‘ชวนหลงเซรามิค’ ลบภาพจำ ก้าวข้ามขีดจำกัดการเป็นแค่ภาชนะ ด้วยดีไซน์ร่วมสมัย ชวนให้หลงใหล
‘ชวนหลงเซรามิค’ เครื่องปั้นดินเผาที่ยังคงขึ้นรูปและวาดลายด้วยมือโดยช่างฝีมือท้องถิ่นของ คุณกิตติกร กาญจนคูหา ทายาทผู้รับช่วงต่อจากคุณพ่อ ศิลปินล้านนาผู้ริเริ่มการอนุรักษ์ศิลปะโบราณด้วยการใช้ลายเส้นที่อ่อนช้อยงดงามไม่แพ้ของดั้งเดิม เป็นจุดเด่นที่ทำให้ครองใจลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศมาอย่างยาวนาน
คุณกิตติกร กาญจนคูหา ทายาทรุ่นที่ 2 เจ้าของแบรนด์เซรามิคล้านนาชื่อดังในจังหวัดลำพูน ‘ชวนหลงเซรามิค’ ถือเป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่รับช่วงต่อมาจากคุณพ่อ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2533 มีผลงานการออกแบบลวดลายแบบงานโบราณ ที่เน้นการเขียนเส้น ลงสีแบบฉบับของงานสังคโลก ทำให้ ชวนหลง เป็นเครื่องปั้นดินเผาสไตล์แอนทีค ที่นำลวดลายเก่าแก่ต้นแบบมาใช้สร้างชื่อเสียงให้ผู้คนรู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กิตติกร กาญจนคูหา ทายาทรุ่นที่ 2 ‘ชวนหลงเซรามิค’
คุณกิตติกร ยังเผยถึงที่มาของชื่อโรงงานเซรามิกแห่งนี้ว่า ‘ชวนหลง’ ไม่ใช่ภาษาจีน แต่มาจากคำว่า ‘หลงฉวน’ ซึ่งเป็นชื่อตำบลหนึ่งในประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบดินเผาสีเขียวไข่กา หรือที่บ้านเราเรียกว่า ‘ศิลาดล’ อีกทั้งออกเสียงคล้ายภาษาจีนและมีความหมายที่ดีในภาษาไทย คือ ชวนให้หลงใหล
คุณพ่อเริ่มสร้างภาพจำให้ ชวนหลง โดยการส่งชิ้นงานเข้าประกวดที่ลำปาง ศูนย์กลางของเซรามิคในยุคนั้น ซึ่งตอนนั้นประกวดปีแรกก็ได้รางวัลที่ 1 เลย คือเริ่มจากงานเซรามิคเลียนแบบของฝรั่งซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครทำ ต่อมาชวนหลงยังประกวดได้ที่หนึ่งมาตลอด 4 – 5 ปีติดกัน เราจึงเริ่มมีชื่อเสียง เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น เริ่มออกงานแสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง จนมีฐานลูกค้ามาจนถึงทุกวันนี้

เริ่มจากงานเลียนแบบของโบราณ หวังอนุรักษ์ความเป็นไทย
คุณกิตติกร อธิบายว่า แต่เดิมชิ้นงานในยุคแรก ๆ ของชวนหลง จะเป็นการเลียนแบบของโบราณสมัยสุโขทัย สังคโลก เรือนกาหลง เป็นหลัก โดยจะวาดเป็นลวดลายไทยที่ผสานความเป็นล้านนาเอาไว้ด้วย เพราะอิงจากประวัติศาสตร์ของสุโขทัย สังคโลก เวียงกาหลง ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีคนทำของเลียนแบบงานโบราณ ที่ทำชิ้นงานขึ้นใหม่แต่ทำให้เหมือนของโบราณมากที่สุด เพราะตั้งใจอนุรักษ์เอกลักษณ์ความเป็นไทยให้คงอยู่ต่อไป
“ชวนหลงเป็นรายแรก ๆ ที่ทำและชาวต่างชาติก็ชื่นชอบมากเพราะมีความเหมือนจริง แต่พอความนิยมของโลกเปลี่ยนไป เป็นช่วงเวลาที่ คุณกิตติกร เพิ่งกลับมาจากการศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ได้มองเห็นถึงความต้องการของตลาดตามแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ จึงปรับโฉมเปลี่ยนรูปลักษณ์ แต่ยังคงความเป็นชวนหลงอยู่ในทุกมิติ”

