road to Net Zero
ในบทความครั้งหน้ามาติดตามดูกันว่า ผู้ประกอบการจะนำธุรกิจสู่หมุดหมาย Net Zero โดยใช้เทคโนโลยีการดักจับหรือกักเก็บก๊าซคาร์บอนและการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกไปทั้งหมดให้สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ได้อย่างไร เพื่อเป็นบันไดขั้นสุดท้ายไปสู่เส้นชัย Net Zero
อ้างอิง :
องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
https://shorturl.asia/5ZPio
http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=aW5mb3JtYXRpb24=&action=ZGV0YWls¶m=Mjk=
http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y2hhcnQ=&action=bGlzdA==
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
https://shorturl.asia/K0o24
https://www.thaipost.net/columnist-people/29001/
https://www.fio.co.th/fioWebdoc65/p650215-2.pdf