จากไม่รู้สู่ความมุ่งมั่นสานต่องานศิลปะล้านนาไทย
ทายาทรุ่น 2 เผยถึงเส้นทางสู่งานศิลปะว่า ตอนเรียนจบใหม่ ๆ ว่า ก่อนเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ช่วงแรกก็ยังไม่เข้าใจทิศทางเท่าไหร่นัก ถึงแม้เราคลุกคลีกับเซรามิคมาก็จริง แต่ก็ทิ้งช่วงไปเนื่องจากต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ พอกลับมาก็ยังไม่มีความรู้เรื่องเซรามิคมากนัก คือไม่รู้ถึงกระบวนการทั้งหมดในการทำงาน ดังนั้นต้องลงไปเรียนรู้กับคุณพ่อ ต้องไปคลุกคลีกับพนักงานเพื่อเรียนรู้นิสัยใจคอซึ่งกันและกัน ก็ต้องปรับตัวเยอะพอสมควรเลย
คุณกิตติกร เล่าต่อว่า หลังจากเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว (Family Business) เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจเซรามิคกำลังซบเซา จึงเกิดไอเดียนำเสน่ห์ของการวาดลวดลายเซรามิคมาประยุกต์และพัฒนาชิ้นงานให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

ลบภาพจำ ทำไมเซรามิคต้องเป็นแค่ภาชนะ ของตั้งโชว์
คุณกิตติกร สะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า ก่อนที่จะเข้ารับช่วงต่องานเซรามิคของคุณพ่อส่วนใหญ่จะเป็นงาน จาน ชาม ไห แจกัน แบบโบราณเป็นของแต่งบ้าน ตั้งโชว์ เป็นหลัก ซึ่งฟังก์ชั่นการใช้งานยังไม่มีความหลากหลาย พอเรากลับมาจากศึกษาที่ต่างประเทศ เริ่มมองเห็นถึงความต้องการของตลาดของคนรุ่นใหม่ โดยมองว่าทำไมงานเซรามิคจึงเป็นเพียงแค่ของที่ใช้ตั้งโชว์เพื่อตกแต่งบ้านเท่านั้น จึงอยากก้าวข้ามขีดจำกัดตรงนี้ให้ได้
หลังจากเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว (Family Business) เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจเซรามิคกำลังซบเซา ทายาทรุ่น 2 อย่างคุณกิตติกรจึงเกิดไอเดียนำเสน่ห์ของการวาดลวดลายเซรามิคมาประยุกต์และพัฒนาชิ้นงาน ปรับโฉมเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่ ให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
โดยพัฒนารูปแบบงานปั้นที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ภาพจำของเซรามิคเปลี่ยนไปไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ ของใช้ประเภท จาน ชาม ถ้วย จาน หม้อ ไห หรือแจกัน แต่ยังสามารถนำมาประยุกต์เป็น อ่างล้างหน้า ผนังกั้นห้อง เก้าอี้ สตูล แต่ยังคงกลิ่นอายความเป็นชวนหลงอยู่ในทุกมิติ เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายและตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น
“แนวคิดในการพัฒนาชิ้นงาน เราต้องดูว่าเราจะนำชิ้นงานไปสู่ตลาดไหน อย่างตลาดสหรัฐอเมริกาก็จะเป็นลวดลายแบบหนึ่ง ในขณะที่ตลาดยุโรปก็จะมีลวดลายอีกแบบหนึ่ง จากนั้นเราก็เอามาผสมผสานกับลายเดิม ๆ ของไทยให้มันมีความทันสมัยมากขึ้น”

สร้างจุดเด่นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์
หลายคนถามว่าอะไรคือจุดเด่นของ ‘ชวนหลงเซรามิค’ คุณกิตติกร เผยว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้งานปั้นของ ชวนหลง แตกต่างจากที่อื่นคือ ช่างฝีมือดีมากความสามารถ เพราะช่างหนึ่งคนทำได้ทั้งงานวาด งานปั้น และงานแกะ ทำให้ชวนหลงสามารถสร้างชิ้นงานที่มีความแปลกใหม่กว่าโรงงานที่ทำเฉพาะแบบ

รวมถึงความอ่อนช้อยของลวดลาย ความใส่ใจในรายละเอียด ความพิถีพิถัน ในชิ้นงานทุกชิ้นเป็นเสน่ห์ของเครื่องปั้นดินเผาของภาคเหนือ โดยการประยุกต์และพัฒนาชิ้นงานให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า โดยเน้นให้งานปั้นมีฟังก์ชั่นหรือการใช้งานหลากหลายมากขึ้น ลดทอนลวดลายให้น้อยลง เขามองว่าการใช้สีโทนเดียวดูคลาสสิกก็จริงแต่อาจไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่เท่าที่ควร จึงเลือกเพิ่มสีสันเข้ามาผสมให้ดูทันสมัยมากขึ้น
“ฝีมือของช่างกับการพัฒนารูปแบบ ลวดลาย และดีไซน์ของชิ้นงาน ความหลากหลายของสินค้า และรูปแบบที่ทันสมัย รวมถึงความประณีตอ่อนช้อยของชิ้นงาน คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ โดยยึดหลักการที่ว่า การสร้างสรรค์งานดีไซน์ต้องขายง่าย ใช้งานได้จริง ทำให้ยอดขายของแบรนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
อีกหนึ่งความพิเศษของชวนหลงคือ สูตรเคลือบของที่นี่มีความเฉพาะตัวมีการคิดค้น ทดลอง และพัฒนาสูตรใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพราะนอกจากดีไซน์แล้ว ตัวเคลือบนับเป็นส่วนสำคัญของเซรามิคเช่นกัน สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้ ชวนหลงเซรามิค สามารถครองใจลูกค้ามาตลอด

จาก SME เล็กๆ เติบโตสู่ตลาดต่างประเทศ
คุณกิตติกร สะท้อนภาพว่า ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับชวนหลง คือ เครื่องปั้นดินเผาสไตล์แอนทีคที่นำลวดลายเก่าแก่ต้นแบบมาจากเตาโบราณผลงานเครื่องสังคโลกแนวเก่าเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ทำให้งานของชวนหลงเซรามิคส่งออกไปยังต่างประเทศได้ถึง 80%
นอกจากนี้ ชวนหลง ยังรับทำงานมาสเตอร์พีช หรืองานสั่งทำชิ้นเดียวที่เน้นเทคนิคพิเศษ ทำขึ้นมาชิ้นเดียวไม่เหมือนใคร จึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่สามารถทำราคาได้สูง โดยช่องการตลาดสำคัญมีทั้งตลาดแบบออฟไลน์ และออนไลน์ อาทิเช่น ทางเว็บไซต์ อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ

‘ชวนหลง’ มองอุตสาหกรรมเซรามิค ควรเป็นอย่างไรในอนาคต
ผู้บริหารหนุ่ม เผยวิสัยทัศน์ว่า งานเซรามิคยังต้องพึ่งพาการพัฒนาดีไซน์และเทคนิคการเคลือบใหม่ ๆ กับคุณภาพที่ได้มาตรฐาน สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจเซรามิคยังไปต่อได้อีกไกล ตลอด 35 ปีบนเส้นทางธุรกิจสายนี้ ถึงแม้จะมีการแข่งขันกันสูง แต่คุณกิตติกรมองว่าคู่แข่งทางการค้าคือความท้าทาย พร้อมให้แง่คิดว่า
“เราอย่ามองเขาเป็นคู่แข่ง เพราะจะทำให้ต้องต่อสู้กันไปตลอด เราเป็นพันธมิตรกับทุกโรงงาน โดยมองคู่แข่งให้เป็นเหมือนคู่ค้าของเรา เพื่อช่วยเหลือเอื้อธุรกิจกันได้ มีลูกค้าก็แนะนำกัน งานที่เราทำไม่ได้ ก็ส่งต่อให้คู่ค้าของเรา ในขณะเดียวกันงานที่เขาทำไม่ได้ เขาก็ส่งต่อมาให้เรา ถือว่าเป็นการตัดอุปสรรคออกไป กลายเป็นสร้างโอกาสเข้ามาแทนที่”
เราต้องแข่งกับต่างประเทศและแข่งกับตัวเอง พัฒนาสินค้าของเราให้ดีที่สุดเพื่อมอบให้ลูกค้า การสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากนี้ คุณกิตติกร ยังได้คิดโครงการ ‘บ้านสวนชวนหลง’ บนพื้นที่ด้านหลังของโรงงาน และได้น้องชายคนรองที่จบด้านภูมิสถาปัตย์มาช่วยดูแลกิจการอีกแรง
“บ้านสวนชวนหลง เป็นโครงการที่ตั้งใจจะทำเป็นที่ศูนย์ถ่ายทอดความรู้ สอนปั้นดิน สอนงานศิลปะ วาดลายลงบนชิ้นงาน ซึ่งเป็นงานที่เราทำอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเพื่อให้ลูกค้าได้เรียนรู้กระบวนการการทำเซรามิค ได้เห็นคุณค่า และเกิดความภูมิใจในผลงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา และยังเป็นการต่อยอดธุรกิจ ให้ลูกค้าได้มีทางเลือกในการสร้างชิ้นงานของตัวเอง เป็นกิจกรรมที่คนไทยและคนต่างชาติสามารถมาเรียนรู้ร่วมได้”

ฝากเตือนผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการส่งออก
ผู้บริหารหนุ่ม ยังฝากย้ำเตือนถึงผู้ประกอบการ SME ที่จะก้าวเข้ามาสู่วงการเซรามิคหรือธุรกิจอื่น ๆ ต้องการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ สิ่งที่ต้องระวังคือ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของลูกค้า ถือเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญ และต้องติดตามข้อมูลทางด้านสถานการณ์บ้านเมืองและเศรษฐกิจของลูกค้าหรือประเทศคู่ค้าให้ครอบคลุมอย่างใกล้ชิดด้วย
“จากประสบการณ์ที่เคยพบเจอมา ลูกค้าจากต่างประเทศสั่งสินค้า 2 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่เจอสถานการณ์โควิด-19 ขอยกเลิกออเดอร์ทั้งหมด สุดท้าย 3 เดือน สถานการณ์คลี่คลายก็บอกว่าของที่สั่งไว้ยังเอา แต่ต้องลดเพิ่มให้อีก 10% และขอเลื่อนเครดิตจ่ายเงินออกไปจาก 1 เดือนเป็น 3 เดือน”

สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ลูกค้าจะสั่งของเราแล้ว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิดเขาก็พร้อมจะเดินจากไปทันที ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ผู้ประกอบการต้องดูให้ครอบคลุมด้วย ถ้าเป็นลูกค้าที่ไม่ใช่ตัวจริงจะทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจได้
รู้จัก ‘ชวนหลงเซรามิค’ เพิ่มเติมได้ที่
https://web.facebook.com/chuanlhong1990/?_rdc=1&_rdr
https://www.instagram.com/p/CLyvOEJLN0O/